โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน จ. ฉะเชิงเทรา
โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน จ. ฉะเชิงเทรา
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และโฆษกกระทรวงพลังงาน ระบุ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน จ. ฉะเชิงเทรา เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่มีกำลังการผลิต 540 เมกะวัตต์ โดยโครงการฯ ได้จัดทำแบบประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) เรียบร้อยแล้ว และได้ดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) นำเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และปัจจุบัน EHIA ยังไม่ผ่านการพิจารณาของ คชก. จึงยังไม่มีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ซึ่งคาดว่า คชก. จะใช้เวลาในการพิจารณาค่อนข้างนาน อาจส่งผลให้โรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าวไม่สามารถผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้ทันตามกำหนดในปี 2560 ได้
สำหรับประเด็นข่าวที่ระบุว่าประเทศไทยมีพลังงานสำรองล้นเกินจนถึงปี 2575 นั้น นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และโฆษกกระทรวงพลังงาน ได้ชี้แจงให้ทราบว่า จากข้อมูลการประมาณการภายใต้สมมติฐานในการจัดทำ PDP 2015 กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองในช่วงแรกของแผนจะสูงประมาณ 25 – 32 % หลังจากปี 2568 จะเริ่มลดลงและเข้าสู่ 15 % ในปี 2575 จนถึงปี 2579 ทั้งนี้ อันมีสาเหตุจาก (1) การปรับค่าพยากรณ์ GDP ของประเทศที่ลดลงจากเดิม 4.49 % เป็น 3.94 % ส่งผลให้การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง (2) การนำผลประหยัดจากแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP 2015) มาใช้เพิ่มขึ้นจากเดิม 20% เป็น 100% คิดเป็นเป้าหมายแผน EEP 2015 เป็น 89,672 ล้านหน่วย หรือลดการใช้ไฟฟ้าลงประมาณ 10,000 เมกะวัตต์ ในปี 2579 (3) แผน PDP 2015 มีโรงไฟฟ้าที่มีภาระผูกพันแล้วจากแผน PDP 2010 Rev.3 รวมถึงมีโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าของ กฟผ. (ภาคใต้/ภาคกลาง) ในรูปแบบของ IPP SPP VSPP และของ กฟผ. จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโรงไฟฟ้าที่มีภาระผูกพันเหล่านี้ได้ (4) เป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจาก RE เพิ่มขึ้นจาก 8% เป็น 20% (ณ ปี 2579) จึงจำเป็นที่จะต้องมีโรงไฟฟ้าสำรองเผื่อไว้ เนื่องจาก RE ยังมีความไม่แน่นอนสูงในการผลิตไฟฟ้า