บล.ทรีนีตี้ ให้มุมมองทิศทางการลงทุนในตลาดหุ้นไทย
ทรีนีตี้มองตลาดหุ้นเดือนมีนาคมยังคงต้องจับตาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลกต่อไป หากยังทรงตัวในระดับสูงจะกดดันให้เงินทุนต่างชาติยังไม่ไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทย อย่างไรก็ดีสภาพคล่องในประเทศที่อยู่ในระดับสูงจะยังคงเป็นปัจจัยช่วยพยุงดัชนีหุ้นไทยไว้ได้ ทั้งนี้ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดได้แก่ ผลการเลือกตั้งอิตาลี การรายงานตัวเลข การจ้างงานของสหรัฐฯ และการประชุม FOMC ชี้ชะตาทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ ให้มุมมองทิศทางการลงทุนในตลาดหุ้นไทยสำหรับเดือนมีนาคมว่า มีปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของตลาดที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรหรือ Bond yield สหรัฐฯ โดยหาก Bond yield สหรัฐฯ รุ่นอายุ 10 ปียังคงยืนอยู่ในระดับสูงหรือสูงกว่า 2.8% คาด Fund flow หรือกระแสเงินทุนต่างชาติจะยังไม่มีทิศทางไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยมากนัก เนื่องจากValuation หรือมูลค่าของตลาดหุ้นไทยยังไม่ถูกสนับสนุนด้วยปัจจัยพื้นฐาน
เพราะประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.)หรือ EPS ยังไม่ได้ถูก Upgrade ขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญเหมือนกับตลาดหุ้นประเทศอื่นจึงทำให้ระดับ Earning yield gap (ส่วนต่างผลตอบแทนจากการลงทุนเทียบกับ Bond yield สหรัฐฯ) ของตลาดหุ้นไทยยังไม่อยู่ในระดับที่จูงใจในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ โดยล่าสุดอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี
แต่อย่างไรก็ดีด้วย Bond yield ของไทยที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ จึงทำให้ Earning yield gap ของ SET Index เมื่อเทียบกับ Bond yield ของไทยยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงค่าเฉลี่ย ทำให้นักลงทุนในประเทศไม่มีแรงจูงใจที่จะโยกเงินออกจากตลาดหุ้นเข้าสู่ตราสารหนี้แต่อย่างใด ประกอบกับสภาพคล่องภายในประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับสูง สะท้อนจากการเติบโตของปริมาณเงินที่ทำจุดสูงสุดในรอบ 2ปี จึงเป็นแรงที่ช่วยประคับประคอง SET Index ให้ทรงตัวอยู่ได้
นายณัฐชาตยังได้ประเมินถึงทิศทางของดัชนีหุ้นไทยว่า กรณีฐาน SET Index มีโอกาสน้อยที่จะหลุดแนวรับที่ 1,750–1,760จุด ซึ่งถือเป็นระดับต้นทุนดัชนีของนักลงทุนสถาบันในประเทศ ที่มีการเข้าซื้อหุ้นอย่างหนักนับตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมปีก่อนโดยหากดัชนีลงมาที่ระดับนี้ แนะนำให้ลดการถือเงินสดเพื่อมาลงทุนในหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับปัจจัยสำคัญอื่นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในเดือนนี้ ได้แก่ การเลือกตั้งทั่วไปของอิตาลีในวันที่ 4 มีนาคม หากกลุ่มพรรคฝ่ายกลาง-ขวาได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่จนจัดตั้งเป็นรัฐบาลได้ มองว่า กระแสหรือประเด็น Italyexit (การเรียกร้องให้อิตาลีออกจากการร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป) จะมีโอกาสกลับมาสร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้นได้อีกครั้ง
ปัจจัยสำคัญถัดมาที่ต้องติดตามได้แก่อัตราค่าจ้างรายชั่วโมงของสหรัฐฯ ที่จะประกาศออกมาในวันที่ 9 มีนาคม หากปรับตัวสูงขึ้นต่อ มีโอกาสทำให้ Bond yield สหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้นต่อเช่นกัน แต่หากการประชุมคณะกรรมการ ธนาคารกลางสหรัฐฯ(FOMC) ในวันที่ 20-21 มีนาคม มีการยืนยันผ่าน Dot plots ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ(Fed) จะยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ 3 ครั้ง ซึ่งเป็นระดับที่นักลงทุนในตลาดได้รับรู้ไปเกือบหมดแล้ว ประเมินว่า Bond yield สหรัฐฯ มีโอกาสทยอยปรับตัวลดลงลงหลังจากนั้นได้ ซึ่งจะส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง