TK เดินหน้าเปิด 3 สาขาในเมียนมาร์หลังได้รับใบอนุญาต
TK เผยได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการในเมียนมา
เตรียมลุยเปิด 3 สาขาในเมียนมา พร้อมให้บริการสาขาแรกสิงหาคมนี้
บมจ. ฐิติกร หรือ TK ล่าสุดได้รับอนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการไมโครไฟแนนซ์ในสหภาพเมียนมา ภายใต้ บริษัท Mingalaba Thitikorn Microfinance จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 1,520 ล้านจ๊าด หรือประมาณ 33 ล้านบาท ประกาศเดินหน้าเปิด 3 สาขาในมณฑลพะโค หรือที่คนไทยรู้จักในนามหงสาวดี เพื่อให้บริการทางการเงินให้กับลูกค้าในเมียนมาภายในสิงหาคมนี้ มั่นใจเมียนมาคือประเทศยุทธศาสตร์ใหม่ในการขยายตัวของธุรกิจ TK ในระยะยาว เศรษฐกิจมีการเติบโตต่อเนื่อง จาก GDP ที่เติบโตเฉลี่ย 7.1% ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เล็งขยายสาขาเพิ่มเติมในกัมพูชา 6 สาขา และ สปป. ลาว 3 สาขา รวม 12 สาขา ในต่างประเทศ และ 3 สาขาในประเทศไทย รวมเปิดสาขาทั้งหมด 15 สาขา ภายในปี 2562 ตอกย้ำแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพิ่มสัดส่วนภายในประเทศและจากธุรกิจต่างประเทศเป็น 50:50 ภายในปี 2563 ซึ่งในไตรมาส 1 ของปี 2562 ลูกหนี้เช่าซื้อในกัมพูชาและ สปป.ลาว มีสัดส่วน 12.5% เมื่อเทียบกับลูกหนี้เช่าซื้อทั้งหมด และเป็นครั้งแรกที่ลูกหนี้เช่าซื้อในต่างประเทศมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท เป็นครั้งแรก
นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ TK เปิดเผยว่า ล่าสุดได้รับอนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการไมโครไฟแนนซ์ในสหภาพเมียนมา ในนามบริษัท Mingalaba Thitikorn Microfinance จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 1,520 ล้านจ๊าด หรือ 33 ล้านบาท โดยมี TK ถือหุ้นสัดส่วน 99.9% ในบริษัทดังกล่าว โดยบริษัทฯ ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการบริการไมโครไฟแนนซ์ จำนวน 3 สาขา ในมณฑลพะโค (Bago) หรือที่คนไทยรู้จักในนามหงสาวดี ซึ่งห่างจากย่างกุ้ง ประมาณ 160 กม. เพื่อให้บริการทางการเงินกับลูกค้าในเมียนมา โดยจะเริ่มเปิดสาขาแรกภายในเดือนสิงหาคมนี้
“TK ได้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการไมโครแนนซ์ในเมียนมาเมื่อเดือนตุลาคม 2560 โดยระหว่างที่รอรับใบอนุญาตฯ บริษัทฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมเดินหน้าธุรกิจในเมียนมามาด้วยการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปประจำที่เมียนมา ควบคู่กับการส่งทีมงานเข้าไปศึกษาและเข้าใจลูกค้า ศึกษาตลาด และเตรียมแนวทางการดำเนินธุรกิจในเมียนมา ให้พร้อมเดินหน้าธุรกิจอย่างเต็มตัวทันทีที่ได้รับใบอนุญาต เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา เราได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไมโครไฟแนนซ์ในสหภาพเมียนมา ในนามบริษัท Mingalaba Thitikorn Microfinance จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 1,520 ล้านจ๊าด หรือประมาณ 33 ล้านบาท ที่มี TK ถือหุ้นสัดส่วน 99.9% ในบริษัทดังกล่าว ทำให้เราพร้อมเดินหน้าให้บริการทางการเงินให้กับลูกค้าได้ในเวลาไม่นาน” นางสาวปฐมากล่าว
