1

12 องค์กรเอกชนไทย ผนึกความร่วมมือสานพลังประชารัฐด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำเปิดตัว “คอนเน็กซ์-อีดี”

110-3_15

12 องค์กรเอกชนไทย ผนึกความร่วมมือสานพลังประชารัฐด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำเปิดตัว “คอนเน็กซ์-อีดี” โครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืนนำร่อง 1,000 ผู้นำรุ่นใหม่ เข้าร่วมวางแผนพัฒนาการศึกษากับผู้บริหาร 3,342 โรงเรียนทั่วประเทศ

นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของโครงการสานพลังประชารัฐ กลุ่มการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ซึ่งนำโดยพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ และนายศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน โดยความคืบหน้าล่าสุด ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนชั้นนำของไทย 12 องค์กร ก่อตั้ง “โครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน” (CONNEXT ED) หรือ คอนเน็กซ์-อีดี ที่ให้การสนับสนุน ส่งบุคลากรภายในสังกัด ซึ่งเป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยความสามารถและมีอุดมการณ์ที่มุ่งมั่น เข้าร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาพื้นฐานของประเทศ ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง ทั้งลงพื้นที่ ทำงานร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษาในโครงการประชารัฐในการวางแผนพัฒนาโรงเรียน โดยจะนำร่องที่ 3,342 แห่งทั่วประเทศ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จในการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพการศึกษาของประเทศ

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ โครงการ CONNEXT ED ได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชนของทั้ง 12 องค์กรใหญ่ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กลุ่มมิตรผล บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป บมจ. ปตท. กลุ่มเซ็นทรัล บมจ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) บมจ. ซีพี ออลล์ และบมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น โดยได้รับเกียรติจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมปาฐกถาพิเศษ ณ ทำเนียบรัฐบาล

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “สิ่งหนึ่งที่จะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพให้กับทรัพยากรมนุษย์ของประเทศชาติ คือ การศึกษา ซึ่งความร่วมมือโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืนหรือCONNEXT ED จะเป็นการขับเคลื่อนด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตของชาติ ด้วยการสนับสนุนในทุกมิติสำหรับการวางรากฐานด้านการศึกษาของประเทศ ซึ่งไม่ใช่เป็นภาระหน้าที่แต่เพียงของครู ผู้ปกครอง และรัฐ เท่านั้น ภาคเอกชน ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ควรร่วมรับผิดชอบด้วย ดังนั้น ทุกภาคส่วน ควรมีส่วนร่วมในการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพการศึกษาไทยสู่สากลด้วย ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่วันนี้ “โรงเรียน” ซึ่งเป็นพื้นที่พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ จะได้รับการดูแลตามแนวทางประชารัฐอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีภาคเอกชนเข้ามาเสริมเติมเต็มภาครัฐ ทั้งนี้ โครงการ CONNEXT ED ไม่ได้จำกัดเพียงองค์กรจากภาคเอกชนเพียง 12 รายเท่านั้น จึงขอเชิญชวนเอกชนรายอื่นๆ ที่มีอุดมการณ์เพื่อชาติเข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้ตลอดเวลา”

นายศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ / กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน โครงการสานพลังประชารัฐ กลุ่มการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ เปิดเผยว่า “คณะทำงานจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ของโครงการสานพลังประชารัฐด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ได้ร่วมดำเนินการพัฒนายุทธศาสตร์ 10 ด้านในการยกระดับการศึกษาสู่มาตรฐานสากล มาตั้งแต่ต้นปี 2559 และล่าสุด ได้มีการรวมตัวกันของภาคเอกชนชั้นนำของไทย 12 องค์กร ก่อตั้ง “โครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน” (CONNEXT ED) เพื่อเข้าร่วมเป็นอีกหนึ่งพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาพื้นฐานของประเทศอย่างมีระบบ โดยผู้บริหารระดับสูงของ12 องค์กรจะทำหน้าที่เป็น School Sponsors หรือเป็นผู้สนับสนุนหลัก ให้คำปรึกษาด้านยุทธศาสตร์พร้อมงบประมาณ ให้แก่ School Partners ซึ่งคัดเลือกจากบุคลากรในองค์กรที่เป็นผู้นำรุ่นใหม่ มีอุดมการณ์ มีจิตสาธารณะ และผ่านการอบรมหลักสูตรผู้นำ รวม 1,000 คน เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนและร่วมวางแผนพัฒนาโรงเรียน เป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการประชารัฐ 3,342 โรงเรียนทั่วประเทศ ในระยะแรก (ภายในปี 2559) และจะขยายครบ 7,424 โรงเรียนในทุกตำบล ทั่วประเทศ ภายใน 3 ปี (สิ้นปี 2561) โดยจะยึดหลักการทำงาน 3 ด้านคือ Enable สนับสนุนผู้บริหารสถานศึกษาให้ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ Enhance ร่วมเสนอแนวทางพัฒนาโรงเรียนเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากเอกชน และ Engage สร้างการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน ตามแนวทางยุทธศาสตร์ 10 ด้านของโครงการสานพลังประชารัฐด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพการศึกษาของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม”

ในโอกาสนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมบูธนิทรรศการต่างๆ ของโครงการสานพลังประชารัฐ กลุ่มการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ได้แก่ บูธนำเสนอยุทธศาสตร์ 10 ด้านในการยกระดับการศึกษาของประเทศสู่มาตรฐานสากล ซึ่งประกอบด้วย
1.ความโปร่งใสของข้อมูลสถานศึกษา (Transparency)
2.การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษา (Digital Infra.)
3.กลไกการตลาดและการมีส่วนร่วมของชุมชน (Market Mechanism)
4.หลักสูตรการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง (Curriculum)
5.การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน (High Quality Principals)
6.การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และจิตสาธารณะให้นักเรียน (Health & Heart)
7.การสร้างมาตรการจูงใจด้านสิทธิประโยชน์และการมีส่วนร่วมของผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ (Tax Incentive for Local & International Professor)
8.การยกระดับทักษะความรู้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษ (English Language Capability)
9.ศูนย์กลางการศึกษาเทคโนโลยีแห่งอนาคตในระดับภูมิภาค (Technology Hub R&D)
10. การพัฒนาและส่งเสริมผู้นำรุ่นใหม่ (Young Leadership Development)

โดยในงาน ยังจัดให้มีบูธนำเสนอเว็บไซต์ฐานข้อมูลโรงเรียนโครงการประชารัฐ พร้อมระบบ Dashboard ซึ่งเป็นระบบประเมินและติดตามผลการดำเนินงานของโรงเรียนประชารัฐ ตลอดจนแผนที่การแบ่งเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศและเขตพื้นที่ส่วนกลางที่แต่ละองค์กรจะเข้าไปร่วมพัฒนาโรงเรียน โดยท้ายสุด ท่านนายกรัฐมนตรี ยังได้เยี่ยมชมบูธการจำลองห้องเรียนโครงการประชารัฐ ที่เปลี่ยนวิธีเรียนจากครูเป็นศูนย์กลางเป็นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ให้นักเรียนรู้จักคิดวิเคราะห์ หาข้อมูลด้วยตนเองอีกด้วย

ทั้งนี้ นอกจาก 12 เอกชนผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ CONNEXT ED มีความยินดี ที่จะเรียนเชิญองค์กรเอกชนรายอื่นๆ เข้าร่วมเป็น School Sponsors ส่งผู้นำรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่นเรื่องการศึกษา และมีจิตอาสาที่ต้องการทำเพื่อประเทศชาติ รวมทั้งนิสิตนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศ เข้าร่วมเป็นผู้ช่วย School Partners อีกจำนวนมาก เพื่อขยายผลสู่ทุกโรงเรียนทั่วประเทศ ให้ได้รับโอกาสในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐาน นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและเท่าเทียมต่อไป