“TRT” ประเดิมปีหมูทอง คว้างาน กฟผ. ผลิตหม้อแปลงขนาด 333 MVA มูลค่ากว่า 267.8 ล้านบาท เสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ
“TRT” ประเดิมปีหมูทอง คว้างาน กฟผ. ผลิตหม้อแปลงขนาด 333 MVA มูลค่ากว่า 267.8 ล้านบาท เสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ
ถิรไทย หรือ TRT ผู้นำตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าของประเทศ ประเดิมรับงานปี 62 ของ กฟผ. งานจัดซื้อหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังขนาดใหญ่ 333.33 MVA 500 kV จำนวน 6 ยูนิต มูลค่า 267,831,700 บาท ในโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า พร้อมเตรียมส่งมอบ Q1/63 ด้านผู้บริหาร “สัมพันธ์ วงษ์ปาน” เผยปี 61 ที่ผ่านมา บริษัทฯ กวาดรายได้จากการขายกว่า 2,094.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 21.05% หลังมีการส่งมอบหม้อแปลงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และบริษัทในเครือมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TRT ผู้ผลิต จำหน่าย และซ่อมบำรุง หม้อแปลงไฟฟ้าทุกขนาดของคนไทยเพียงแห่งเดียว เปิดเผยว่า ในปี 2562 นี้ ถือได้ว่าบริษัทฯ ประเดิมเปิดศักราชใหม่ด้วยผลงานที่โดดเด่น สามารถคว้างานจัดซื้อจัดจ้างในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เลขที่สัญญา S100664-3161-TIEC-TX-04 ในงานจัดซื้อหม้อแปลงไฟฟ้าขนาด 333.33 MVA 500 kV นำไปใช้งานที่สถานีไฟฟ้าแรงสูง อุบลราชธานี 3 จำนวน 6 ยูนิต รวมมูลค่างานกว่า 267,831,700 บาท โดยได้รับเกียรติจาก นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมลงนาม
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่างานจัดซื้อหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของ กฟผ. ในครั้งนี้ เป็นโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร โดยโครงการดังกล่าว เป็นการเสริมความมั่นคงของระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ในระดับ 500 kV Main Grid เพื่อรองรับโครงการพลังงานหมุนเวียนในอนาคตของประเทศ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งรองรับโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพรวมกันทั้งหมดประมาณ 10,000 เมกะวัตต์ ตามแผนการพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก
นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการส่งไฟฟ้าจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง ไปยังศูนย์กลางความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคกลาง และเขตกรุงเทพมหานคร อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าของประเทศ ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอีกด้วย
นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กล่าวต่ออีกว่า ในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังขนาดใหญ่ที่ทางบริษัทฯได้รับความไว้วางใจจาก กฟผ. ในครั้งนี้ จะส่งมอบภายในวันที่ 27 มกราคม 2563 และ 27 มีนาคม 2563 บริษัทฯ มีความภูมิใจเป็นอย่างมาก เพราะถือได้ว่าเราเป็นบริษัทฯ เพียงแห่งเดียวของคนไทยที่สามารถผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดกำลัง 500 kV หรือขนาดใหญ่นี้ได้ จากความตั้งใจในการพัฒนาบุคลากรของเราที่ไม่หยุดนิ่ง ให้มีความรู้ความสามารถในด้านวิศวกรรมไฟฟ้าทัดเทียมอุตสาหกรรมไฟฟ้าของโลกได้
นอกจากนี้ ผลประกอบการของบริษัทฯ ในปี 2561 ที่ผ่านมามีรายได้จากการขาย 2,094.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 364.16 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 21.05% เนื่องจากมีการส่งมอบหม้อแปลงไฟฟ้าที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงเพิ่มขึ้น และบริษัทในเครือมีรายได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่ บริษัทฯ มีรายได้จากการบริการ 440.70 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย 4.48 ล้านบาท หรือ 1.01% เนื่องจากรายได้บริการหม้อแปลงของบริษัทฯ ลดลง จากเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว ในภาพรวม ปี 2561 บริษัทฯ และบริษัทในเครือ มีกำไรขั้นต้นจากการขาย และบริการ 21.90% เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีอัตรากำไรขั้นต้น 20.10% นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กล่าวปิดท้าย