1

TMA มุ่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

TMA มุ่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
เปิดเวทีแลกเปลี่ยน เรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีจากทุกภาคส่วน
สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงานสัมมนา Thailand Competitiveness Conference 2018 ภายใต้คอนเซปต์ Powering Thailand Competitiveness through Digital Transformation เชิญผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันไอเอ็มดี ผู้บริหารภาครัฐและเอกชน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแนวทางการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในยุคปัจจุบัน เปิดมุมมองการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อรัฐบาลและภาคธุรกิจ
ศ.อาร์ทูโร บิส (Professor Arturo Bris) ผู้อำนวยการศูนย์ IMD World Competitiveness Center บรรยายพิเศษในหัวข้อ Adopting Technology for National Competitiveness ในงานสัมมนา Thailand Competitiveness Conference 2018 โดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ TMA ว่าปัจจุบันนี้กระแสดิจิทัลเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นทุกภาคส่วนจำเป็นต้องมีการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งโลกในยุคต่อไป ภาครัฐจะต้องรับบทบาทเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาหรือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยภาครัฐในฐานะผู้ควบคุมและกำกับดูแลจำเป็นต้องเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ รวมถึงออกกฎหมายใหม่ๆ ขึ้นมากำกับดูแลเทคโนโลยีที่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นสกุลเงินดิจิทัล เทคโนโลยีบล็อกเชน หรืออื่นๆ ที่กำลังจะเข้ามา ประเทศไทยคงไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามาได้ สิ่งที่ทำได้คือการหาจุดตรงกลางในการปรับตัวนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งในหลายประเทศที่เปิดรับเทคโนโลยีก็ส่งผลต่อการยกระดับขีดความสามารถของเขา อาทิเช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นต้น
ในอนาคตเราจะเห็นว่า เทคโนโลยีบล็อกเชน จะเข้ามามีบทบาทต่องานบริการสาธารณะมากขึ้น ประชาชนจะติดต่องานกับภาครัฐ โดยผ่านทางคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟนของตัวเอง. หรือแม้แต่การปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนจะลดลง และการทำหน้าที่คนกลางต่างๆ จะหายไป ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายของภาครัฐสมัยใหม่ที่จำเป็นจะต้องวางกฎระเบียบการกำกับดูแล เพื่อควบคุมระบบสังคม เศรษฐกิจให้เป็นระเบียบ ขณะเดียวกันต้องไม่ไปปิดกั้นเทคโนโลยี พร้อมทั้งต้องส่งเสริมเอกชนที่มีความพร้อมให้เขาสามารถเติบโต เป็นแกนหลักของระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
นอกจากนี้ ในเรื่องของสกุลเงินดิจิทัลก็จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในอนาคตความเป็นไปได้ที่แต่ละประเทศจะมีการออกเงินสกุลดิจิทัลของตัวเอง หรือการแปลงสินทรัพย์กายภาพเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งสิ่งเหล่านี้พิสูจน์ได้ว่า จะส่งผลทำให้ประเทศมีความมั่งคั่งมากขึ้น และเมื่อประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็ยิ่งส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ได้เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ อย่างเช่นเอสโตเนียก็ได้ปรับตัวเป็นประเทศดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบ มีการทำติดต่องานของภาครัฐในรูปแบบออนไลน์ดิจิทัลทั้งหมด ซึ่งทำให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้น มีความสะดวกรวดเร็ว และเพิ่มประสิทธิภาพของประเทศ ซึ่งเอสโตเนียก็เป็นต้นแบบให้รัฐบาลอีกหลายประเทศดำเนินการตาม
เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มพลังให้ภาคธุรกิจ
