1

กสร. ย้ำนายจ้างไม่แจ้งอุบัติเหตุ มีความผิด

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ย้ำนายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน กรณีเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงหรือลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงานจนเสียชีวิตต้องแจ้งพนักงานตรวจความปลอดภัยทันที ฝ่าฝืนมีความผิดตามกฎหมาย
นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า จากการที่พนักงานตรวจความปลอดภัยได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอุบัติเหตุจากการทำงานที่เกิดขึ้น หลายครั้งพบว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่มีลูกจ้างเสียชีวิตจากอุบัติเหตุดังกล่าว นายจ้างมักจะไม่ได้แจ้งให้พนักงานตรวจความปลอดภัยทราบ ซึ่งพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 กำหนดให้นายจ้างต้องแจ้งต่อพนักงานตรวจความปลอดภัยทราบในทันทีกรณีที่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง หรือลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงานจนเป็นเหตุให้ลูกจ้างเสียชีวิต โดยจะแจ้งโทรศัพท์ โทรสาร หรือวิธีอื่นใดที่มีรายละเอียดพอสมควรก็ได้ และจะต้องแจ้งรายละเอียดและสาเหตุเป็นหนังสือภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างเสียชีวิต สำหรับกรณีที่สถานประกอบกิจการได้รับความเสียหายหรือต้องหยุดการผลิต หรือมีบุคคลในสถานประกอบกิจการประสบอันตรายหรือได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากเพลิงไหม้ การระเบิด สารเคมีรั่วไหล หรืออุบัติภัยร้ายแรงอื่น จะต้องแจ้งเป็นหนังสือโดยระบุการแก้ไขและวิธีการป้องกันการเกิดซ้ำอีกภายใน 7 วัน นับแต่วันเกิดเหตุเพิ่มเติมด้วย ทั้งนี้ หากนายจ้างหากไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดโดยมีโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท
อธิบดีกสร. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ความผิดตามพ.ร.บ.ความปลอดภัยที่พบบ่อยครั้งเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานคือ นายจ้างไม่ได้จัดทำและแจกคู่มือปฏิบัติงานให้ลูกจ้างทุกคนก่อนที่จะเข้าทำงาน เปลี่ยนงานหรือเปลี่ยนสถานที่ทำงาน และไม่ได้จัดให้ลูกจ้างได้รับการฝึกอบรมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งความผิดดังกล่าวจะมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ถึงปรับไม่เกิน 2 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยขึ้นอยู่กับฐานความผิดนั้น ๆ จึงขอย้ำเตือนให้นายจ้าง สถานประกอบกิจการให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันและบรรเทาการประสบอันตรายจากการทำงานให้ลดน้อยลง หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 ถึง 10 ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 1 ถึง 12 หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3