นางสาวปฐมากล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ มั่นใจว่าเมียนมาจะเป็นประเทศยุทธศาสตร์ใหม่ในการขยายธุรกิจของ TK ในระยะยาว จากปัจจัยหลักในด้านขนาดของประชากรที่มีราว 55 ล้านคน อีกทั้งเศรษฐกิจที่มีการเติบโตของ GDP อย่างต่อเนื่อง เฉลี่ย 7.1% ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา จะช่วยสนับสนุนแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจที่บริษัทฯ ตั้งเป้าไว้ในการเพิ่มสัดส่วนลูกหนี้สินเชื่อเช่าซื้อจากการดำเนินธุรกิจภายในประเทศและจากธุรกิจต่างประเทศเป็น 50:50 ภายในปี 2563
ด้านนายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ TK กล่าวว่า เมียนมาถือเป็นประเทศที่ 3 ที่ TK ได้ขยายธุรกิจออกจากประเทศไทยไปต่างประเทศ จากการกำหนดเป้าหมายระยะยาวว่าธุรกิจจากต่างประเทศจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเติบโตทางธุรกิจของ TK โดยที่ตลาดในประเทศไทยจะยังคงมีบทบาทสำคัญในการสร้างฐานธุรกิจในอนาคตของ TK ซึ่งประเทศแรกที่ขยายออกไปคือกัมพูชา ขณะนี้เปิดให้บริการแล้ว 6 สาขา และจะเปิดเพิ่มอีก 6 สาขาภายในปีนี้ ประเทศที่สองคือสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) โดยเปิดให้บริการแล้ว 3 สาขา ที่เวียงจันทน์ หลวงพระบาง และสะหวันนะเขต และภายในปีนี้จะเปิดเพิ่มอีก 3 สาขาที่ปากเซ เชียงขวาง และอุดมชัย สำหรับในเมียนมา มีแผนจะเปิดบริการไมโครไฟแนนซ์ในช่วงแรก 3 สาขา โดยในสิ้นปี 2562 คาดว่าจะมีสาขาในต่างประเทศ 21 สาขา
“กัมพูชานับเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยปีที่ผ่านมามีอัตราเติบโตของสินเชื่อ 144% และอัตราเติบโตของรายได้ 199.5% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 ซึ่งธุรกิจในกัมพูชาคิดเป็นสัดส่วน 78% ของธุรกิจต่างประเทศของ TK ทั้งหมด โดยปีนี้คาดว่าจะมีอัตราเติบโตประมาณ 110% ในกัมพูชา สำหรับธุรกิจใน สปป. ลาว ถือเป็นอีกหน่วยธุรกิจที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงรองจากกัมพูชา โดยมีอัตราเติบโตของสินเชื่อ 85% และอัตราเติบโตของรายได้ 64% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 คาดว่าปีนี้อัตราเติบโตของสินเชื่อจะเติบโตประมาณ 75% ส่งผลให้อัตราเติบโตของธุรกิจต่างประเทศของ TK ในกัมพูชาและ สปป.ลาว ในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 100% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 ให้สอดคล้องแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ ในการเพิ่มสัดส่วนลูกหนี้สินเชื่อเช่าซื้อจากการดำเนินธุรกิจภายในประเทศและจากธุรกิจต่างประเทศ โดยตั้งเป้าเป็น 50:50 ภายในปี 2563” นายประพลกล่าว
ในส่วนของตลาดในประเทศ ไตรมาส 1/2562 ที่ผ่านมา มียอดขายรวม 462,205 คัน ลดลง 0.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ด้านผลประกอบการในไตรมาสแรก 2562 ในไตรมาสแรก รายได้เติบโต ประมาณ 2.3% จากประมาณ 957.7 ล้านบาท มาเป็นประมาณ 979.7 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่กำไรในไตรมาส 1/2562 อยู่ที่ 112.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ยอดลูกหนี้เช่าซื้อรวมของ TK ในไตรมาส 1/2562 อยู่ที่ 9,000 ล้านบาท ลดลง 2.4% เมื่อเทียบกับสิ้นปีที่ผ่านมา เทียบกับยอดขายรถจักรยานยนต์ของประเทศที่หดตัว 0.6% เนื่องจากทางบริษัทเร่งตัดหนี้สูญตั้งแต่กลางปี 2561 จนถึงปัจจุบัน อีกทั้งนโยบายเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว โดยบริษัทฯ จะประเมินเป้าหมายการขยายตัวในประเทศอีกครั้งหลังมีการจัดตั้งรัฐบาล นายประพลกล่าวทิ้งทาย