YTEN เฟ้นหาคนรุ่นใหม่ ตระหนักรู้ ‘สิ่งแวดล้อม’ เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุม COP 24

0
702
image_pdfimage_printPrint

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมภายใต้โครงการ Young Thai Environmentalists 2018 (YTEn) เฟ้นหาตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่สนใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุม The 24th Conference of the Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) หรือ COP24 ณ กรุงคาโตวีตเซ ประเทศโปแลนด์ ซึ่งเป็นการประชุมระดับนานาชาติเพื่อหาแนวทางยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์ โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและดึงศักยภาพของเยาวชนเหล่านี้มาพัฒนาการเรียนรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นำไปสู่การสร้างเครือข่ายพลังเยาวชนตระหนักรู้จากรุ่นสู่รุ่นให้เห็นความสำคัญและตระหนักถึงภาวะวิกฤติทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยใช้ความรู้และข้อมูลงานวิจัยรับมือกับความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อมและสร้างโอกาสใหม่จากทรัพยากรธรรมชาติเพื่อพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น ประเทศ จนถึงระดับสากล
โครงการดังกล่าวจะประกอบไปด้วยกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม ได้แก่ การอบรมผ่านการดูงาน การจัดทำแผนงานและปฏิบัติจริงด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงการประกวดการนำเสนอโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้จัดทำ ผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเมื่อเร็วๆนี้ โครงการ YTEn ได้นำเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 29 คน เข้าร่วมอบรมและลงพื้นที่ ณ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โดยได้อบรมเกี่ยวกับทักษะด้านการสื่อสาร บุคลิกภาพ การแสดงออกในที่สาธารณะ ศิลปะการเล่าเรื่อง ผ่านหัวข้อ “เล่าเรื่องไม่โป๊ะ…จับประเด็นให้เป๊ะ” (Storytelling) จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ดร.สาวิตา ดิถียนต์ สาขาวิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คุณดนยา ทรัพย์ยิ่ง นักเขียนบทอิสระ ซึ่งภาวะความเป็นผู้นำการสื่อสารถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการรับรู้ในแนวทางเดียวกัน ที่ผ่านมาการสร้างการรับรู้ด้านสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นอย่างมากมายแต่การตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมกลับน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นหากมีองค์ความรู้ในด้านการสื่อสารและการสร้างเนื้อหาที่น่าสนใจจะทำให้เกิดการสร้างตัวตนที่ชัดเจนด้านผู้นำทางความคิดเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม นอกจากนี้ในการอบรมยังได้สร้างแรงบันดาลใจเพื่อให้กลุ่มคนรุ่นใหม่สามารถต่อยอด ในการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายนักอนุรักษ์หรือพิทักษ์สิ่งแวดล้อมในระดับสถาบันการศึกษา เพราะปัจจุบันรูปแบบการเรียนการสอนหรือรายวิชาที่เน้นหรือสะท้อนปัญหาสังคมทางด้านสิ่งแวดล้อมนั้นหากไม่ใช่การเรียนในสาขาหลัก วิชาที่ให้องค์ความรู้เหล่านี้อาจถูกลดทอนลง แต่เมื่อคนรุ่นใหม่เกิดแรงบันดาลใจ ตระหนักเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะสามารถสร้างเครือข่ายพลังใหม่ให้เกิดขึ้นเองได้
ขณะที่การอบรมด้านการปฏิบัติการเกี่ยวกับการคิดเชิงวิพากษ์ และทักษะความเป็นผู้นำทางด้านการขับเคลื่อนประเด็นสังคม ทางด้านสิ่งแวดล้อม ได้แบ่งกลุ่มเพื่อนำเสนอผลงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอย่างสร้างสรรค์ โดยให้ผู้เข้าร่วมโครงการลงพื้นจริงในการหาข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นเชิงสิ่งแวดล้อมที่เลือก และนำมาวิเคราะห์ เพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหา แนวทางการแก้ไขทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ณัฐพัชร์ ธรรมทวีนันท์ นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ YTEn ชี้ให้เห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันของสังคมไทย โดยยกตัวอย่างง่ายๆเกี่ยวกับการบริโภคถุงพลาสติกของคนไทยที่เติบโตอย่างรวดเร็วจากความสะดวกและง่ายต่อการใช้ แต่ลืมตระหนักถึงปัญหาระยะยาวเกี่ยวกับการจัดเก็บ ทำลาย เพราะมองว่าไกลตัวในความคิดทุกคน ขณะที่ประเทศที่เข้มงวดเกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า ถุงพลาสติกกลับมีการนำมาใช้ค่อนข้างน้อย เพราะหากต้องการใช้ถุงพลาสติกจากร้านสะดวกซื้อจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ขณะที่การรณรงค์พบว่ามีการสอนให้ตระหนักรู้เกี่ยวกับโทษและผลที่ตามมาหากมีการบริโภคพลาสติกในปริมาณมาก ตรงกันข้ามกับไทยที่เรารู้แต่ยังตระหนักเรื่องนี้น้อยมาก นี่จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ณัฐพัชร์อยากเข้าร่วมโครงการ เพื่อใช้โครงการดังกล่าวเป็นเวทีในการบอกเล่าวิธีคิด แนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในจุดเล็กที่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต
“ผมเชื่อว่าโครงการนี้จะผลักดันให้เยาวชนได้สร้างจุดเปลี่ยนทางสังคมและตระหนักมากขึ้นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นเสมือนเวทีให้เยาวชนได้แสดงความคิดเห็น แนวทาง ที่พร้อมจะลงมือทำหลังจากที่ทุกคนรู้ว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัวแต่อาจละเลย และผมอยากให้มีโครงการลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกหลายโครงการที่ไม่ใช่เฉพาะสิ่งแวดล้อม เพราะในสังคมไทยยังมีอีกหลายด้านที่ต้องเร่งแก้ไข เชื่อว่าหากเริ่มสร้างความตระหนักอย่างจริงจังในทุกเรื่อง จะทำให้ไทยเป็น’สังคมที่ยั่งยืน’ได้ไม่ยาก ขอเพียงแค่ทุกคนช่วยกัน” ณัฐพัชร์กล่าว
มารี เคดารี นิสิตคณะวิศวกรรมศสาตร์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า โครงการนี้ทำให้เห็นว่าปัจจุบันมีการดำเนินการเกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้นในสถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จากการลงพื้นที่โรงเรียนเทศบาลบ้านบ่อฝ้ายพบว่าที่โรงเรียนแห่งนี้ได้สอนให้นักเรียนตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าด้วยการนำสิ่งของที่จะกลายเป็นขยะกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สอนการแยกขยะ การฝึกให้นักเรียนรู้จักนำขยะมาแลกเป็นเงินเพื่อสร้างรายได้และเก็บออมเข้าสู่ธนาคารโรงเรียน นับเป็นการปลูกฝังตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จะทำให้เยาวชนตระหนักรู้มากขึ้น
“จากความคิดเดิมคิดว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมยังมีอุปสรรคอยู่มาก ต่อให้ประชาสัมพันธ์ รณรงค์มากเท่าไหร่ ก็ยังไม่ทำให้เห็นภาพ หนำซ้ำอาจถูกมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เกี่ยวอะไรกับตัวฉัน แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการนี้ ทำให้เห็นคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ไม่ได้มองว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป และเป็นจริงได้หากทุกคนพร้อมช่วยกันแก้ปัญหา และทุกคนที่เข้าร่วมโครงการพร้อมที่จะเป็นผู้นำในหน่วยย่อยที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงสังคม เหมือนกับตัวอย่างของโรงเรียนเทศบาลบ่อฝ้ายที่เริ่มปลูกฝังนักเรียนให้ตระหนักปัญหาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เด็กๆ ” มารีกล่าว

