TSI Insurance เตรียมรุก Digital Technology สร้างการเติบโตระยะยาว จับมือ GT Dollar จัดตั้ง TSI Lab เน้นศึกษาพัฒนาผลิตภัณฑ์-บริการ ตอบโจทย์ลูกค้า
นายธนพล บุญวรุตม์ ประธานกรรมการ บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ TSI Insurance เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงานของบริษัทฯ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยมีกลุ่มธุรกิจที่หลากหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยว รวมทั้งผู้ถือหุ้นที่มีความแข็งแกร่งอย่าง บริษัท จีที ดอลลาร์ จำกัด ซึ่งมีฐานการดำเนินธุรกิจจากประเทศสิงคโปร์ภายใต้การนำของ จีที กรุ๊ป บริษัทเทคโนโลยีด้านการเงินชั้นนำระดับโลก มีเครือข่ายครอบคลุมธุรกิจหลากหลายทั้ง การประกันภัย การชำระเงิน ปัญญาประดิษฐ์ การบริหารสินทรัพย์ สายการบิน บล็อกเชน และอื่น ๆ อีกมาก อีกทั้งยังมีพันธมิตรและเครือข่ายธุรกิจทั้งในประเทศสิงคโปร์และต่างประเทศทั่วโลก ช่วยส่งเสริมให้การดำเนินธุรกิจของ TSI Insurance ซึ่งมีประวัติศาสตร์การดำเนินธุรกิจประกันวินาศภัยในประเทศไทยมายาวนานถึง 78 ปี สามารถเติบโตอย่างมั่นคงในอนาคต
ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา TSI Insurance มีผลการดำเนินงานปี 2561 ที่ขาดทุนสำหรับปีจำนวน 71 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากขาดทุน 116 ล้านบาทในปี 2560 ขาดทุนที่ลดลงเกิดจากค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัยที่ลดลงจากการเปลี่ยนพอร์ตการรับงานให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของบริษัท ถึงแม้ว่าจะทำให้เบี้ยประกันภัยลดลงก็ตาม โดยเบี้ยประกันภัยรับสำหรับปีมีจำนวนประมาณ 480 ล้านบาท ลดลงประมาณ 40% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 การลดลงของเบี้ยประกันภัยดังกล่าวทำให้จำนวนสำรองหนี้สินประกันภัยลดลงตามจำนวนเบี้ยประกันภัยด้วยเช่นกัน ซึ่งจากการปรับเปลี่ยนพอร์ตการรับงานตามความเสี่ยงและเงินกองทุนของบริษัท ทำให้บริษัทสามารถรักษาเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (CAR) ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงาน คปภ. โดยมี CAR ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 ที่ 227%
สำหรับการดำเนินงานของ TSI Insurance ในปี 2562 ยังคงสานต่อกลยุทธ์การสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน โดยมีการปรับโครงสร้างองค์กรและระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เน้นการพัฒนาบุคลากรและการเสริมทัพจากทีมงานมืออาชีพ รวมทั้งเดินหน้าสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้าทุกกลุ่มทั้งนายหน้า ตัวแทน และลูกค้าองค์กร โดยปีนี้จะขยายงานในต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น ด้วยสัดส่วนของงานรับประกันภัยกลุ่มรถยนต์ (Motor) ประมาณ 70 % และ กลุ่มที่ไม่ใช่รถยนต์ (Non Motor) 30% และยังคงเน้นรับงานคุณภาพเช่นปีที่ผ่านมา ด้วยเป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับรวมสิ้นปีประมาณ 800 ล้านบาท
นายธนพล กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงยุค Digital Technology ที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของผู้บริโภคยุคใหม่ และ ในอนาคตอันใกล้เชื่อว่าสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ซึ่งภาคธุรกิจต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับภาคธุรกิจประกันภัยในปัจจุบันที่สภาวะการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง และต้นทุนการดำเนินงานที่สูงจะเป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้แข่งขันได้ในอนาคต
ในการนี้ บริษัทฯ จึงวางแผนเพื่อการพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ด้วยการตั้งเป้าหมายให้บริษัทฯ ก้าวสู่การเป็นผู้นำธุรกิจด้านเทคโนโลยีเพื่อการประกันภัย หรือ InsurTech ที่เป็นมากกว่าการเปิดเว็บไซต์หรือจัดทำแอพพลิเคชั่นเพื่อขายผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่มีแนวคิดในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการดำเนินธุรกิจทุกด้านเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและลดต้นทุนการดำเนินงาน ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งกับลูกค้า คู่ค้า และผู้เอาประกัน
ด้านนายเปาโหลว จาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TSI Insurance กล่าวว่า เพื่อให้บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาด้านเทคโนโลยี บริษัทฯ จึงดำเนินการจัดตั้งทีมงาน TSI LAB ขึ้นโดยความร่วมมือกับ บริษัท จีที ดอลลาร์ ซึ่งจะทำหน้าที่เสมือนเป็น InsurTech R&D เพื่อออกแบบและพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ๆ อีกทั้งยังสนับสนุนให้พนักงานและตัวแทน คู่ค้า สามารถพัฒนาและสร้างสรรค์แนวคิดเพื่อการบริการที่ดีขึ้นแก่ผู้บริโภค
“จากประสบการณ์ของ จีทีกรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้นำบริษัทฟินเทคระดับโลก และมีสำนักงานใหญ่ในประเทศสิงคโปร์ เรามองเห็นโอกาสและความท้าทายในประเทศไทยที่แนวโน้ม InsurTech จะเข้ามามีบทบาทในอนาคตอย่างแน่นอน การวางแนวทางให้ TSI Insurance ในช่วงเริ่มต้นจึงเป็นเรื่องการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data วิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าเพื่อทำความเข้าใจและเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง อีกทั้งยังมีแผนการพัฒนาแอพพลิเคชั่นใหม่ในระยะต่อไปเพื่อสนับสนุนการทำงานของโบรกเกอร์และตัวแทนให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์กับกลุ่มลูกค้าได้สะดวกมากขึ้น เพราะถือเป็นคู่ค้าสำคัญที่จะสื่อสารกับผู้บริโภคโดยตรง นอกจากนี้ เรายังมีแผนการนำ AI มาใช้เพื่อตอบโจทย์กับระบบการทำงานภายในและภายนอกควบคู่กันในอนาคต” นายเปาโหลวกล่าวพร้อมเพิ่มเติมว่า
บริษัทฯ มีความพร้อมในการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บริโภคถึงเทคโนโลยีประกันภัยสมัยใหม่ที่มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และที่สำคัญต้องมีการกำกับดูแลอย่างโปร่งใสด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะขั้นสูง ซึ่งการดำเนินงานต่าง ๆ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับของหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแล เพื่อปกป้องผลประโยชน์ผู้บริโภคเป็นสำคัญ
“เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ และ แตกต่าง ซึ่งหลังจากนี้เมื่อการพัฒนาระบบเทคโนโลยีพร้อมแล้ว จะช่วยให้งานบริการตอบสนองความต้องการและสร้างความอุ่นใจให้กับลูกค้าทั้งโบรกเกอร์ ตัวแทน และกลุ่มผู้เอาประกันได้ นอกจากนี้ เรายังพร้อมที่จะทำงานและแลกเปลี่ยน Know How กับผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามกฎระเบียบต่าง ๆ และช่วยเพิ่มความโปร่งใสให้กับอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยด้วย” นายเปาโหลว กล่าว