คนไทยตายด้วยมะเร็งท่อน้ำดีเป็นอันดับต้น ๆ
ผลวิจัย CASCAP แจงความเข้าใจผิด
คนไทยตายด้วยมะเร็งท่อน้ำดีเป็นอันดับต้น ๆ
พบ “ตาย” มากกว่า 10,000 คนต่อปีมีกลุ่ม “เสี่ยง” 6 ล้านคนทั่วประเทศ
แต่โชคดีรักษาหายได้ หากเท่าทัน!!
ผู้คนส่วนใหญ่มักมีความเข้าใจผิดและสับสนระหว่างมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งในทางการแพทย์ โดยผลการวิจัยโครงการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ CASCAP มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ยืนยันถึงผลการวินิจฉัยของโรค ว่ามีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากมะเร็งตับ และมะเร็งท่อน้ำดี มีสาเหตุของการเกิดโรคไม่เหมือนกัน การป้องกันและการรักษาก็ไม่เหมือนกัน ด้วยโรคมะเร็งในเนื้อตับจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ B และ C การบริโภคเชื้อรา Alfatoxin จากอาหารประเภทถั่ว รวมถึงการบริโภคสุราอย่างยาวนาน ทำให้ตับทำงานอย่างหนัก และสาเหตุอื่นๆ
ในขณะที่มะเร็งท่อน้ำดีสาเหตุเกิดจากการติดพยาธิใบไม้ตับอย่างยาวนาน ดังนั้นนโยบายในการจัดการโรคมะเร็งในแต่ละประเภทจึงไม่เหมือนกัน สถิติผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีที่สำรวจได้จากโรงพยาบาลศรีนครินทร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบมากถึง 75% เมื่อเทียบกับมะเร็งตับ จากการประมาณการด้านสถิติแล้ว มีคนที่เสียชีวิตจากมะเร็งท่อน้ำดีราว 10,000 รายต่อปี และในอนาคตราว 20 – 30 ปี จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่า 20,000 คนต่อปี ถ้าหากพูดตามเนื้อผ้าแล้ว การจัดการมะเร็งท่อน้ำดีมีลำดับความสำคัญมากกว่าการจัดการมะเร็งในเนื้อตับ
สำหรับในระดับโลก มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งในเนื้อตับมากกว่าผู้เสียชีวิตจากมะเร็งท่อน้ำดี แต่ประเทศไทยพบปรากฏการณ์ตรงกันข้าม ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งท่อน้ำดีเยอะกว่ามะเร็งในเนื้อตับ และยิ่งเจาะลึกในข้อมูลเชิงสถิติลึกลงไป พบว่าการกระจายตัวของผู้ที่ติดพยาธิใบไม้ตับ จำนวนผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี และจำนวนผู้เสียชีวิต กระจุกตัวอยู่ที่ภาคอีสาน และภาคเหนือ โดยเฉพาะภาคอีสาน ที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งท่อน้ำดีจำนวนมากที่สุด สาเหตุเนื่องจากพฤติกรรมการกินของชาวอีสานที่นิยมบริโภคอาหารแบบสุกๆดิบๆ และสาเหตุของโรคมะเร็งท่อน้ำดีเกิดจากการติดพยาธิใบไม้ตับซึ่งเป็นเชื้อปรสิตชนิดหนึ่ง อาศัยอยู่ในปลาน้ำจืดมีเกล็ดสีขาวในวงศ์ปลาตะเพียน เมื่อกินปลาแบบสุกๆดิบๆ จึงทำให้คนอีสานเป็นโรคนี้จำนวนมาก
รศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว – หัวหน้าโครงการ CASCAP มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โรคมะเร็งท่อน้ำดีหากสามารถตรวจพบได้ในระยะเริ่มต้นจะสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัด และผู้ป่วยจะมีชีวิตยืนยาวขึ้น แต่กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยมักได้รับการวินิจฉัยในระยะสุดท้าย ที่ผู้ป่วยอยู่ในสภาพแสดงอาการตัวเหลืองตาเหลือง การรักษาก็จะเพียงแค่ประคับประคองอาการ และจะเสียชีวิตในเวลาไม่นาน ยังผลให้มีอัตรารอดชีพต่ำมาก จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2557 ประมาณการได้ว่ามีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งท่อน้ำดีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 14,000 ราย และมีผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีจำนวนทั้งสิ้น 6,000,000 คนทั่วประเทศ
ดังนั้นในประเทศไทยหากมีการแยกมะเร็งท่อน้ำดีออกจากมะเร็งตับ และให้ความรู้แก่ประชาชนว่าผู้ติดพยาธิใบไม้ตับเป็นกลุ่มเสี่ยงหลักที่มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีมากที่สุด อาจจะทำให้การจัดการในนโยบายต่างๆในการป้องกันและรักษามะเร็งท่อน้ำดีจะชัดเจนขึ้น เพื่อให้วงการทางด้านสุขภาพ และสาธารณสุขได้ตระหนักความ
สำคัญในอุบัติการณ์มะเร็งท่อน้ำดีเพราะในปัจจุบันวงการทางด้านสุขภาพและสาธารณสุขยังมีความเข้าใจสับสนและแยกไม่ออกระหว่างมะเร็งในเนื้อตับกับมะเร็งท่อน้ำดี ทั้งที่มีการค้นพบโรคมะเร็งท่อน้ำดีตั้งแต่ 90 ปีที่แล้ว และยังขาดการเชื่อมโยงระหว่างการติดพยาธิใบไม้ตับและโรคมะเร็งท่อน้ำดี ทั้งที่องค์ความรู้ในปัจจุบันบ่งชี้ชัดว่า การติดพยาธิใบไม้ตับเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งท่อน้ำดีในประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้น องค์การอนามัยโลกได้จัดให้โรคมะเร็งท่อน้ำดีและโรคพยาธิใบไม้ตับอยู่ในประเภท “โรคที่ถูกปล่อยปละละเลย” จึงทำให้ประเทศไทยที่มีผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีจำนวนมากที่สุดในโลก ถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการดูแลรักษาจากภาครัฐให้เท่าเทียมกับโรคมะเร็งอื่น ๆ ที่ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก
หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังเห็นภาพรวมร่วมกันเกี่ยวกับความรุนแรงของโรคมะเร็งท่อน้ำดีไม่เด่นชัดนัก อาจส่งผลให้นโยบายเพื่อพัฒนาและป้องกัน (กลุ่มเสี่ยง) เพื่อให้การรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดีอย่างทันท่วงทีเกิดความล่าช้า หรือถูกละเลย และสถานการณ์การเสียชีวิตของผู้ป่วยคงไม่ถูกปล่อยให้ล้มตายราวกับใบไม้ร่วงเหมือนที่ผ่านมา