“แต่ง (กับ) งาน…ครั้งสุดท้าย” เจาะลึกคน Gen Y ค้นหางานที่ใช่ ทำอย่างไรให้ยั่งยืน
หากใครได้ดูไวรัลคลิป “การแต่งงาน..ครั้งสุดท้าย” จากไอเดียของ SCG หลายคนคงรู้สึกเหมือนกันว่า มันสะกิดใจ และกระตุกต่อมคิดคนทำงานยุคนี้ได้ชัดเจน ด้วยคีย์แมสเซจที่ ต้องการสื่อให้สังคมโดยเฉพาะ ‘ว่าที่คนทำงาน’ ตระหนักถึงมุมมองการทำงานว่าเปรียบเสมือนช่วงเวลาสำคัญของชีวิตไม่แตกต่างจากการเลือกคู่ครองที่ ‘ใช่’ หากเข้าใจในความเป็นตัวตนและมองเห็น “คุณค่าของกันและกัน” ก็จะทำให้ก็จะใช้ชีวิตร่วมกันอย่างราบรื่นมีความสุข
ยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง เอสซีจี เผยว่า ไม่อาจปฏิเสธได้ว่านี่คือยุคที่คน Gen Y จะเข้ามาสู่ภาคธุรกิจและตลาดแรงงานมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน 30% ของคนทำงานคือคนเจเนอเรชั่นวาย และคาดการณ์อีก 5 ปีจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 40% และอนาคตก็จะเต็มไปด้วยคน Gen Y ในองค์กร ซึ่งคุณลักษณะที่โดดเด่นของพวกเขาคือศักยภาพและความแตกต่าง สามารถปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับการทำงานได้ง่าย ใช้ชีวิตอยู่กับเทคโนโลยีจึงปรับตัวได้เร็ว และมีความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี เปิดรับความคิดเห็นต่างและสนุกกับการได้ท้าทายสิ่งใหม่
ตัวแทนของคนทำงานเจนเนอเรชั่นวาย อย่าง ปอนด์ – ศรันย์ ว่องวิชชกร วิศวกรควบคุมคุณภาพและวางแผนการผลิต บริษัท กระเบื้องกระดาษไทย จำกัด ในเครือเอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง กล่าวถึงมุมมองในการทำงานที่ใช่และยั่งยืนว่า “อย่ามองเพียงว่าเราจะได้อะไรจากบริษัท แต่อยากให้มองว่าบริษัทจะได้อะไรจากเรามากกว่า” เช่นเดียวกับ ท็อป-ลักษณ์ประไพ อยู่วัฒนา Assistant HR Manager เอสซีจี เคมิคอลส์ ที่ให้ความเห็นว่า “คนทำงานเองต้องคอยพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา และพยายามปรับตัวเองให้ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยการเปิดใจและเข้าใจเพื่อลดความขัดแย้งทางความคิดและช่วงวัย”
คนเจเนอเรชั่นวาย มียีนของความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้ประกอบการ หรือการทำธุรกิจ Startup ในปัจจุบัน พวกเขามีทางเลือกมากมายที่จะสร้างโลกการทำงานในฝันแบบที่ตัวเองต้องการ ไม่มีเหตุจำเป็นให้ต้องเป็นมนุษย์เงินเดือนเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่แล้วทำไมหลายคนยังต้องค้นหาองค์กรที่ใช่ เพื่อเข้าไปทำงานอยู่อีก
ตัวแทนคนทำงานGen Y ที่มีประสบการณ์ทั้งการเรียนและทำธุรกิจสตาร์ทอัพอย่าง แน่น – ภูมิพงษ์ ตันเจริญผล Assistant Digital Fund Manager เอสซีจี ให้ความเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการหรือพนักงานองค์กร การมี ‘หัวใจ’ เป็นสตาร์ทอัพต่างหากที่สำคัญ คนทำงานทุกคนต้องมีความคิดแบบผู้ประกอบการ เสมือนตัวเองเป็นเจ้าของกิจการนั้นเอง เพื่อผลักดันให้ความมุ่งมั่น กระตือรือร้น ทะเยอทะยาน เป็นตัวสร้างการพัฒนาและต่อยอดนวัตกรรมใหม่ไม่รู้จบ แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง การใช้หัวใจสตาร์ทอัพทำงานในองค์กรอาจมีข้อดีที่มากกว่า เพราะไอเดียของตัวเอง บวกกับมีคนช่วยกันวิเคราะห์ แก้ปัญหาและร่วมปรึกษา อาจสร้างผลลัพธ์ที่ใหญ่กว่าและเห็นผลได้เร็วกว่านั่นเอง หลายคนมีโอกาสเปลี่ยน ‘ผลงาน’ ที่ทำให้กับองค์กร
ไปเป็น ‘ธุรกิจ’ ได้จริง เช่นเดียวกับ โอ๋-อุษา แก้วพิทักษ์คุณ Account Executive-High Definition Product บริษัทกลุ่มสยามบรรจุภัณฑ์ จำกัด ในเครือ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง กล่าวว่า คนทำงานไม่จำเป็นต้องเอาตัวเองไปเสี่ยงเป็นผู้ประกอบการทั้งที่ยังไม่มีประสบการณ์มากพอ จะดีกว่าไหมหากเรานำความรู้ที่ได้จากองค์กรไปต่อยอดธุรกิจที่ตนเองสนใจมากกว่า
เมื่อสถานการณ์คน Gen Y มีอิทธิพลต่อตลาดแรงงาน กิติ มาดิลกโกวิท ผู้อำนวยการสำนักงานการบุคคลกลาง เอสซีจี ให้ความเห็นว่า สิ่งที่องค์กรต้องทำคือการปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทำงาน ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรบางอย่างให้เหมาะสม กระบวนการบังคับบัญชาควรมุ่งเน้นการเป็นที่ปรึกษาหรือโค้ชมากกว่า ชี้นิ้วสั่ง
“เหตุผลที่องค์กร ต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ใช่เพียงโฟกัสแค่คน Gen Y เท่านั้น แต่ในอนาคตก็จะมี Gen Z, Gen Me และอื่นๆ อีกทั้งความคาดหวังของคนก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือต้องยึดมั่นในอุดมการณ์ขององค์กร มีความชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามปรับองค์กรเพื่อให้ทุกคนทำงานอย่างมีความสุข ควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่าที่ตรงกันทั้งตัวพนักงานเองและองค์กรด้วยนั่นเอง”