สศอ.ร่วมกับสถาบันฯสิ่งทอ ประกาศผลสิ่งทอสร้างสรรค์ CTA 2017 ดึงนวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพยกระดับคุณภาพชีวิตพร้อมดันสู่ตลาดสากล
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ร่วมกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เฟ้นหาดีไซเนอร์หน้าใหม่ ดึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีสร้างสรรค์สิ่งทอยกระดับคุณภาพชีวิตมุ่งตอบโจทย์ด้านสุขภาพและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ในเวที Creative Textiles Award 2017 พร้อมปั้นนักออกแบบสู่เส้นทางผู้ประกอบการและเจ้าของแบรนด์ รองรับการเติบโตอุตสาหกรรมสิ่งทอแฟชั่นไทย 4.0 ตั้งเป้าสร้างโอกาสและยอดขายในตลาดสากล
นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยในงานตัดสินโครงการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอเชิงสร้างสรรค์ (Creative Textiles Award :CTA 2017) ว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้สนับสนุนการจัดกิจกรรมดังกล่าว ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพอุตสาหกรรมสิ่งทอ ประจำปีงบประมาณ 2560 ตามแผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม พ.ศ. 2559-2564 เพื่อส่งเสริมการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และกระตุ้นการรับรู้ต่อสาธารณะ พร้อมประชาสัมพันธ์เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไปสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างครบวงจร ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ โดยการประกวดครั้งนี้ ได้คัดเลือกจากผลงานที่เสนอเข้าประกวด 195 ผลงานจนเหลือ 10 ผลงานที่ตอบโจทย์โครงการฯ ภายใต้แนวคิด “Wellness Design ยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยสุนทรียะแห่งอนาคต โดยส่งเสริมนักออกแบบรุ่นใหม่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี และแนวคิดและการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปสู่การขายในตลาดได้จริง เตรียมพร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นและอุตสาหกรรมต่อเนื่องแบบยั่งยืน นำไปสู่การรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ในอนาคต
ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า สำหรับหลักเกณฑ์การประกวดนั้น ผู้ประกวดต้องเกิดแรงบันดาลใจ ในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนาและประยุกต์ใช้ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ผสมผสานกับแนวคิดที่มีความสร้างสรรค์ เพื่อสร้างคอลเลคชั่น โดยเลือกหัวข้อเพื่อการออกแบบเครื่องแต่งกายที่สอดคล้องกับ สิ่งทอคุณสมบัติพิเศษกันยุง สิ่งทอคุณสมบัติพิเศษกันไฟ หรือ สิ่งทออัจฉริยะ (Smart Textile) เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คุณภาพชีวิตยุค 4.0 ไม่ว่าจะเป็นการนำเอาวัตถุดิบทางธรรมชาติหรือวัสดุเหลือใช้มาเป็นองค์ประกอบในการออกแบบ และพัฒนาเป็นสิ่งทอเพื่อสุขภาพ หรือสิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งออกแบบมีความเป็นไปได้ทางการตลาด โดยรางวัลในปีนี้ ประกอบไปด้วย
รางวัลชนะเลิศ จำนวน 1 รางวัล ได้รับเงินสดจำนวน 100,000 บาท พร้อมโล่ ประกาศนียบัตร
รางวัลรองชนะเลิศ จำนวน 2 รางวัล ได้รับเงินสดรางวัลละ 30,000 บาท พร้อมโล่ และประกาศนียบัตร
