เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากลที่กำลังจะมาถึง Wildlife Justice Commission (WJC) ได้เปิดเผยรายงาน Operation Dragon: Revealing new evidence of the scale of corruption and trafficking in the turtle and tortoise trade [1] ที่ลงรายละเอียดเกี่ยวกับปฏิบัติการสืบสวนระยะเวลาสองปี (2559-2561) เพื่อเปิดโปงการลักลอบค้าสัตว์เลื้อยคลานใกล้สูญพันธ์อย่างผิดกฎหมายในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ พร้อมตีแผ่การคอร์รัปชั่นที่เอื้อให้เกิดอาชญากรรมเหล่านี้
ระหว่างปฏิบัติการ Operation Dragon ทาง WJC ได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับ Wildlife Crime Control Bureau (WCCB) ของอินเดีย Department of Wildlife and National Parks Peninsular Malaysia (PERHILITAN) และ INTERPOL Environmental Crime Program การร่วมมือกันครั้งนี้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยสามารถทลายเครือข่ายค้าสัตว์ป่า 8 เครือข่าย มีการจับกุม 30 ครั้ง และสามารถส่งผู้ค้าสัตว์ผิดกฎหมายเข้าคุกได้แล้ว 5 ราย ส่วนผู้ต้องสงสัยอีกหลายรายกำลังรอการตัดสินคดี นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สามารถยึดสัตว์เลื้อยคลานที่ยังมีชีวิตได้กว่า 6,000 ตัว ตั้งแต่สัตว์ที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้สูญพันธุ์ไปจนถึงสัตว์ที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์
คุณซาราห์ สโตเนอร์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายสืบสวนของ WJC กล่าวว่า “หลักฐานมากมายที่ได้มาจากการสืบสวนและการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวกรองของ WJC ทำให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับหน้าที่ของแต่ละบุคคลและการเคลื่อนไหวของเครือข่าย เจ้าหน้าที่จึงสามารถกำหนดเป้าหมายผู้กระทำผิดรายใหญ่ซึ่งได้ประโยชน์มากที่สุดจากการก่ออาชญากรรมนี้”
นอกจากนี้ ปฏิบัติการ Operation Dragon ยังได้ตีแผ่การคอร์รัปชั่นซึ่งเอื้อให้เกิดการค้าเต่าน้ำจืดและเต่าบกอย่างผิดกฎหมายทั่วภูมิภาค การวิเคราะห์ข้อมูลข่าวกรองอย่างละเอียดเผยให้เห็นถึงการคอร์รัปชั่นอย่างเป็นระบบของเจ้าหน้าที่สนามบินและสถานีขนส่ง โดย “การจัดฉาก” (ตามที่ผู้ลักลอบค้าสัตว์เรียก) ทำให้สามารถลักลอบขนส่งสัตว์ได้ครั้งละมากๆ ซึ่งลดความเสี่ยงในการถูกจับ
ในระหว่างปฎิบัติการ ฝ่ายสืบสวนของ WJC สามารถยึดเต่าน้ำจืดและเต่าบกได้มากกว่า 20,400 ตัว รวม 16 สายพันธุ์ตามที่ระบุในบัญชีหมายเลข 1 และ 2 ของ CITES ซึ่งรวมถึงชนิดที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ นอกจากนี้ WJC สามารถรวบรวมข้อมูลราคาซื้อขายสัตว์ที่อ้างอิงจากลิสต์ราคาของผู้ลักลอบค้าสัตว์เอง โดยพบว่ามูลค่าการค้าส่งที่มีการบันทึกและมีการเสนอนั้นสูงกว่า 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มูลค่าการค้าปลีกน่าจะสูงกว่ามาก โดยตัวเลขดังกล่าวอิงจากราคาปัจจุบันที่มีการรวบรวมข้อมูลมาจากหลายประเทศเป็นระยะเวลานาน [2]
คุณสโตเนอร์กล่าวเสริมว่า “ทีมงานของเรายังพบด้วยว่ามีการลักลอบค้าเต่าน้ำจืดพันธุ์หายากขึ้นและมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ และเนื่องด้วยจำนวนที่เหลือน้อยมาก เราเกรงว่าการเคลื่อนย้ายสัตว์ออกจากถิ่นที่อยู่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการฟื้นตัว”
Wildlife Justice Commission (WJC) ดำเนินงานทั่วโลกเพื่อช่วยสกัดและทลายเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติที่ลักลอบค้าไม้ สัตว์ป่า และสัตว์น้ำ ด้วยการรวบรวมหลักฐานอันนำไปสู่การตรวจสอบ
หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการ
[1] อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ http://www.wildlifejustice.org
[2] อธิบายเพิ่มเติมคือ ราคาค้าปลีกเต่าบึงดำลายจุดอยู่ที่ตัวละ 22 ดอลลาร์สหรัฐในอินเดีย, 140 ดอลลาร์สหรัฐในมาเลเซีย และ 300-400 ดอลลาร์สหรัฐในฮ่องกง ส่วนราคาค้าส่งอยู่ที่ตัวละ 55 ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ มูลค่าการค้าผิดกฎหมายที่บันทึกโดย WJC อ้างอิงจากราคาค้าส่ง ไม่ใช่ราคาค้าปลีกที่มีแนวโน้มว่าจะสูงกว่ามาก
ที่มา: Wildlife Justice Commission