1

ความหนาแน่นเนื้อเยื่อเต้านมสูง ทำให้ผู้หญิงเอเชีย เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น 4-6 เท่า

อย่าละเลย อย่ากลัวที่จะเข้ารับการตรวจคัดกรอง
รู้เร็วในระยะเริ่มต้น สามารถช่วยชีวิตคุณได้

ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิง โดยพบในผู้หญิงมากกว่า 2 ล้านคนในแต่ละปี ซึ่งสอดคล้องกับในประเทศไทยที่มะเร็งเต้านมเป็นหนึ่งในห้าอันดับแรกของโรคมะเร็งที่สร้างภาระให้กับภาคสาธารณสุข และเป็นมะเร็งอันดับหนึ่งในผู้หญิงไทย ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่า ในปี 2560 มีผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม 38.73% ของโรคมะเร็งทั้งหมดที่พบในผู้หญิง และคาดการณ์ว่าจะคงอยู่ในลำดับสูงสุดไปจนถึงปี 2568

เต้านมประกอบด้วยไขมันและเนื้อเยื่อเต้านม ความหนาแน่นเนื้อเยื่อเต้านมสูงหมายถึงการที่เต้านมมีส่วนประกอบของเนื้อเยื่อเต้านมมากกว่า 50% ซึ่งพบมากในผู้หญิงเอเชีย นอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมได้แล้ว เนื้อเยื่อเต้านมที่สูงนี้อาจลดความแม่นยำของการตรวจแมมโมแกรมได้

ความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านม ไม่สามารถระบุได้โดยการคลำตรวจหรือโดยดูรูปร่างภายนอกของเต้านม แต่สามารถระบุได้จากการตรวจด้วยแมมโมแกรม แม้ว่าการทำแมมโมแกรมจะเป็นการตรวจมาตรฐาน แต่ในผู้ที่มีเนื้อเต้านมที่มีความหนาแน่นสูง จะทำให้ความไวในการตรวจแมมโมแกรมลดลง ทั้งนี้รังสีแพทย์จะประเมินความหนาแน่นของเนื้อเต้านมขณะที่ทำการวินิจฉัยภาพแมมโมแกรม

นายแพทย์เฉลิมเดช กรรณวัฒน์ รังสีแพทย์ ศูนย์ถันยรักษ์ ให้ข้อมูลว่า “มะเร็งเต้านมในระยะแรก อาจจะยังไม่มีอาการ ถ้ามะเร็งเต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้นผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการคลำได้ก้อนในเต้านม โดยก้อนที่คลำได้มักไม่เจ็บ อาการอื่นๆ ของมะเร็งเต้านมที่อาจพบได้ เช่น มีการเปลี่ยนแปลงที่หัวนม เช่น หัวนมบุ๋ม มีเลือดออกจากหัวนม มีการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนัง ขนาดของเต้านมมีการเปลี่ยนแปลง หรือมีการบวมอักเสบ ถ้ามะเร็งลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง อาจคลำได้ก้อนที่รักแร้
ในการคัดกรองหามะเร็งเต้านม วิธีที่เป็นวิธีมาตรฐาน คือ การตรวจด้วยแมมโมแกรม อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงไทยมักจะมีความหนาแน่นเนื้อเยื่อเต้านมที่สูง ทำให้ลดความแม่นยำของการตรวจด้วยแมมโมแกรม เราจึงมักจะตรวจด้วยอัลตราซาวด์ควบคู่ไปกับแมมโมแกรม เพื่อเพิ่มโอกาสในการตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะต้นๆ
การตรวจหามะเร็งเต้านมให้พบตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกมีความสำคัญมากเพราะจะทำให้ผลการรักษาดีกว่า มีทางเลือกในการรักษามากกว่า อัตราการเสียชีวิตน้อยกว่า เช่น หากมะเร็งเกิดอยู่ในบริเวณเต้านมเท่านั้น ไม่ได้ลามไปที่อื่น อัตราการรอดชีวิตในระยะ 5 ปี จะมากกว่า 92% แต่หากมะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง อัตราการรอดชีวิตในระยะ 5 ปีจะลดลงเหลือ 84% และหากมะเร็งแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย อัตราการรอดชีวิตในระยะ 5 ปีจะเหลืออยู่เพียง 27% เท่านั้น
สำหรับคำแนะนำในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม โดยทั่วไปจะแนะนำให้เริ่มตรวจตอนอายุ 40 ปี (สำหรับศูนย์ถันยรักษ์ แนะนำให้เริ่มตรวจเมื่ออายุ 35 ปี) หลังจากนั้นให้ตรวจเป็นประจำทุกปี หรือตามที่แพทย์แนะนำ”