โดยทั้งรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศจะได้ เดินทางไปร่วมจัดแสดงนิทรรศการเพื่อสร้างโอกาสทางการตลาด ในงาน Hong Kong Fashion Week for Spring/Summer 2017 ระหว่างวันที่ 10 -13 กรกฎาคม 2560 ณ Hong Kong Convention Centre เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของตลาดแฟชั่นในเอเชีย ด้วยความร่วมมือกับองค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (HKTDC) รวมมูลค่ารางวัลทั้งสิ้นกว่า 500,000 บาท ทั้งนี้ ผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศยังได้รับโอกาสในการเผยแพร่ผลงานในนิตยสาร L’OFFICIEL อีกด้วย สำหรับกิจกรรมนี้ถือเป็นการสร้างโอกาสที่หลากหลายให้กับนักออกแบบผู้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่กระบวนการคิดผลิตภัณฑ์ (Start up) จนถึงกระบวนการขาย เพื่อผลักดันนักออกแบบรุ่นใหม่สู่การเป็นผู้ประกอบการและเจ้าของแบรนด์ (Young Design Entrepreneur) อย่างเต็มตัว” ดร.ชาญชัย กล่าว
โดยผลงานผู้เข้ารอบ Creative Textiles Award 2017 รอบชิงชนะเลิศมีทั้งหมด 10 ผลงานสุดท้าย และผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคือ
CTA 065 กมลา กรรณเลขา ผลงาน Life.Lux.Utility
“คุณแม่ทำงานยุคใหม่” ในยุคที่คนมีลูกน้อยจนกลายเป็นปัญหาระดับชาติ คุณภาพของชีวิตใหม่จึงสำคัญมาก และทุกวันแม่ที่ทำงานต้องเผชิญมลภาวะ เชื้อโรค ซึ่งทำร้ายทารกในครรภ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในฐานะดีไซน์เนอร์ จึงตั้งเป้าหมายที่จะทำเสื้อผ้าและกระเป๋าที่ให้มากกว่าแค่ความงาม…แต่ยังแก้ปัญหาให้แม่ทำงาน และมีส่วนช่วยสังคมได้ด้วย
เทคนิคพิเศษ
– การผสานสารกำจัดมลภาวะและเชื้อโรค อย่าง Nano-Silica & ZOT เข้าไปในเนื้อผ้า ไม่ให้มลภาวะเชื้อโรคเข้าถึงตัวแม่
– มีช่อง เปิด/ปิด สำหรับให้นมและปั้มนมอย่างสะดวกสบาย
– สี ทรง และเส้นดีไซน์ช่วยนำสายตา พรางรูปร่างช่วงท้องและสะโพก ให้ดู
เพรียวขึ้น ให้มีมีStyleที่มั่นใจ ไม่เหมือนแม่ทั่วไป
และรางวัลรองชนะเลิศ 2 รางวัล ได้แก่
CTA 117 กฤษดา รัตนางกูร ผลงาน The Wearable Art
ศิลปะเป็นสิ่งที่มนุษย์รังสรรค์ขึ้น เพื่อสื่อสารกับบุคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นด้านอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ บ่งบอกถึงห้วงอารมณ์และแรงบันดาลใจ ความสุข ความเศร้าในช่วงเวลานั้นๆ การทอผ้าก็ถือเป็นศิลปวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ในอดีตผู้หญิงจะทอผ้าใช้เองในครัวเรือน และได้มีการพัฒนารูปแบบ ลวดลาย สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น แฟชั่นก็ถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นเช่นเดียวกัน เพื่อสุนทรียะ เพื่อนำเสนอตัวตน บ่งบอกถึงฐานะทางสังคม และการดำรงอยู่ในสังคมอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ผู้ออกแบบจึงได้นำเอางานศิลปะทั้งสามอย่างนี้มาผสมผสาน เพื่อนำเสนอความสวยงามที่เป็นรูปแบบของเครื่องแต่งกายพิเศษที่บ่งบอกถึงรสนิยม ความสวยงามโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในขณะเดียวกันยังสามารถป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาอีกด้วย
เทคนิคพิเศษ
– finishing กันยุง
– finishing สะท้อนน้ำ
– สาร Silica จากแกลบและรำข้าว (ซึ่งเป็นของเหลือทิ้งจากภาคการเกษตร)
และ CTA 160 พัชโรจน์ ช้างวัน ผลงาน CHAMOUFLAGE
ได้รับแรงบันดาลใจจากกิ้งก่า สัตว์ในป่าที่รอดพ้นจากอันตรายต่างๆ จากความพิเศษของผิวหนัง สามารถอำพรางตัว ปรับสีให้กลมกลืนกับธรรมชาติ และผิวหนังยังมีคุณสมบัติสะท้อนน้ำด้วยจึงได้นำความสามารถของกิ้งก่า มาออกแบบสู่ผ้าและเครื่องแต่งกายมนุษย์ ที่ประกอบไปด้วยคุณสมบัติและความสวยงามตามแรงบันดาลใจ
เทคนิคพิเศษ
– ใช้เส้นใย kevlar, carbon yarn มาทอมือผสมผสานกับการออกแบบ
ลายทอมัดหมี่ที่มีต้นแบบจากลายขิดมีรอด ทอผสมผสานให้เกิดลวดลาย และพื้นผิวผ้าที่น่าสนใจ เพิ่มประโยชน์และคุณสมบัติใหม่ๆให้กับผ้าไทย และใช้เทคโนโลยี Organo Tex หรือการทำผ้าสะท้อนน้ำเพื่อเพิ่มโอกาสการใช้งานให้กับเครื่องแต่งกาย.