ในวันเดียวกัน ได้มีการอภิปรายหัวข้อ “Powering Business Competitiveness through Digitalization โดยนายชวพล จริยาวิโรจน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย อเมซอน เว็บ เซอร์วิส (AWS) ระบุว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อทุกอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันธุรกิจยุคใหม่ก็นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการพัฒนาองค์กรของตัวเอง เห็นได้ชัดอย่างเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ไม่ว่าจะด้านเสียง ภาพ วีดีโอ หรือ ข้อความ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ต่อยอดมาสร้างบริการใหม่ ๆเพื่อต่อยอดธุรกิจ
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ระบุว่า บทบาทของสำนักงานฯ คือการยกระดับการบริการของภาครัฐ ซึ่งจะเน้นภารกิจการบูรณาการข้อมูลของหน่วยงานราชการ ในการให้บริการประชาชน ซึ่งในเดือนสิงหาคมก็จะมีการยกเลิกการใช้สำเนาบัตรประชาชน และทะเบียนบ้านในการติดต่อหน่วยงานราชการ ขณะเดียวกันจะมีการผลักดันการเปิดข้อมูลภาครัฐให้มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันจะมีการเปิดระบบให้ภาคเอกชนมาเชื่อมต่อ ในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ และในอนาคตทางสำนักงานฯได้วางแผนที่จะนำเอกสารหนังสือสัญญาทั้งหมดของราชการเปิดเผยออกมาให้ประชาชนรับรู้ เพื่อสร้างความโปร่งใสในการบริหารงาน นอกจากนี้ทางสำนักงานฯยังจะร่วมกันวางระบบบริการภาครัฐ เป็นแบบจุดเดียวครบวงจร (one stop service) และการลดขั้นตอนการขอใบอนุญาต ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของยกระดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ หรือ Doing Business
ด้านนายสุวัฒน์ มีมุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ (BIIC) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บางจากรับรู้เรื่องของการถูกดิจิทัลดิสรัปชั่นมาโดยตลอด จึงมีการจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมฯ ขึ้นมา เพื่อทำให้เป็นมันสมองและมองหาแผนธุรกิจสำหรับอนาคตของบริษัท ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทบางจาก ได้มีการทดลองไอเดียธุรกิจใหม่ๆมาโดยตลอด โดยเป็นเจ้าแรกที่นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ร่วมกับการค้าขายพลังงาน ซึ่งได้มีการจับมือกับพันธมิตรในการทดลองใช้หรือการทดลองระบบพลังงานแสงแดด โซลาร์รูฟ ในสถานีน้ำมัน นอกจากนี้ บริษัทบางจากยังได้มองหาธุรกิจสำหรับอนาคต เพื่อเป็นอีกแกนธุรกิจที่จะหารายได้ในอนาคต ซึ่งขณะนี้กำลังเดินหน้าเต็มที่กับโครงการเทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ซึ่งทางบริษัทฯ ได้ก็เข้าไปลงทุนในบริษัทผู้ผลิตเหล่านี้
ดร. กำพล ศรธนะรัตน์ ผู้อำนวยการบริหารความเสี่ยงและธรรมาภิบาลองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่า ในฐานะองค์กรกำกับดูแล จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของผู้ที่เกี่ยวข้อง และจะต้องไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินทำธุรกิจ และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันเสรี ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ก็มีการจัด ฝึกอบรมพัฒนาทักษะเจ้าหน้าที่ ขณะเดียวกันได้วางกรอบการทำงานให้สอดรับกับยุคดิจิทัลมากขึ้น แม้จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากหลายด้านก็ตาม
ทั้งนี้ เกือบ 20 ปี ที่ทาง TMA มีบทบาทในด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ได้ดำเนินโครงการ Thailand Competitiveness Enhancement Program โดยความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งกิจกรรมที่ดำเนินการได้กระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความเชื่อมโยงในการดำเนินงานของภาคส่วนต่างๆ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ผู้บริหารทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เห็นความสำคัญเข้ามามีบทบาทร่วมกันขับเคลื่อนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างคับคั่ง

****************************************************
สื่อมวลชนสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) โทร. 02 319 7677
วิทยา วงศ์หล่อ (ปิ๊ก) ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร TMA โทร. 080 022 9999 E-mail: wittaya@tma.or.th
ภัณฑิรา สร้อยมงคลศรี (ตา) ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร TMA โทร. 095 825 8794 E-mail: phantira@tma.or.th
ตัวแทนประชาสัมพันธ์ : ดวงเนตร ชีวะวิชวาลกุล (เอ๋) 081-903-2262 , E-mail: duangnead@hotmail.com