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมยังคงสูงในประเทศที่กำลังพัฒนา และประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ คือการวินิจฉัยโรคที่ช้าเกินไป ผู้หญิงทุกคนจึงควรตระหนักถึงเรื่องนี้

มีผู้เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมบางท่านเข้ามารับการตรวจเมื่ออายุมากแล้วโดยมีเหตุผลที่ฟังดูเหมือนเรื่องธรรมดาคือกลัว กลัวสองกลัว คือกลัวเจ็บเวลารับการตรวจเพราะได้ยินได้ฟังคนอื่นมา และกลัวว่าเมื่อตรวจแล้วพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งเต้านมจะทำอย่างไร จะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร เรื่องที่ดูเหมือนจะธรรมดานี้สร้างความกังวลให้กับผู้เข้ารับการตรวจท่านนี้เป็นเวลานาน กว่าที่จะตัดสินใจเข้ารับการตรวจก็มีอายุ 50 ปี และเมื่อตรวจด้วยแมมโมแกรมแล้ว พบว่ามีความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมสูง แพทย์จึงส่งตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ และผลที่ออกมาคือไม่เป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นการปลดความกังวลทั้งปวงที่มีมานาน และสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างสบายใจ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แล้วทำไมเราจึงไม่ขจัดความกังวลเสียตั้งแต่ต้น

ดังนั้นจึงเชิญชวนให้ผู้หญิงมาเข้ารับการตรวจโดยไม่ต้องกังวลใดๆ เพราะเทคโนโลยีหลากหลายที่ทันสมัยในปัจจุบันช่วยในการวินิจฉัยสะดวก รวดเร็ว และสร้างความสบายใจให้ผู้เข้ารับการตรวจได้อย่างดี และแน่นอนว่า หากตรวจพบได้เร็วเท่าใดความสำเร็จในการรักษาก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น

ดร. ราจาน คาลีดินดี ผู้จัดการใหญ่ จีอี เฮลธ์แคร์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า หนึ่งในเทคโนโลยีด้านการตรวจวินิจฉัยเต้านมของ จีอี เฮลท์แคร์ ที่ช่วยเปลี่ยนแปลงการวินิจฉัยและการรักษามะเร็งเต้านมจากแบบตั้งรับไปสู่แบบเชิงรุก คือเครื่องอัลตราซาวด์เต้านมสามมิติแบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่นำมาใช้เพื่อตรวจเต้านมเพิ่มเติมจากการตรวจด้วยแมมโมแกรม เครื่องมือที่ทันสมัยนี้ช่วยให้ความสะดวกสบาย ไม่ใช้รังสี และได้รับการพัฒนาเพื่อการตรวจคัดกรองเต้านมที่มีความหนาแน่นสูงได้ภายในเวลาประมาณ 15 นาทีเท่านั้น ทั้งยังได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับสรีระของผู้หญิงด้วยรูปทรงและขนาดที่แนบสนิทกับเต้านมเพื่อช่วยลดแรงกดสัมผัสขณะตรวจวัด การทำงานแบบอัตโนมัติช่วยลดข้อผิดพลาด เพิ่มความแม่นยำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจ ลดความกังวลของผู้เข้ารับการคัดกรองและทำให้ไม่กลัวที่จะเข้ารับการตรวจอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับประเทศไทยเป็นที่ทราบกันว่าปัจจุบัน คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) ได้บรรจุให้การรักษาโรคมะเร็งเป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) โดยจะดูแลครอบคลุมมะเร็งทุกประเภทรวมถึงมะเร็งเต้านม

ข้อมูลจาก สปสช ระบุว่า ช่วงปี 2559-2561 มีการเบิกจ่ายค่าบริการโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 4,117,504 ครั้ง และชดเชยค่ารักษา 26,679 ล้านบาท โดย 5 อันดับแรกของโรคมะเร็งที่มีผู้ป่วยเข้ารับบริการมากที่สุดคือมะเร็งเต้านม มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด และมะเร็งปากมดลูก ดังนั้น นอกจากการที่ภาครัฐให้การสนับสนุนด้านค่าใช้จ่ายในการรักษา การใช้เทคโนโลยีในการตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำแล้ว การสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการตรวจหามะเร็งเต้านมแต่เนิ่นๆ มีความสำคัญมาก และผู้หญิงทุกคนควรทราบถึงความเสี่ยงของตน เช่น อายุ ประวัติคนในครอบครัว ความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านม และพฤติกรรมการใช้ชีวิต ข้อมูลเหล่านี้ประกอบกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมได้อย่างมีนัยสำคัญ