Weaving together futures thinking, innovation and strategy to support effective teaching

0
383
image_pdfimage_printPrint

สช. จับมือนิวซีแลนด์ ติวเข้มผู้นำด้านการศึกษาภาคเอกชน
พัฒนาทักษะ 3R8C สู่ผู้นำเชิงนวัตกรรมรองรับ Thailand 4.0

เมื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม สถานศึกษาต่างๆ จะต้องมีการปรับตัวให้พร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีวิสัยทัศน์ มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพได้ด้วยวิธีการต่างๆ อย่างรวดเร็วสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง พร้อมศักยภาพในการผลิตนักเรียนที่มีคุณภาพให้ออกมาพัฒนาประเทศได้อย่างต่อเนื่อง
จากงานประชุมเชิงปฏิบัติการเบื้องต้น ในหัวข้อ “Weaving together futures thinking, innovation and strategy to support effective teaching” สำหรับผู้บริหารและคณะกรรมการสถานศึกษาเอกชน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสถานศึกษาเอกชน หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ และ Auckland University of Technology (AUT) ร่วมกันจัดขึ้นโดยเน้นเนื้อหาการบูรณาการการเรียนที่จะนำไปสู่การเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ด้านภาวะความเป็นผู้นำทางการสอนและการเรียนรู้ การคิดมุ่งสู่อนาคต ศึกษาสภาพแวดล้อมการเรียนเชิงนวัตกรรม และการจัดการเชิงกลยุทธ์ โดยมี นายชลำ อรรถธรรม รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ร่วมด้วย มร.ปีเตอร์ ไรเดอร์ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัคราชทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย เป็นประธานเปิดการประชุม และ ดร.ฮาเวิร์ด ยังส์ วิทยากรอาวุโส หลักสูตรการเป็นผู้นำสถานศึกษาจาก Auckland University of Technology (AUT) เป็นวิทยากรให้ความรู้ โดยมีผู้อำนวยการและผู้บริหารโรงเรียนเอกชนให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมอย่างคับคั่ง ณ โรงแรมเอส.ดี. อเวนิว กรุงเทพ เมื่อเร็วๆ นี้
นายชลำ อรรถธรรม กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ยุค 4.0 ที่กำลังปรับเปลี่ยนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม เราต้องเตรียมกำลังคน และความพร้อมนักเรียน นักศึกษาให้มีทักษะในการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 คือ 3R8C เน้นทักษะความเชี่ยวชาญ ด้านองค์ความรู้ และสมรรถนะที่เกิดกับตัวผู้เรียน เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตในสังคมแห่งความเปลี่ยนแปลง สถานศึกษาเอกชนในฐานะผู้ให้บริการด้านการศึกษาจึงต้องปรับตัวให้เข้าสู่สังคมยุคใหม่ และการเรียนรู้เพื่ออนาคต ที่นอกจากศึกษาองค์ความรู้ที่มีอยู่ภายในประเทศแล้ว ควรศึกษาองค์ความรู้ และนวัตกรรมที่ทันสมัยจากต่างประเทศด้วย
โดย ดร.ฮาเวิร์ด ยังส์ เปิดเผยว่า การเรียนรู้สู่ภาวะความเป็นผู้นำ เป็นการพัฒนาความคิดและนวัตกรรมร่วมกันเพื่ออนาคต สนับสนุนการสอนที่มีประสิทธิภาพมุ่งเน้นไปที่การคิดเชิงนวัตกรรม สร้างความเป็นผู้นำด้านการเรียนการสอน รวมไปถึงการจัดการเชิงกลยุทธ์ ซึ่งจากการวิจัยความเป็นผู้นำด้านการศึกษาจากทั่วโลกแสดงให้เห็นว่า “ผู้นำและกรรมการสถานศึกษาที่ดีจะต้องเปิดใจและเคารพต่อการเรียนรู้” การปฏิรูปหรือการพัฒนาด้านการศึกษาเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนและปรับปรุงการเรียนรู้ของนักเรียนได้ เพราะครูและตำราเรียนในโรงเรียน