IDE Center by UTCC ร่วมกับ กระทรวงการคลัง จัดทำหนังสือ “สูตรลับผู้ประกอบการฉบับนักเรียน” ส่งเสริมทักษะผู้ประกอบการให้นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาทั่วประเทศ
กรุงเทพฯ – ศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หรือ IDE Center by UTCC ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมบัญชีกลาง และธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) จัดทำหนังสือ “สูตรลับผู้ประกอบการฉบับนักเรียน” เพื่อพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมความรู้ความสามารถของเยาวชนไทยให้เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศอันจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่จะนำพาประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 ตามนโยบายของภาครัฐ
ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ (National Startup Committee: NSC) เปิดเผยว่า “คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ ได้ผลักดันให้มีการดำเนินการจัดตั้งโครงการ Startup Club ในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาใน 113 แห่ง ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และส่งเสริมให้เด็กนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษารู้จัก เข้าใจ และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์อย่างผู้ประการ ตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ทางคณะกรรมการฯ จึงมีแนวคิดในการจัดทำหนังสือ “สูตรลับผู้ประกอบการฉบับนักเรียน” ขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางในการเรียนรู้ทางด้านการเป็นผู้ประกอบการให้กับเยาวชนที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา”
ทางด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า “ศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หรือ IDE Center by UTCC ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางพื้นฐานการประกอบการผ่านหนังสือ “สูตรลับผู้ประกอบการฉบับนักเรียน” จากการที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยของประเทศไทยที่ได้เปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชาผู้ประกอบการมายาวนานกว่า 10 ปี และได้รับความร่วมมือด้านประสบการณ์ธุรกิจและแนวคิดเชิงปฏิบัติการจากผู้ประกอบการตัวจริง จึงทำให้หนังสือเล่มนี้ได้ถูกถอดรหัสมายด์เซ็ตของผู้ประกอบการเพื่อให้นักเรียนและเยาวชนรุ่นใหม่สามารถที่จะเรียนรู้แนวคิดพื้นฐานทางการประกอบการได้”
หนังสือ “สูตรลับผู้ประกอบการฉบับนักเรียน” เป็นหนังสือที่เกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ ที่มีนโยบายในการถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านการประกอบการให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ที่ยังเรียนรู้ในระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา โดยได้รวบรวมองค์ความรู้ แนวคิด และเรื่องเล่่าจากประสบการณ์ของผู้ประกอบการไทย มากลั่นกรองเนื้อหาให้มีความเหมาะสมสำหรับเยาวชนรุ่นใหม่ ซึ่งหนังสือเล่มนี้จะมีส่วนช่วยในการจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ และพัฒนาความเชื่อที่มีผลต่อพฤติกรรมหรือมายด์เซ็ตของเด็กและเยาวชนให้เข้าใจถึงหลักการประกอบการ การเข้าถึงโอกาสทางการประกอบการและกระบวนการสร้าง และพัฒนาความคิดและนวัตกรรม ทั้งนี้จากการตกตะกอนทางความคิดและองค์ความรู้ทางการประกอบการ หนังสือ “สูตรลับผู้ประกอบการฉบับนักเรียน” จึงถ่ายทอดเนื้อหาด้านแนวคิดและมุมมองที่สำคัญของผู้ประกอบการ ซึ่งในท้ายบทยังมือ Story Study เรื่องราวความสำเร็จของผู้ประกอบการชาวไทยให้ได้เรียนรู้อีกด้วย
“เด็กและเยาวชนเป็นวัยที่จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การพัฒนาศักยภาพและความรู้ความสามารถของเยาวชนให้เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์ส่ิ่งใหม่ ๆ ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศได้จึงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่จะนำพาประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 ตามนนโยบายของภาครัฐ คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือ “สูตรลับผู้ประกอบการฉบับนักเรียน” จะเป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างความรู้ด้านการประกอบการให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่ และเป็นแหล่่งความรู้ให้แก่หน่วยงานการศึกษาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนทั่วไปสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาเป็นผู้ประกอบการต่อไป” ดร. สมชัย สัจจพงษ์ กล่าวเสริม
“เยาวชนรุ่นใหม่ที่กำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนทั้งสายสามัญและสายอาชีวศึกษา ถือได้ว่าเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต ซึ่งการเสริมสร้างแนวคิดทางการประกอบการถือได้ว่าเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย เนื่องจากว่าการศึกษาในอดีตที่ผ่านมาต่างผลิตนักเรียนและนักศึกษามาเพื่อตอบโจทย์และทำงานในหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาลและภาคเอกชน ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ส่งผลทำให้เกิดธุรกิจในรูปแบบใหม่ที่ใช้นวัตกรรมเป็นแรงขับเคลื่อน จึงมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศจะต้องเตรียมองค์ความรู้ด้านการประกอบการให้กับเยาวชนรุ่นใหม่” รองศาสตราจารย์ ดร. เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวทิ้งท้าย