TUEWAS ประสานกำลังกับ SNRD ASIA แตกประเด็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
กรุงเทพฯ 1 มิถุนายน 2559 – ด้วยกุญแจสู่ความสำเร็จของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 คือ ความร่วมมือในการดำเนินงานที่เข้มแข็ง และการเชื่อมโยงการดำเนินงานระดับท้องถิ่น ภูมิภาคและระดับชาติเข้าด้วยกัน องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จึงได้จัดการประชุมร่วมระหว่างเครือข่ายการขนส่ง สิ่งแวดล้อม พลังงานและน้ำในเอเชีย (TUEWAS) และเครือข่ายทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชุมชนในเอเชีย (SNRD ASIA) ขึ้นเพื่อเป็นเวทีสร้างความคืบหน้าในการดำเนินงานจากหน่วยงานภาครัฐทั่วโลก เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ ซึ่ง SDGs จะมีบทบาทสำคัญยิ่งในการดำเนินงานความร่วมมือด้านการพัฒนาของเยอรมัน
การประชุมระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2559 ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ ครั้งนี้ จึงถือเป็นโอกาสให้นักวิชาการของ GIZ ทั่วภูมิภาคเอเชียกว่า 250 ท่าน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทางด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร ธรรมชาติและการพัฒนาชุมชนจากนานาประเทศ ได้มาร่วมแสดงความคิดเห็นและวิเคราะห์การดำเนินงานจากโครงการต่างๆ ที่จะสามารถเชื่อมโยงเข้ากับ SDGs ได้
ดร. ฮงจู ฮาห์ม รองเลขาธิการบริหาร คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) กล่าวระหว่างการปราศรัยว่า “วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนตื่นตัวและสนใจในเรื่องการพัฒนาขีดความสามารถ ผ่านความร่วมมือแบบใต้-ใต้ หรือที่เรียกว่าความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการที่ประเทศกำลังพัฒนาให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อร่วมกันหาวิธีการหรือนโยบายที่ดีที่สุดมาปรับใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ การรับมือกับปัญหาภัยพิบัติ ก็เป็นภารกิจหนึ่งส่วนสำคัญที่จะบรรลุเป้าหมายของ SDGs ซึ่งรวมถึงความมั่นคงทางอาหาร โครงสร้างพื้นฐาน เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศ ยิ่งไปกว่านั้น เรายังคงประสานความเข้มแข็งในการดำเนินงานเรื่องระบบการเตือนภัยล่วงหน้าให้แก่ประเทศกัมพูชา มัลดีฟส์ เมียนมาร์ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และศรีลังกา ที่จะมุ่งแก้ปัญหาด้านน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำข้ามพรมแดน น้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มด้วย”
“เฉพาะในปี 2558 น้ำท่วมสร้างความเสียหายกว่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำข้ามพรมแดนขนาดใหญ่ ดังนั้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานเรื่องระบบการเตือนภัยล่วงหน้าจึงมีความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ในภูมิภาคนี้ ซึ่ง UNESCAP และ GIZ กำลังร่วมกันดำเนินการ เราหวังว่าจะมีการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องและประสบความสำเร็จ”
มร. สเตฟาน เฮลมิ่ง ผู้อำนวยการ GIZ ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย กล่าวว่า “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs จัดทำขึ้นเพื่อใช้สานต่อภารกิจภายใต้เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals – MDGs) รวมทั้งใช้เป็นเป้าหมายสำหรับการพัฒนาที่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมจวบจนปี 2573 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปีข้างหน้า SDGs ถูกรับรองให้เป็นวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน จากการประชุมของ
สหประชาชาติร่วมกับชาติสมาชิก 193 ประเทศทั้งในซีกโลกเหนือและโลกใต้ ในโอกาสนี้ GIZ มีความภูมิใจที่จะสนับสนุนการดำเนินงานและทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย เรากำลังทำงานไม่เพียงแต่บูรณาการ SDGs เข้าไปในกรอบนโยบายและแผนระดับชาติ แต่ยังช่วยสร้างและแบ่งปันแนวคิด ความรู้ ไปพร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วย”
“วันนี้เราได้มาร่วมหารือเกี่ยวกับการดำเนินการที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาและความร่วมมือที่ยั่งยืนในภูมิภาค เครือข่ายการขนส่ง สิ่งแวดล้อม พลังงานและน้ำในเอเชีย (TUEWAS) และเครือข่ายทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชุมชนในเอเชีย (SNRD ASIA) ซึ่งถูกดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของ GIZ ได้มารวมกันครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในเชิงลึกและอภิปรายเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมต่างๆ ของ GIZ ให้สอดคล้องกับ SDGs และข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ”
ด้าน ดร.ฟิลิปป์ มาเกียร่า โฆษกจากเครือข่ายการขนส่ง สิ่งแวดล้อม พลังงานและน้ำในเอเชีย กล่าวว่า “การประชุมครั้งนี้ เป็นโอกาสที่พิเศษสุด ในการสร้างความเชื่อมโยงกว่า 100 โครงการของ GIZ ในภูมิภาคเอเชีย การเชื่อมโยงการดำเนินงานของแต่ละเครือข่าย และการกำหนดวิธีบูรณาการการดำเนินงานที่ชัดเจนนี้ จะสามารถเติมเต็มเป้าประสงค์ของ SDGs และสามารถขจัดความยากจนทั่วโลกได้ในที่สุด ผมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรทางธรรมชาติของ GIZ จะมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 นี้”
มร.เบิร์ทโฮลด์ เชิล์ม โฆษกจากเครือข่ายทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชุมชนในเอเชีย กล่าวเสริมว่า “ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะประกาศว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ทั้งสองเครือข่ายระดับภาคได้มาผนึกกำลังและจัดประชุมร่วมกัน ซึ่งทำให้เราสามารถดึงทรัพยากรมาใช้ร่วมกัน และแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ต่างๆ ระหว่างสองเครือข่าย ในขณะเดียวกันก็สามารถทำให้การประชุมวันนี้มีประสิทธิภาพและคุ้มทุน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทสรุปจากการประชุมจะถูกนำมาใช้เป็นทิศทางการพัฒนา เพี่อขจัดความยากจน ต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำในสังคมและความ อยุติธรรม แก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้”
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เป็นองค์กรของรัฐบาลเยอรมันที่ดำเนินงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน GIZ ปฏิบัติงานในนามของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนทั้งในประเทศเยอรมนีและต่างประเทศ รวมทั้งรัฐบาลของประเทศต่างๆ สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก และองค์กรที่ให้ทุนอื่นๆ GIZ ดำเนินงานอยู่ในกว่า 130 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานทั้งสิ้นประมาณ 17,000 คน ซึ่งร้อยละ 70 เป็นคนในประเทศ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ปริยา วงศาโรจน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)
โทรศัพท์ 02-661-9273 ต่อ 65 มือถือ 081-622-5112
อีเมล์ pariya.wongsarot@giz.de