โดยผลงานที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศและได้รับประกาศนียบัตร ประกอบไปด้วย
CTA 050 ธเนศ แสนใหม่ ผลงาน Passion is not the end
Occultism ความต้องการ ของมนุษย์ไม่เคยสิ้นสุด ดั่งเช่น ความต้องการของหญิงสาวที่อยากจะเป็นผู้ที่ถูก ปรารถนาจาก คนรอบข้าง ด้วยพลังมหาเสน่ห์ โดยวิธีการต่างๆทางไสยศาสตร์ เช่น การสักยันต์อาคม มหาเสน่ห์ พิธีกรรม เครื่องราง ของขลัง เพื่อให้ตนเป็นที่ต้องการของคนอื่นๆ เป็นที่นิยมชมชอบแต่ด้วยเหตุผลหลายๆอย่างเธอก็ไม่อาจแสดงให้เห็นว่าเธอนั้นรับพลังเหล่านั้นมาจะเห็นก็ต่อเมื่อถึงเวลาของมัน แต่ทุกสิ่งอย่างนั้นการจะได้มาต้องมีการแลกเปลี่ยน ด้วยการผูกมัดกับข้อปฏิบัติ และข้อห้ามอีกมาก เพื่อพลังที่รับมา
เทคนิคพิเศษ
– เทคนิคหลักของงานครั้งนี้คือการนำเรื่องของสารเรืองแสง และผ้าสะท้อน
แสง นำมาเสนอในรูปแบบเทคนิคทางแฟชั่นต่างๆ ที่จะสร้างความปลอดภัย
ในชีวิตประจำวัน และเรียบเนียนไปกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การนำตัว
ด้ายเรืองแสงมาปัก การนำผ้าสะท้อนแสงมาใช้ในเสื้อผ้า
– ผ้า ไนล่อน ผ้าไนล่อนเคลือบสะท้อนแสง ผ้ายืดสเปนเด็กซ์ ผ้าชีฟอง ผ้ายีนส์
ขาว ไหมเรืองแสง ด้ายสะท้อนแสง ปลอกใส่ตะกรุด
CTA 105 พีรดนย์ ก้อนทอง ผลงาน Rhythm of Surround
หัตกรรมทุนวัฒนธรรมภูมิปัญญาการทอผ้าที่สืบทอกันมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งใช้กรรมวิธีและวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่นการย้อมสีจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ การหมักโคลน การนึ่งผ้าเพื่อถนอมเส้นใยและไล่แมลงแบบโบราณ โดยนําเส้นใยมาทอในรูปแบบงานหัตกรรมจนได้ผ้าผืนที่ผลิตด้วยกรรมวิธีธรรมชาติ (ECO TEXTILE) และการเพิ่มคุณสมบัติพิเศษด้วยเทคโนโลยี การป้องกันยุงของสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอมาต่อยอดในรูปแบบของผลิตภัณฑ์แฟชั่นกันยุง ผลงานคอลเลคชั่น Rhythm of Surround ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก จังหวะรอบล้อมในธรรมชาติ ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆผ่านอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งการดําเนินชีวิตของมนุษย์ที่สร้างเรื่องราวภูมิปัญญาในการดํารงชีวิตจังหวะเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างๆและนําไปสู่การพัฒนาในอนาคตจากการสร้างสรรค์ของธรรมชาติและมนุษย์ NATURE IS FUTURE ธรรมชาติสร้างเรื่องราวต่อยอดไปสู่อนาคต
เทคนิคพิเศษ
– finishing กันยุง
– การย้อมสีจากมะเกลือ คราม
– การหมักโคลน
– การนึ่งผ้าด้วยสมุนไพร
CTA 108 พิชญา วงศ์ศิริ ผลงาน DISGUISE
