บทความพิเศษ เรื่อง : หญ้า…..ที่ไม่ใช่แค่วัชพืชเสมอไป
จากสถิติของสำนักเศรษฐกิจการเกษตรเกี่ยวกับเรื่องการนำเข้ายาฆ่าหญ้า และยาคุมหญ้าในแต่ปีมีมูลค่าเป็นหมื่นๆ ล้านบาท (11,924 ล้านบาท จากปี 2557) ซึ่งมากกว่าการนำเข้ายาฆ่าแมลงและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชรวมกันเสียอีก แสดงว่าทัศนคติของพี่น้องเกษตรกรส่วนใหญ่มองว่าหญ้าและวัชพืชที่อยู่ในแปลงเรือกสวนไร่นาเป็นศัตรูตัวร้าย จะเห็นได้จากร้านขายปุ๋ยขายยาทั้งที่เปิดมานานหลายชั่วอายุคน หรือเพิ่งเปิดแบบร้านใหม่ป้ายแดง ถ้าลองสังเกตดูจะเห็นได้ว่าสินค้าที่วางโชว์อยู่หน้าร้าน หรือตามชั้นวางสินค้าที่มีมากที่สุด ส่วนใหญ่จะเป็นยาคุมหญ้าหรือยาฆ่าหญ้า เพราะซื้อง่ายขายคล่อง อาจจะจัดได้ว่าเป็นยาสามัญประจำบ้านสำหรับพี่น้องเกษตรกรอีกชนิดหนึ่งก็ว่าได้
วันนี้อยากให้ท่านผู้อ่านและพี่น้องเกษตรได้เห็นอีกด้านหนึ่งของหญ้าหรือวัชพืช ในแง่ที่เป็นประโยชน์ต่อพืชในแปลงเรือกสวนไร่นา อย่างเช่นต้นหญ้าหรือวัชพืชนั้นช่วยทำให้เกิดร่มเงาความชุ่มชื้นแก่พื้นดิน ทำให้ดินนั้นโปร่ง ฟู ร่วนซุย แบบธรรมชาติ เพราะว่าการที่มีหญ้าหรือวัชพืชที่เขียวขจี มีร่มเงาอยู่บนพื้นดินนั้น ก็เปรียบเหมือนกับว่าเป็นบ้านเป็นที่อยู่อาศัยให้แก่จุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในดิน ช่วยทำให้ดินมีกิจกรรมของสิ่งมีชีวิตต่างๆ อยู่ตลอดเวลา (symbiosis) และดิน ณ ที่นั้นๆ ไม่เป็น “ดินตาย” เพราะหญ้านั้นจัดได้ว่าเป็นพืชชนิดหนึ่ง ถ้าหากเรากระหน่ำซ้ำเติม ราดรดยาฆ่าและคุมหญ้าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน สารเคมีเหล่านี้ก็จะสะสมตกค้างจนมีความเข้มข้นมากพอที่จะทำให้พืชหลักที่เราปลูกไว้นั้น ได้รับผลกระทบจนเกิดความเสียหายได้ เพราะพืชหลักที่เราปลูกก็ล้วนแต่เป็นพืชเหมือนกัน เพียงแต่ว่าลำต้นและขนาดอาจจะแตกต่างกันเท่านั้น แต่ถ้ายาคุมและฆ่าหญ้ามีปริมาณการสะสมที่มากขึ้น ก็อาจจะทำให้พืชที่เราปลูกไม่โตดังที่ตั้งใจ (Antibiosis) ต้องสิ้นเปลืองปุ๋ยยาฮอร์โมนในการฉีดพ่นเร่งให้พืชโตมากขึ้นอีก
บางคนคิดว่าต้นหญ้าหรือวัชพืชนั้นจะแย่งอาหารหรือปุ๋ยของพืชหลักที่ปลูกเอาไว้ โดยหารู้ไม่ว่าหญ้านั้นเขาก็กินและสะสมอาหารในดินได้เท่าที่ลำต้นเล็กๆของเขาจะนำเข้าไปได้ และถ้าเราหมั่นตัดหญ้าให้ดูสวยงาม สั้นประมาณเหนือตาตุ่ม เศษซากหญ้าที่ถูกตัดขาดก็จะค่อยๆย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยคืนไปสู่ผืนดิน ที่ดูดกินเข้าไปเท่าไร ก็จะปล่อยคืนออกมาให้ได้เท่านั้น
ประโยชน์ของการที่มีหญ้าอยู่นั้นนอกจากจะทำให้ดินนุ่มชุ่มชื้นแล้ว ยังช่วยทำหน้าที่ลดการสูญเสียน้ำไปจากผิวดิน เมื่อตัดหญ้า เศษซากของหญ้านำไปกลบทับที่บริเวณโคนต้นผิวหน้าดินก็ช่วยลดการระเหยของน้ำผิวดิน ช่วยปกป้องพืชจากสภาพอากาศที่แห้งและหนาวเย็น เป็นการคืนปุ๋ยไปสู่ดิน แถมยังเป็นบ้านที่อยู่อาศัยให้ตัวห้ำ ตัวเบียน ช่วยลดการเข้าทำลายระบาดของแมลงศัตรูพืช เป็นบ้านให้ไส้เดือน จุลินทรีย์ แอคติโนมัยซีส ยีสต์ รา โปรโตซัวต่างๆ ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสิ่งมีชีวิตที่ช่วยรักษาระบบนิเวศน์ ในระยะยาว ทำให้พื้นที่เพาะปลูกเราเหมือนกับผืนดินตามป่าเขาลำเนาไพร ที่ไม่ต้องมีมนุษย์คนใดไปรดน้ำใส่ปุ๋ยหรือฉีดพ่นปุ๋ยยาฮอร์โมนแม้แต่หยดละอองเดียว ก็สามารถที่จะทำให้พืชเจริญเติบโตได้เช่นเดียวกัน และที่สำคัญยังเป็นการช่วยเก็บรักษาผืนดินที่มีค่าเอาไว้ให้ลูกหลานของเราได้ใช้สืบไปตราบนานเท่านาน
สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยหรือต้องการคำปรึกษา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้โดยตรงที่ 02 986 1680-2
สนับสนุนบทความโดยนายมนตรี บุญจรัส
กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด (ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ)
สอบถามข้อมูลข่าวได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทรศัพท์ 0 2000 8499 , 081 732 7889