ลาวดันลมโดยคนไทยเพื่อคนไทยในเวทีระดับอาเซียน
สปป.ลาว ชูโครงการ มอนสูน วินด์ พาวเวอร์ โรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนที่พัฒนาโดยคนไทย ว่าจะเป็นโครงการต้นแบบในอาเซียนในการช่วยผลักดันข้อตกลง “COP21” หรือ “การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21” ให้เป็นจริงได้
โครงการ มอนสูน วินด์ พาวเวอร์ เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 600 เมกะวัตต์ เมื่อสร้างเสร็จจะมีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน ครอบคลุมพื้นที่ในเขตเมืองดากจึงและเมืองซานเซ ในแขวงเซกองและแขวงอัตตะบือ ตามลำดับ ทางตอนใต้ของประเทศลาว เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่พัฒนาโดยคนไทย ในนามกลุ่ม อิมแพค เอเนอยี่ กรุ๊ป ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท อิมแพค อิเลคตรอนส์ สยาม จำกัด
ล่าสุด สปป. ลาว ได้นำเสนอโครงการฯ ดังกล่าว ว่าเป็นโครงการต้นแบบในนโยบายการพัฒนาพลังงานทดแทนของลาว และมีศักยภาพในการสร้างประโยชน์ในแง่ความยั่งยืนทางพลังงานให้แก่ทุกฝ่าย
ท่านจันโท มีลัตตะนะแพง รองหัวหน้าสถาบันส่งเสริมพลังงานทดแทน กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ได้กล่าวในงาน ประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ “โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2559” หรือ “SETA 2016” ที่ผ่านมาว่าศักยภาพของโครงการมอนสูน วินด์ พาวเวอร์ จะเข้ามาช่วยให้นโยบายในการพัฒนาพลังงานทดแทนของลาวก้าวหน้าต่อไป ด้วยขนาดโครงการที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ผลิตพลังงานสะอาด ขายไฟในราคาที่สมเหตุสมผล และยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่ โครงการจะมีแต่สร้างประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝั่งลาว ไทย หรืออาเซียน
ทั้งนี้ สปป. ลาวมีแผนพัฒนาพลังงานทดแทน โดยการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนเข้าไปในระบบให้เป็นร้อยละ 30 ของพลังงานที่ผลิตได้ในประเทศภายในปี 2568
“ด้วยเหตุนี้เราจึงมีโครงการพลังงานลมขนาด 600 เมกะวัตต์ ซึ่งมีขนาดเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าถ่านหิน และตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เอื้อต่อการพัฒนา ทางลาวจึงได้มีการเจรจากับทางรัฐบาลไทยให้พิจารณาโครงการลมขนาด 600 เมกะวัตต์นี้ ซึ่งจะช่วยรัฐบาลไทยและลาวในเรื่องการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” นอกจากนี้ นายวีระพล วีระวงศ์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป.ลาว ยังกล่าวว่า “เงินสมทบ (subsidy) อาจช่วยกระตุ้นให้พลังงานทดแทนเกิด แต่มันไม่ยั่งยืน วิธีที่ยั่งยืนคือการทำให้โครงการสามารถแข่งขันในเชิงพาณิชย์กับพลังงานแบบเดิมได้ ซึ่งโครงการลมโครงการนี้ทำได้ และทำได้ดีขึ้นเพราะนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย” นายวีระพล วีระวงศ์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป.ลาว กล่าว
ในความตกลงจากการประชุม COP21 ที่ปารีส เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว (2558) ไทยและลาวได้ลงนามร่วมกับอีก 144 ประเทศทั่วโลก เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส โดยประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงในการประชุม COP21 ที่จะลดก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2573 ลงร้อยละ 20-25 เทียบกับปี 2554 หรือคิดเป็นจำนวนก๊าซเรือนกระจกที่ต้องลดถึง 111-139 ล้านตัน ด้วยขนาด 600 เมกะวัตต์ โครงการมอนสูน วินด์ พาวเวอร์จะช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 67 ล้านตันตลอดระยะเวลาโครงการ เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิล
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อข้อตกลงรับความช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากธนาคารโลก เป็นจำนวนเงิน 3 ล้านเหรียญสหรัฐ ในฐานะประเทศภาคี “โครงการศึกษาการเตรียมความพร้อมด้านกลไกตลาดเพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก” หรือ Partnership for Market Readiness (PMR)” ซึ่งไทยมีหน้าที่ต้องออกมาตรการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้สำเร็จตามที่วาแผนไว้
“นี่คือเรื่องที่เรากำลังหารือกับทางรัฐบาลไทย โครงการนี้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้หลายล้านตันตลอดอายุโครงการ 25 ปี และถ้าโครงการนี้เกิด ก็เป็นเพราะประเทศไทยให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี” นายวีระพลกล่าวทิ้งท้าย
จากสถิติของธนาคารโลก ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 22 ของโลก และเป็นอันดับที่ 5 ในเอเชียแปซิฟิค ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในไทยคือภาคพลังงาน
ข้อมูลโครงการ
โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมมอนซูน วินด์ พาวเวอร์ (โครงการฯ) ที่แขวงเซกอง และแขวงอัตตะบือ สปป.ลาว ได้ดำเนินการพัฒนาโดยกลุ่มบริษัทในเครือ บริษัท อิมแพค อิเลคตรอนส์ สยาม จำกัด (IES) ในปีพ.ศ. 2554 โดยทางIES ได้ทำบทบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding – MOU) กับรัฐบาลสปป.ลาว ในการเข้าทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งหลังจากได้ทำการวัดข้อมูลลมเป็นระยะเวลามากกว่า 3 ปี และได้วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการฯ ร่วมกับที่ปรึกษาชั้นนำที่เชี่ยวชาญทางด้านพลังงานลม บริษัทฯ จึงได้ลงนามในสัญญาพัฒนาโครงการ (Project Development Agreement – PDA) กับรัฐบาลสปป.ลาว ในวันที่ 7 สิงหาคม 2558 สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ขนาดกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ อายุสัญญา 25 ปี หลังจากขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์