DISGUISE ซึ่งมีแรงบันดาลใจมาจากการพรางตัวของปลาหมึกที่มีต่อสภาพเเวดล้อมอันโหดร้ายภายนอก การเตือนภัยและการเอาตัวรอด มาประยุกต์ให้เข้ากับเสื้อผ้าที่เป็น beach wear ที่สามารถเตือนผู้สวมใส่ได้ว่าอยู่ในช่วงที่มีแดดร้อนเกินไป
เทคนิคพิเศษ
– เทคนิคที่ใช้คือการใช้พิกเมนท์สีล่องหนและจะมีปฏิกิริยากับเเสงเเดด และการ
ทำเสื้อผ้าที่สามารถสวมใส่ได้จริง โดยใช้เทคนิคลายปริ้นท์สีสันสดใสเพื่อไม่
ดึงดูดแสงเเดดจนเกินไป ถ้าหากมีความร้อนจะทำให้ลายที่ซ่อนอยู่เเสดงออก
มาจากตัวผ้า
CTA 114 เอกวัฒน์ ศิริชัยเอกวัฒน์ ผลงาน The Bonded Support
ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก form ของคอร์เซ็ท ประกอบกับ function ของเข็มขัดพยุงหลัง โดยนำมาปรับเข้ากับเครื่องแต่งกายสำหรับผู้หญิงที่ต้องทำงานในออฟฟิส อีกทั้งได้นำแนวคิดของการแต่งกายแบบ Power Dressing ในช่วงทศวรรษ 1980 มาใช้เป็นแนวทางในการออกแบบ เป็นเครื่องแต่งกายที่มี mood&tone แบบ contrast ระหว่าง masculine, feminine
เทคนิคพิเศษ
– เทคนิคที่ใช้ในผลงานหลักคือการนำเอาโครงสร้างและ form ของคอร์เซ็ท มาปรับให้มี function ที่ช่วยบรรเทาและพยุงอาการปวดหลัง ประกอบกับ นำผ้าที่มีความยืดหยุ่นเพื่อช่วยกระชับและยึดเกาะผู้สวมใส่
CTA 119 พรชนก ดิบดี ผลงาน No More I Love you
ได้แรงบันดาลใจจาก ความทรมานของผู้เสพติดบุหรี่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและปัจจุบันปริมาณของผู้สูบบุหรี่มีจำนวนสูงขึ้น และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง หนึ่งในนั้นมีผู้หญิงมากมายที่ต้องการเลิกบุหรี่ และต้องพบกับความยากลำบากเมื่อต้องการเลิก แต่ร่างกายยังต้องการนิโคตินซึ่งเป็นสารประกอบหลักในบุหรี่ ผู้ออกแบบได้ทำความเข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายเหล่านั้น โดยนำแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง Eternal sunshine and the spotless mind ซึ่งเป็นเรื่องราวของคู่รักที่พยายามจะลืมกันและพบว่ามันยากมากๆ จึงได้นำเสื้อผ้าสไตล์ Boyish มาใช้ออกแบบให้เข้ากับ Street style ที่สวมใส่ง่ายและเป็นเทรนด์ที่นิยมในปัจจุบัน
เทคนิคพิเศษ
– ใช้เทคโนโลยีการการเคลือบผ้าด้วยสารนิโคตินและ Acrylic Resin คล้ายกับการสกรีน ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากการใช้แผ่นแปะนิโคตินซึ่ง เป็นหนึ่งในวิธีการเลิกบุหรี่โดยการใช้สารทดแทนที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษและบรรเทาอาการอยากบุหรี่
CTA 121 ภิญญ์ ประดิษฐ์แท่น ผลงาน Oriental barrier