ไม่ได้เป็นแหล่งความรู้เพียงอย่างเดียวที่นักเรียนจะหาความรู้ได้ นักเรียนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงการเชื่อมต่อข้อมูลได้จากทั่วโลกแล้ว ผู้บริหารโรงเรียนจะต้องเปิดโอกาสให้ครูและนักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการคิดเพื่ออนาคต และการเรียนรู้ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ บนพื้นฐานของสิ่งแวดล้อมที่ตัวเองมีอยู่ ก่อนจะนำมาพัฒนาชุมชนและอาชีพของพวกเขาในอนาคต “ทั้งนี้ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องเรียนรู้ในสิ่งที่นักเรียนต้องการ เปิดใจยอมรับในการเรียนรู้ไปพร้อมกับครูผู้สอนด้วย” เพื่อกระบวนการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับผู้บริหารส่วนใหญ่ในประเทศนิวซีแลนด์ จะมีระบบการประเมินผลครูอย่างเคร่งครัด ร่วมกับการประกันคุณภาพด้านการศึกษา โดยให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นสำคัญ พร้อมสนับสนุนการเรียนรู้อย่างมืออาชีพของครู พัฒนานโยบายต่างๆ ให้เอื้อต่อการทำงานร่วมกันของครูและสถานศึกษา เพื่อให้แน่ใจว่าสถานศึกษาจะมีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ และนักเรียนจะได้รับเงื่อนไขที่ดีที่สุดในการเรียนรู้
ซึ่งทักษะ 3R8C ที่ผู้บริหารด้านการศึกษาในศตวรรษที่ 21จะต้องเตรียมความพร้อมให้นักเรียน รับนโยบายThailand 4.0 ได้แก่
 Reading: อ่านออก
 (W)Riting: เขียนได้
 (A)Rithmatic: มีทักษะในการคำนวณ
 Critical Thinking and Problem Solving: มีทักษะในการคิดวิเคราะห์ และแก้ไขปัญหาได้
 Creativity and Innovation: คิดอย่างสร้างสรรค์ คิดเชิงนวัตกรรม
 Collaboration Teamwork and Leadership: ให้ความร่วมมือในการทำงานเป็นทีมมีภาวะผู้นำ
 Communication Information and Media Literacy: มีทักษะในการสื่อสาร และรู้เท่าทันสื่อ
 Cross-Cultural Understanding: มีความเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรม
 Computing and ICT Literacy: มีทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ และรู้เท่าทันเทคโนโลยี
 Career and Learning Skills: มีทักษะทางอาชีพ และกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ
 Compassion: มีคุณธรรม มีเมตตากรุณา มีระเบียบวินัย ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่ผู้บริหารโรงเรียนจะต้องมีเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีต่อนักเรียนได้ศึกษาอย่างลึกซึ้ง
กุญแจสำคัญของผู้นำด้านการศึกษา จะต้องเป็นคนที่ถ่อมตัว เปิดกว้างเพื่อการเรียนรู้ มีจิตใจที่อ่อนโยน มีแนวคิดสะท้อนถึงการปฏิบัติและการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างละเอียด ส่งเสริมความสามัคคีและความสมดุลในโรงเรียน เปิดโอกาสให้ครูใช้เวลาในการแชร์การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้ โดยพูดเกี่ยวกับประสบการณ์การเรียนรู้ในห้องเรียน ควบคู่ไปกับการพัฒนาวิชาชีพ ทั้งนี้ผู้นำต้องให้แน่ใจว่ามีการประสานงานอย่างดีและสอดคล้องกับค่านิยมและทิศทาง (เป้าหมาย) ของโรงเรียน โดยมีครูที่พร้อมจะให้ความรู้คอยสนับสนุนนโยบาย และในขณะเดียวกันก็เรียนรู้จากการศึกษาในประเทศอื่น ๆ ด้วย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ: บริษัท คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์ จำกัด
คุณบุษบา สุขบัติ และคุณชลียาพันธุ์ นุ่นสวัสดิ์ โทร. 02 718 3800-5 หรือ 085 803 6222