The Consumer Goods Forum จับมือ Fair Labor Association เรียกร้องทุกฝ่ายยกระดับความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม

0
624
image_pdfimage_printPrint

รายงานของ Fair Labor Association ตอกย้ำความรุนแรงของปัญหาในอินโดนีเซียและมาเลเซีย

มาเลเซียและอินโดนีเซียคือผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ ทั้งสองประเทศผลิตน้ำมันปาล์มคิดเป็นสัดส่วน 86% ของทั้งหมดทั่วโลก และมีแรงงานเกือบ 3.5 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้านที่ยากจนกว่า

รายงานฉบับใหม่จาก Fair Labor Association (FLA) ซึ่งจัดทำโดยคณะทำงานด้านน้ำมันปาล์มของ The Consumer Goods Forum (CGF) ได้พยายามทำความเข้าใจความเสี่ยงในการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของทั้งสองประเทศ รวมทั้งสำรวจบทบาทของบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในการยุติปัญหาดังกล่าว

(โลโก้: http://mma.prnewswire.com/media/556222/The_Consumer_Goods_Forum_Logo.jpg )

ตัวบ่งชี้การบังคับใช้แรงงาน

ผลวิจัยใหม่จาก FLA และ CGF ชี้ให้เห็นว่า อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในอินโดนีเซียและมาเลเซียต่างมีตัวบ่งชี้การบังคับใช้แรงงานหลายประการ เช่น การบีบบังคับข่มขู่ การใช้ความรุนแรง การไม่ระบุเงื่อนไขและข้อกำหนดการว่าจ้างให้ชัดเจน การทำให้ลูกจ้างต้องพึ่งพานายจ้าง การขาดการคุ้มครองโดยรัฐหรือตำรวจ การใช้แรงงานขัดหนี้ ค่าธรรมเนียมการว่าจ้างที่สูง และการทำงานล่วงเวลาโดยไม่สมัครใจ สำหรับการบังคับใช้แรงงานที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดอยู่ในกลุ่มแรงงานเก็บเกี่ยวผลผลิตและแรงงานซ่อมบำรุง ครอบคลุมถึงผู้ที่ทำงานพ่นยาฆ่าแมลงและใส่ปุ๋ย ซึ่งมีความเสี่ยงด้านสุขภาพและความปลอดภัยสูงกว่ากลุ่มอื่น

คุณปีเตอร์ ฟรีดแมน กรรมการผู้จัดการของ CGF กล่าวว่า “เมื่อสามปีก่อน CGF ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มระดับโลกในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค ได้ริเริ่มโครงการเพื่อช่วยขจัดปัญหาการบังคับใช้แรงงานทั่วโลกเป็นครั้งแรก เราน้อมรับรายงานของ FLA ที่ให้ข้อมูลเชิงลึกและคำแนะนำใหม่ๆ ที่ช่วยให้เราทำงานได้เร็วขึ้น การบังคับใช้แรงงานเป็นปัญหาระดับโลก และทางเดียวที่จะแก้ปัญหาได้ก็คือการร่วมมือกับบริษัทน้ำมันปาล์ม บริษัทจัดหางาน ตลอดจนภาคเอกชนและภาครัฐ”

คุณชารอน แวกซ์แมน ประธานและซีอีโอของ FLA กล่าวว่า “การตรวจสอบอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในมาเลเซียและอินโดนีเซียยืนยันว่า การบังคับใช้แรงงานทำกันอย่างเป็นระบบและเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนมาก และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เราหวังว่ารายงานของเราจะก่อให้เกิดการพูดคุยและร่วมมือกันขุดรากถอนโคนปัญหาการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันปาล์ม เราพร้อมที่จะร่วมมือกับ CGF และสมาชิก รวมถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อยุติการบังคับใช้แรงงานและคุ้มครองแรงงานทั่วโลก”

ลดความเสี่ยงของการบังคับใช้แรงงาน

รายงานฉบับนี้เน้นย้ำบทบาทสำคัญของบริษัทต่างๆ ในการช่วยลดความเสี่ยงของการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันปาล์ม ด้วยการกระตุ้นให้สมาชิกร่วมกันลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยสิ่งสำคัญที่สามารถทำได้มีดังนี้

– สนับสนุนรัฐบาลอินโดนีเซียและมาเลเซีย ตลอดจนบริษัทผู้ผลิตและซัพพลายเออร์
– ส่งเสริมให้เกิดการพูดคุยและร่วมมือกันระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
– แลกเปลี่ยนงานวิจัยและความรู้ระหว่างสมาชิก CGF ผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน และฝ่ายอื่นๆ
– พัฒนาวิธีการประเมินที่ใช้ในปัจจุบัน
– พัฒนาวิธีการรับรอง กลไก และมาตรฐานเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงาน
– เน้นย้ำให้เกิดความร่วมมือจากสมาชิก CGF และซัพพลายเออร์ เพื่อแก้ปัญหาการบังคับใช้แรงงาน

เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเสี่ยงเหล่านี้ CGF ยังได้พัฒนาแผนปฏิบัติการจากคำแนะนำในรายงานของ FLA ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่า CGF จะให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง

คุณโอลาฟ คอช ซีอีโอบริษัท METRO AG และประธานร่วมของคณะกรรมการบริหาร CGF กล่าวว่า “โลกเราให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มจึงบดบังปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนมาอย่างยาวนาน แต่รายงานล่าสุดที่จัดทำโดย CGF ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าปัญหานี้มีอยู่จริง ด้วยการสนับสนุนจาก FLA และสมาชิก CGF ถึงเวลาแล้วที่เราจะเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อปัญหานี้ ตลอดจนดำเนินการตามหลักการ Priority Industry Principles on Forced Labour และแผนปฏิบัติการฉบับใหม่ และเราต้องลงมือทำเดี๋ยวนี้”

คุณมาร์ก เองเจล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายห่วงโซ่อุปทาน บริษัท Unilever กล่าวว่า “ในฐานะสมาชิก CGF เราเชื่อว่าผู้ประกอบธุรกิจต้องร่วมมือกัน การยุติปัญหาการบังคับใช้แรงงานไม่สามารถรอได้ และเราต้องขุดรากถอนโคนปัญหานี้ เราต้องทราบภาพรวมที่ครอบคลุมและไม่ขึ้นกับฝ่ายใดของปัญหาในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย เนื่องจาก Unilever เป็นผู้ซื้อน้ำมันปาล์มรายใหญ่ รายงานของ FLA จึงมีค่าอย่างยิ่ง และจะช่วยให้เรามีความพยายามมากขึ้นในการยุติปัญหาการบังคับใช้แรงงานทั่วโลก เราจะเดินหน้าร่วมมือกับสมาชิก CGF และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้เกิดการดำเนินการตามหลักการ Priority Industry Principles ของ CGF และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก”

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินการของ CGF เพื่อยุติปัญหาการบังคับใช้แรงงานได้ที่ http://www.tcgfsocial.com

เกี่ยวกับ The Consumer Goods Forum

The Consumer Goods Forum (CGF) คือเครือข่ายอุตสาหกรรมระดับโลกที่ยึดหลักความเสมอภาค บรรดาสมาชิกของเครือข่ายได้ร่วมกันผลักดันให้ทั่วโลกใช้หลักปฏิบัติและมาตรฐานที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมสินค้าผู้บริโภคทั่วโลก สมาชิกเหล่านี้ประกอบด้วยซีอีโอและผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทค้าปลีก ผู้ผลิต ผู้ให้บริการ และอื่นๆ กว่า 400 แห่งจาก 70 ประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงความหลากหลายของอุตสาหกรรมทั้งในด้านภูมิศาสตร์ ขนาด ประเภทสินค้า และรูปแบบธุรกิจ บริษัทสมาชิกมียอดขายรวมกัน 3.5 ล้านล้านยูโร มีการจ้างพนักงานโดยตรงรวมกันเกือบ 10 ล้านคน และมีลูกจ้างตลอดห่วงโซ่คุณค่าอีก 90 ล้านคน ทั้งนี้ CGF กำกับดูแลโดยคณะกรรมการบริหารที่ประกอบด้วยซีอีโอจากบริษัทผู้ผลิตและบริษัทค้าปลีก 50 ราย สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.theconsumergoodsforum.com

เกี่ยวกับ Fair Labor Association

Fair Labor Association (FLA) ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของแรงงาน ตลอดจนปรับปรุงสภาพการทำงานด้วยการเอื้อให้เกิดความร่วมมือในหมู่ผู้ประกอบธุรกิจ องค์กรประชาสังคม รวมถึงวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ สมาคม FLA ดำเนินการตรวจสอบอย่างโปร่งใสและไม่ขึ้นกับฝ่ายใด เพื่อให้มั่นใจว่าแหล่งสินค้าของบริษัทสมาชิกมีการปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานอย่างเคร่งครัด นอกจากนั้นยังมีหน้าที่หาสาเหตุของการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด พร้อมเสนอวิธีแก้ไขปัญหาต่างๆในสถานที่ทำงาน สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.fairlabor.org

ที่มา: The Consumer Goods Forum