UIH มอบทุนสนับสนุน “ฟีโบ้”ออกแบบและสร้าง “หุ่นยนต์กู้ชีวิตในซากอาคารถล่ม”

0
448
image_pdfimage_printPrint

UIH-FIBO1

UIH มอบทุนสนับสนุนสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มจธ. ต่อเนื่อง 2 ปี รวมจำนวน 3 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา “หุ่นยนต์ กู้ชีวิตในซากอาคารถล่ม” รวมทั้งเพื่อใช้ในงานวิจัยทางการศึกษาอื่นๆ ที่นำไปปรับใช้ในชีวิตจริงได้ ผลงานวิจัยพร้อมปรับใช้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในอนาคต
คุณวิชัย เบญจรงคกุล ประธานบริหาร บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด (UIH) กล่าวว่า UIH มีนโยบายสนับสนุนการศึกษาด้านเทคโนโลยีของประเทศในทุกมิติ โดยเฉพาะการสนับสนุนการพัฒนางานวิจัย เพื่อการค้นคว้า สร้างสรรค์นวัตกรรม ประดิษฐกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้มอบเงินทุนสนับสนุนการศึกษาและการวิจัยแก่สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) ต่อเนื่อง 2 ปี รวมจำนวน 3 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนการศึกษา และเป็นค่าใช้จ่ายจัดหาวัสดุอุปกรณ์สำหรับการศึกษาวิจัยและวัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา
ทั้งนี้ UIH เล็งเห็นว่า การพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต เนื่องจากนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าทั้งต่อผลงาน และบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ
“การสนับสนุนให้แก่ฟีโบ้ เป็นความตั้งใจของ UIH ในการนำองค์ความรู้ทางวิชาการและความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถประยุกต์ใช้ได้จริง มาต่อยอดเสริมการทำงานได้จริงทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งสำคัญเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดียิ่งขึ้นต่อไป” คุณวิชัย กล่าว
พันเอก เรืองทรัพย์ โฆวินทะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ (UIH) กล่าวว่า การสนับสนุนการศึกษาและการวิจัยแก่ฟีโบ้นั้น เป็นทุนสนับสนุนต่อเนื่อง 2 ปี ปีละ 1.5 ล้านบาท
(พ.ศ.2557 – พ.ศ.2558)
“UIH มั่นใจในความตั้งใจ ของสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือฟีโบ้ แห่งนี้ จากผลงานที่ผ่านมา รวมถึงต้องการส่งเสริมให้นักศึกษาไทยได้มีโอกาส พัฒนาความรู้ ความสามารถอย่างเต็มที่ โดยมุ่งหวังว่านักศึกษาไทยจะมีผลงานดีเด่นจำนวนมากขึ้น ทัดเทียมนักศึกษาแห่งอื่นทั่วโลก” พันเอก เรืองทรัพย์ กล่าว

รศ. ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า เงินทุนที่ได้รับการสนับสนุนได้นำไปใช้ในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อการวิจัย ออกแบบและสร้าง “หุ่นยนต์กู้ชีวิตในซากอาคารถล่ม” และส่วนหนึ่งได้มอบเป็นทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษา โดยสถาบันฯ ไม่ได้หักค่าบริหารจัดการใด ๆ เข้าสถาบัน
ทั้งนี้ หุ่นยนต์กู้ชีวิตในซากอาคารถล่ม เป็นหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานในพื้นที่เสี่ยงอันตรายแทนมนุษย์ โดยงานวิจัยนี้เกิดขึ้นจากการประเมินโอกาสที่ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ตึกและอาคารสูงในพื้นที่ภาคกลางมีโอกาสได้รับความเสียหายและถล่มลงมาได้ เนื่องจากมีการค้นพบรอยเลื่อนของแผ่นเปลือกโลกจำนวนมากในประเทศไทย โดยหุ่นยนต์ได้ถูกออกแบบให้สามารถเคลื่อนที่ผ่านภูมิประเทศที่ขรุขระได้อย่างคล่องแคล่ว อีกทั้งมีความสามารถในการสำรวจซากปรักหักพังได้อย่างอัตโนมัติ หุ่นยนต์ลักษณะนี้ยังสามารถดัดแปลงใช้งานในภารกิจอื่น ๆ ได้ เช่น งานกู้กับระเบิด เป็นต้น