Oriental Barrier ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายที่สามารถใช้ป้องกันยุงได้ โดยได้นำวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นมาใช้เป็นแรงบันดาลใจ คือ วัฒนธรรมกายแต่งกายอย่างชุดกิโมโน และ วัฒนธรรมที่อยู่อาศัยที่นิยมสร้างโดยการจำลองธรรมชาติ ทั้งแหล่งน้ำ และ ต้นไม้ ซึ่งทำให้เป็นต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตเช่นยุง จึงได้นำวัฒนธรรมทั้ง 2อย่างมาพัฒนาต่อยอดเป็นเครื่องแต่งกายที่ทันสมัยและมีคุณสมบัติพิเศษ
เทคนิคพิเศษ
– ใช้ผ้าที่เคลือบสาร Pyrethrin ซึ่งเป็นสารที่เป็นธรรมชาติไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์แต่มีคุณสมบัติที่สามารถป้องกันยุงได้ อีกทั้งส่วนมากจะใช้เทคนิคที่ดึงมาจากชุดกิโมโนคือการผูกการมัดต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการทำเป็น ช่องไว้ให้เพื่อให้ผ้าอีกชิ้นมาลอดผ่านกันไว้เป็นการล็อคกันแทนที่จะใช้กระดุม หรือวัสดุอื่นมายึดติดกันไว้ ส่วนสีที่ใช้ส่วนมากจะใช้ในสีอ่อนซึ่งเป็นสีที่ให้ความรู้สึกสบายและปลอดภัยจากยุงเนื่องจากยุงจะมองเป็นได้ดีแค่เฉพาะในสีเข้มๆ
CTA 174 นพรัตน์ ตาละสา ผลงาน Not to the End
PHOTOSYNTHESIS “การสังเคราะห์แสง” กระบวนการแห่งชีวิต ที่สร้างสรรค์สรรพสิ่งทางธรรมชาติ ให้เกิดความหลากหลาย และยั่งยืน (Sustainable) อย่างไม่จบสิ้น จากแรงบันดาลใจสู่ผลงานแฟชั่น ที่ใช้หลักการดำเนินชีวิตโดยอาศัยพลังงานทางธรรมชาติ โดยการนำเอาแผ่นโซลาร์เซลล์ชนิดบาง มาทอยึดติดกับ เส้นด้ายที่มีพื้นผิวพิเศษ (อาจเป็นได้ทั้งใยธรรมชาติหรือใยสังเคราะห์) สำหรับนำมาประกอบบน เครื่องแต่งกายรูปแบบ Official & Private ที่สามารถสวมใส่ได้จริง เหมาะกับ กลุ่มคนในปัจจุบันที่มีความเร่งรีบและดำเนินชีวิตควบคู่ระบบเทคโนโลยี จึงเป็นเหตุที่จะได้ประโยชน์จากผลงานใน รูปแบบของ พลังงานสำรอง (พลังงานที่ใช้ในยามฉุกเฉิน)
เทคนิคพิเศษ
– การใช้แผงโซล่าเซลล์ขนาดเล็ก (5V) เชื่อมติดบน เครื่องแต่งกาย
– การใช้เส้นใยฝ้ายปลอดสารพิษจากบ้านกกบก จังหวัดเลย นำมาฟอกขาว และทอให้เกิดโครงสร้างแบบริบ หรือลูกฟูก
– ใช้เส้นด้ายพิเศษทอมือให้เกิดลวดลายผ้าทอ แบบร่วมสมัย
โดยผลงานทั้งหมดจะจัดแสดงในนิทรรศการสุดยอดผลงาน Creative Textiles Award 2017 “Wellness Design” จากดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่กันนะคะ ตั้งแต่ 27 มิ.ย. – 2 ก.ค.นี้ 10.00 – 20.00 น. ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร งานนี้ผลงานดี ๆ มีครีเอท แฟชั่นมาพร้อมฟังก์ชั่น ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ยุค 4.0 จริงค่ะ
http://www.thaitextile.org/index.php/blog/2017/06/CTA2017