1

กพร. แจงผลงานรอบ 1 ปี พัฒนาแรงงานทะลุเป้า

DSD1

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เผยผลงานรอบ 1 ปีที่ผ่านมา สามารถพัฒนากำลังแรงงานได้เกินเป้าหมายที่วางไว้ จากเดิมที่กำหนดไว้ 3,676,180 คน เป็น 3,880,486 คน
นายกรีฑา สพโชค อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยภายใน “งานแถลงข่าวผลงานภารกิจกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน” ณ โรงแรมปริ๊นส์ตัน พาร์ค สวีท กรุงเทพมหานคร ว่าในปีงบประมาณ 2559 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ดำเนินการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานไทยให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ เป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ เพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ วิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม ให้เข้มแข็งสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน
โดยมีการวางเป้าหมายพัฒนากำลังแรงงานให้ได้ทั้งสิ้น 3,676,180 คน โดยผลการดำเนินงานได้เกินเป้าหมายที่วางไว้ 3,880,486 คน มีผลสัมฤทธิ์คิดเป็นมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 105.56 ซึ่งมีการพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ อาทิ เทคโนโลยีสารสนเทศ โลจิสติกส์และระบบราง เทคโนโลยีออโตเมชั่น ท่องเที่ยวและบริการ พร้อมกับมีการขับเคลื่อนนโยบายต่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน ดังนี้
โครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานไทย มีสถานประกอบกิจการเข้าร่วม 260 แห่ง สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ไม่น้อยกว่า 1,135 ล้านบาท พัฒนากำลังแรงงานได้เฉลี่ย 24,862 คน
โครงการการพัฒนาทักษะต่างประเทศให้กับแรงงานไทยเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน มุ่งเน้นจังหวัดที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการท่องเที่ยวและบริการ มีการดำเนินการฝึกอบรมไปแล้ว 27,901 คน
นโยบายการพัฒนากำลังแรงงานรองรับประชาคมอาเซียน ในสาขาต่างๆ อาทิ ด้านโลจิสติกส์ เทคโนโลยียานยนต์ การก่อสร้าง ท่องเที่ยวและบริการ ไอที 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีการดำเนินการฝึกอบรมไปแล้ว 1,239,544 คน
นโยบายการพัฒนาทักษะฝีมือสนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น การพัฒนาฝีมือและศักยภาพกลุ่มเครือข่ายแรงงานนานาชาติ CLMV ผลการดำเนินงาน 2,040 คน และฝึกอบรมฝีมือแรงงานในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด เน้นการฝึกใน 13 ประเภทกิจการ ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOIและพัฒนาทักษะฝีมือคนไทยรองรับอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ (Cluster, Super Cluster) ดำเนินการแล้ว 17,123 คน และมีการพัฒนาต่อยอดทักษะฝีมือรองรับการพัฒนาประเทศไทย 4.0 เป็นต้น
การฝึกอบรมของสถานประกอบกิจการที่ฝึกให้กับพนักงาน/ลูกจ้างของตนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 มีการดำเนินการไปแล้ว 3,612,470 คน ซึ่งสถานประกอบกิจการสามารถนำ ค่าใช้จ่ายการฝึกอบรมไปลดหย่อนภาษีได้ ที่ผ่านมาสถานประกอบกิจการนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีไปแล้วไม่น้อยกว่า 3,600 ล้านบาท ซึ่งลูกจ้าง/พนักงานทำงานได้ประสิทธิภาพมากขึ้น ลดต้นทุนการผลิตไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี
พัฒนาทักษะฝีมือพ่อครัวแม่ครัวไทยให้มีทักษะฝีมือได้มาตรฐาน ดำเนินการได้มากกว่า 10,000 คน ส่งเสริมการประกอบอาชีพทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี พร้อมกับเป็นการสร้างชื่อเสียงด้านอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
พร้อมทั้งนี้มีการจัดทำพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่๒) พ.ศ.2557 ขึ้น เพื่อควบคุม พัฒนา และยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานของผู้ประกอบอาชีพในสาขาที่อาจเป็นอันตรายให้ต่อสาธารณะด้วยการกำหนดให้มีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ หรือ Licenseขึ้นโดยเริ่มที่ สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร เป็นสาขาแรก และจะมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 26 ตุลาคม นี้ ผู้ที่จะได้รับ License ต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ มีผู้ผ่านการทดสอบจำนวน 49,073 คน และมีผู้ผ่านการประเมินความรู้ความสามารถในสาขานี้ 5,070 คน
ดำเนินการให้กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานกู้ยืมเป็นค่าใช้จ่ายฝึกอบรมฝีมือแรงงานหรือการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน และให้เงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2559 – 12 มกราคม 2560 สถานประกอบกิจการ สามารถยื่นขอกู้ยืมเงินจากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานวงเงินสูงสุดถึง 1 ล้านบาท จากเดิมไม่เกิน 3 แสนบาทต่อครั้ง และยังลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเหลือร้อยละศูนย์ จากเดิมร้อยละ 3 ต่อปี มีกำหนดชำระคืนไม่เกิน 12 เดือน
มีการปฏิรูปองค์กร จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังแรงงาน 20 ปี และการบูรณาการภาคการศึกษาและทุกภาคส่วนตามแนวทาง “ประชารัฐ” เช่น ร่วมจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานของประเทศในสาขาต่างๆ พัฒนาต่อยอดเด็กอาชีวศึกษา ผู้ว่างงาน ผู้สูงอายุ คนพิการ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าทำงาน ริเริ่มแนวคิดขยายการให้บริการประชาชนจากเดิม 3.6 ล้านคนต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคนต่อปีภายในปี 2564 ต่อไป