พุทธิศักดิ์ พนมสารนรินทร์ นักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า ตนมีความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วโดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับ Food Waste และขยะแฟชั่น ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำกิจกรรมในด้านนี้มาโดยตลอด จึงสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการ YTEn ซึ่งเมื่อได้เรียนรู้และสัมผัสกับโครงการ ทำให้เห็นว่าเราสามารถแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ได้ตั้งแต่หน่วยย่อยโดยเริ่มจากตัวเราก่อน และมากไปกว่านั้นผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน สามารถประยุกต์และผนวกการศึกษาที่แตกต่างกันมาช่วยเหลือด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างไม่น่าเชื่อ
“กลุ่มผมเลือกประเด็นนำเสนอเกี่ยวกับการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งในกลุ่มมีความหลากหลายด้านองค์ความรู้ บางคนเรียนวิศวกรรม แพทยศาสตร์ นิเทศศาสตร์ แต่กลับนำองค์ความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ในการช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมได้อย่างลงตัว จากความแตกต่างครั้งนี้จึงทำให้ผมคิดได้ว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเรียนอะไรมา หรืออยู่ในสถานะไหน เราสามารถเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ ขอแค่คิดและเริ่มลงมือทำ ”
ทั้งนี้เชื่อว่าโครงการ YTEn จะช่วยปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนรุ่นใหม่ในการรณรงค์ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน พัฒนาทักษะ แบบรู้รอบเพื่อสร้างนักคิดและนักปฏิบัติไปพร้อมกัน ถือเป็นการพัฒนากระบวนการคิดไปสู่ผลลัพธ์ความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมจากการลงมือปฏิบัติ เพื่อเป็นต้นแบบหรือตัวแทนในระดับประเทศที่สามารถคิดและลงมือปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม