USAID และ GIZ เปิดตัวเครื่องมือคู่มือแนวทางการพัฒนาและการลงทุนระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย
กรุงเทพฯ / 31 ตุลาคม 2560 – องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) มอบคู่มือแนวทางการพัฒนาและการลงทุนระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แก่ผู้แทนกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สมาคมอุตสาหกรรมแสงอาทิตย์ไทย และหน่วยงานต่างๆ จากภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาของภาคพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมในประเทศไทย
คู่มือแนวทางการพัฒนาและการลงทุนระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จะช่วยให้ภาคเอกชนได้รับประโยชน์จากนโยบายด้านพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย ซึ่ง USAID ได้สนับสนุนในการศึกษาผลกระทบต่อรายได้ของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย จากการที่ภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มีปริมาณแสงแดดที่มีค่าความเข้มสูงประกอบกับความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ทำให้ภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีความเหมาะสมที่จะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เมื่อหลายปีก่อนต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์ยังมีราคาแพงเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนพลังงานฟอสซิล แต่วันนี้พบว่าต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์สามารถแข่งขันได้กับต้นทุนพลังงานฟอสซิล ซึ่งในหลายประเทศได้ลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้เอง โดยไม่ต้องมีมาตรการสนับสนุนใดๆ จากภาครัฐอีกต่อไป
“พลังงานหมุนเวียนเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเซีย โดยประเทศไทยเป็นผู้นำในการพัฒนาโครงการผลิตพลังงานหมุนเวียนในระดับภูมิภาค ซึ่งทาง USAID และ GIZ ได้ร่วมกันสนับสนุนภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย เราหวังว่าเครื่องมือต่างๆ ในคู่มือที่จัดทำขึ้นนี้จะช่วยลดปัญหา ข้อสงสัย และอุปสรรคในการลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา และช่วยให้เกิดการลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้นในประเทศไทย ตลอดจนสามารถนำไปต่อยอดขยายผลในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคต่อไป” แองเจล่า ฮอกก์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งภูมิภาคจาก USAID กล่าว
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เจ้าของอาคารพาณิชยกรรมและโรงงานอุตสาหกรรมได้เริ่มมีการลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาเพื่อใช้ภายในอาคารของตนเอง ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน (ค่าไฟฟ้าที่ลดได้) ซึ่งเป็นการใช้พลังงานสะอาด และช่วยลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ประสงค์จะติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคายังคงขาดแหล่งข้อมูลในการพัฒนาโครงการด้านพลังงานแสงอาทิตย์
“จากการทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้บริโภคหรือผู้ใช้ไฟฟ้า ผู้พัฒนาโครงการ และนักลงทุนในตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย ทำให้ GIZ ได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการกระตุ้นตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา โดย GIZ ได้ร่วมมือกับ USAID จัดทำคู่มือแนวทางในการพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา ซึ่งนำเสนอขั้นตอนแต่ละขั้นแบบง่ายๆ ในการที่จะลงทุนและพัฒนาโครงการฯ โดยเรามีเป้าหมายว่าคู่มือนี้จะทำหน้าที่เป็นคู่มือต้นแบบของแนวทางประกอบการพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย และสามารถนำเสนอรูปแบบการพัฒนาโครงการที่มีศักยภาพ ซึ่งสามารถเปิดตลาดใหม่ของพลังงานแสงอาทิตย์ได้ในอนาคต” โทมัส โครเมทซ์กา ผู้อำนวยการแผนการพลังงาน GIZ ประเทศไทย กล่าว
ส่วนแบ่งการตลาดพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับการผลิตพลังงานกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมต่างผลักดันการพัฒนานี้มากขึ้น ปัจจุบันพลังงานแสงอาทิตย์กลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันและเป็นผู้นำทางสู่อนาคตด้านพลังงานสะอาดของประเทศไทย “ตอนนี้เรากำลังใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดต้นทุนการผลิต ตอนนี้ระบบพลังงานแสงอาทิตย์คุ้มค่าแล้วกับการลงทุน” นายไพรัตน์ เอื้อชูยศ ประธานกรรมการบริษัทสตาร์ (ประเทศไทย) จำกัดและรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าว
เกี่ยวกับ USAID
USAID คือ องค์การของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่มุ่งสู่การยุติความยากจนทั่วโลก สนับสนุนสังคมประชาธิปไตยให้ตระหนักถึงศักยภาพของตนเอง นอกจากนี้ USAID ยังเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความรู้และเผยแพร่ข้อมูลและเครื่องมือเกี่ยวกับพลังงานสะอาดทั่วโลก ซึ่ง USAID เชื่อว่าพลังงานสะอาดสามารถช่วยลดมลภาวะทางอากาศ ช่วยเพิ่มคุณภาพอากาศของท้องถิ่นที่ใช้พลังงานสะอาด ช่วยเพิ่มการเข้าถึงพลังงานและความมั่นคงด้านพลังงาน ตลอดจนช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานและกระตุ้นการเติบโดทางเศรษฐกิจ โครงการด้านพลังงานหมุนเวียนของ USAID ได้แก่ โครงการ USAID Clean Power Asia ซึ่งเป็นโครงการระดับภูมิภาคที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนที่เชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้า โครงการนี้จะให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคแก่รัฐบาลในแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างด้วยการวางแผนด้านพลังงาน ช่วยในการกำหนดนโยบายและกฎระเบียบต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพเพื่อมุ่งไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต่ำในภาคพลังงาน ในขณะเดียวกันก็ดึงดูดการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนของภาครัฐและภาคเอกชน
เกี่ยวกับ GIZ
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เป็นองค์กรของรัฐบาลเยอรมันที่ดำเนินงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน GIZ ปฏิบัติงานในนามของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศเยอรมนีและต่างประเทศ รวมทั้งรัฐบาลของประเทศต่างๆ สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก และองค์กรที่ให้ทุนอื่นๆ GIZ ดำเนินงานอยู่ในประเทศต่างๆ มากกว่า 120 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานประมาณ 18,000 คน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ปริยา วงศาโรจน์
เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)
โทรศัพท์ 02-661-9273 ต่อ 165
โทรสาร 02-661-9273 ต่อ 156
อีเมล์ pariya.wongsarot@giz.de