1

เปิดตัวโครงการด้านการศึกษาโดยใช้สื่อไอซีทีเพื่อส่งเสริมการศึกษาแก่ผู้เรียนบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา

BA5A6233

ยูเนสโก ไมโครซอฟท์ ทรู คอร์ปอเรชั่น และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เปิดตัวโครงการด้านการศึกษาโดยใช้สื่อไอซีทีเพื่อส่งเสริมการศึกษาแก่ผู้เรียนบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา

เด็กนักเรียนผู้ด้อยโอกาสกว่าพันคนบริเวณชายแดนไทย-เมียนมากำลังได้รับโอกาสทางการศึกษา และคลังสื่อการเรียนการสอน ภายใต้โครงการของสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ร่วมสนับสนุนโดยไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ทรู คอร์ปอเรชั่น และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ในพิธีเปิดโครงการวันนี้

“โครงการส่งเสริมการรู้หนังสือผ่านสื่อพกพาสำหรับเด็กนอกระบบการศึกษา” ได้ดึงศักยภาพอันแข็งแกร่งของทุกภาคีหุ้นส่วนมาร่วมกันพัฒนาการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมของผู้เรียน ในพื้นที่ห่างไกล และขาดแคลนสื่อทางการศึกษา โดยเฉพาะตามพื้นที่ตะเข็บชายแดน
ศูนย์การเรียนภายใต้โครงการฯ จะได้รับวินโดวส์แท็บเล็ต แอพพลิเคชั่น พร้อมการอบรมการใช้สื่อการเรียนการสอนจากไมโครซอฟท์ และยังประกอบด้วยแอพพลิเคชั่นซึ่งพัฒนาโดยยูเนสโกเพื่อกลุ่มเป้าหมายผู้เรียนในพื้นที่ชายแดน ส่วนทรู คอร์ปอเรชั่น ได้มอบอินเทอร์เน็ตและแพกเกจพร้อมสื่อการเรียนรู้ทรูปลูกปัญญา ในขณะที่สำนักงานกศน. ให้การสนับสนุนสื่อการเรียนการสอน การจัดอบรม และร่วมดำเนินโครงการ

นายกวางโจ คิม ผู้อำนวยการ สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวว่า โครงการนี้ได้สะท้อนกรอบแนวคิดอันสำคัญของประชาคมโลกตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 4 ซึ่งมุ่งสร้างโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม รวมทั้งสร้างเสริมโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ประชาชนทุกคน

“ในฐานะสำนักงานเพื่อการศึกษาในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ยูเนสโก กรุงเทพฯ ได้ดำเนินภารกิจตามเป้าหมายด้านการศึกษาปี 2573 และมุ่งใช้ศักยภาพของทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว” นาย กวางโจ คิมกล่าว “ด้วยพันธกิจนี้ ภาคีหุ้นส่วนทุกฝ่าย จึงร่วมกันดำเนินโครงการอันสำคัญในวันนี้ โดยใช้นวัตกรรมเพื่อส่งเสริมผู้เรียนที่ด้อยโอกาสมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก… ภายใต้โครงการนี้ พลังแห่งไอซีทีได้ถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนระบบการศึกษาในปัจจุบันให้แข็งแกร่ง มีการกระจายองค์ความรู้ การเข้าถึงข้อมูล และระบบการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ”

ดร.วิรุฬห์ นิลโมจน์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมมาตรฐานการศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กล่าวถึงการสนับสนุนโครงการฯ ว่า “กศน. ได้มอบสื่อการเรียนการสอนสำหรับครูและนักเรียนต่างด้าว ประกอบไปด้วยแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กไม่มีสัญชาติไทยที่อยู่ในเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับระดับประถมศึกษาตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งได้นำไปบรรจุในแท็บเล็ต และได้มีการร่วมจัดอบรมครูจำนวน 40 ท่าน เกี่ยวกับการใช้สื่อไอซีทีที่ได้รับภายใต้โครงการฯ ตลอดจนสื่อของกศน. อีกด้วย”

สำหรับไมโครซอฟท์นั้น โครงการนี้มีความสอดคล้องกับนโยบายของบริษัทที่มุ่งใช้พลังของเทคโนโลยีเพื่อช่วยปฏิรูปและขยายโอกาสทางการศึกษาทั่วโลก นอกจากวินโดวส์แท็บเล็ตของโครงการฯ ที่มาพร้อมกับชุดไมโครซอฟท์ออฟฟิศ รวมถึงแอพพลิเคชั่นด้านการศึกษาแล้ว ไมโครซอฟท์ยังได้สนับสนุนงบประมาณ และการจัดอบรมอีกด้วย

นายอรพงศ์ เทียนเงิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ไมโครซอฟท์ เชื่อว่าเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา การยกระดับการศึกษาในยุคปัจจุบันจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีที่จะทำให้สื่อการเรียนการสอนสำหรับครูสู่นักเรียนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการพัฒนาทักษะในการสอนบนสื่อดิจิทัลถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก เรามั่นใจว่าโครงการความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยยกระดับการศึกษาให้กับคุณครูและเด็กๆ บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งพวกเขาเหล่านี้จะได้ตระหนักถึงขีดความสามารถของตนเองมากยิ่งขึ้น และพร้อมจะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยพัฒนาครอบครัว ชุมชน ประเทศและสังคม ให้ก้าวไปได้อย่างยังยืน”

นายศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ / กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ด้วยความเชื่อว่าความรู้เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้คนเติบโตและดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข เครือเจริญโภคภัณฑ์และทรู คอร์ปอเรชั่น ยินดีและภูมิใจที่ได้ร่วมกับยูเนสโกสนับสนุน โครงการส่งเสริมการรู้หนังสือผ่านสื่อพกพาสำหรับเด็กนอกระบบการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มทรู ให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยนำศักยภาพด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมการสื่อสาร และสื่อต่างๆของกลุ่มทรู ร่วมสร้างประโยชน์และเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้แก่ครูและนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล ผ่านโครงการทรูปลูกปัญญา ซึ่งขณะนี้มีโรงเรียนในโครงการทั้งสิ้น 6,000 แห่งทั่วประเทศ ที่รวมถึงโรงเรียนตามแนวชายแดนที่มีนักเรียนสัญชาติเมียนมา มอญ ด้วย โดยการสนับสนุนครั้งนี้ กลุ่มทรู จะติดตั้ง “ชุดอุปกรณ์และสื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้” จากโครงการทรูปลูกปัญญา ให้แก่ทั้ง 20 ศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วย 1.) ชุดอุปกรณ์รับสัญญาณทรูวิชั่นส์ เครื่องรับโทรทัศน์สี LCD 32 นิ้ว และตู้เก็บอุปกรณ์ พร้อมช่องรายการคุณภาพที่มีเนื้อหาสาระเพื่อการเรียนรู้กว่า 50 ช่อง 2.) สื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนการสอน (DVD Digital Content) ครอบคลุม 8 กลุ่มสาระวิชา ประกอบด้วย ภาษาจีน ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคม พุทธศาสนา (คุณธรรม-จริยธรรม) สำหรับชั้น อ.1 – ม.3 และ 3.) อุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายบนเครือข่ายทรูมูฟ เอช ซึ่งสื่อเหล่านี้ จะทำให้เข้าถึงการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ เปิดโลกทัศน์ให้เด็กๆ มีความรู้ทัดเทียมกับเยาวชนอื่นๆทั่วไป ในขณะเดียวกันเครือเจริญโภคภัณฑ์ ภายใต้นโยบาย “ซีพีเพื่อสังคมยั่งยืน” ยังตระหนักถึงการมีภาวะโภชนาการที่ดีของเยาวชน ด้วยเชื่อว่าการมีสุขภาพดีจะช่วยให้มีความพร้อมสำหรับการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น จึงยินดีสนับสนุน “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวัน” แก่ศูนย์การเรียนรู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้ ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม โดยจะนำร่องที่ศูนย์การเรียนรู้ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นพื้นที่แรก ซึ่งมูลนิธิช่วยไร้พรมแดนจะเป็นผู้ประสานงาน ทั้งนี้ เครือฯได้ดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันมานานกว่า 25 ปี โดยมีนักเรียนมากกว่า 120,000 คน จาก 540 โรงเรียนทั่วประเทศได้รับคุณค่าอาหารโปรตีนจากไข่ไก่

กลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ คือ ผู้เรียนจำนวน 4,000 คน และครูจำนวน 100 คน ซึ่งทางโครงการฯ ได้มอบแท็บเล็ตจำนวน 400 เครื่องให้แก่ศูนย์การเรียนเด็กต่างด้าว และศูนย์การเรียนชุมชนตามตะเข็บชายแดนไทย โดยครอบคลุมกลุ่มผู้เรียน จำนวน 1,600 คน (ผู้เรียน 4 คนต่อแท็บเล็ต 1 เครื่อง) และแท็บเล็ตสำหรับครูอีกจำนวน 40 คน ในปีหน้า จะมีการส่งมอบแท็บเล็ตจำนวน 600 เครื่อง ให้แก่ผู้เรียน 2,400 คน และครูอีก 60 คน นอกจากนี้ การจัดอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญจะช่วยให้ครูและผู้เรียนสามารถนำเครื่องมือทางไอซีไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แหล่งข้อมูล
เว็บไซต์การศึกษาเพื่อเด็กต่างด้าว เด็กชาติพันธุ์ และเด็กไร้รัฐ หรือ Education for Migrants, Ethnic minorities and Stateless Children: http://emescn.net/ เป็นแหล่งรวมสื่อการเรียนการสอนที่ได้ติดตั้งในแท็บเล็ต และข้อมูลของศูนย์การเรียนเด็กต่าวในประเทศไทย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อคุณ Noel Boivin, UNESCO Bangkok Media and Communications Officer, n.boivin@unesco.org

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สำหรับไมโครซอฟท์ กรุณาติดต่อ
คุณพรรวี สุรมูล และ คุณญาดา สินธวะรัตน์
ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์
โทรศัพท์: 0-2627-3501 ต่อ 110,213 หรือ 081-735-9213, 081 694 9949
อีเมล: psuramool@hkstrategies.com และ ysintavarattana@hkstrategies.com

ภูมิหลัง:
โครงการส่งเสริมการรู้หนังสือผ่านสื่อพกพาสำหรับเด็กนอกระบบการศึกษา
ครูและนักเรียนตามบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ต้องประสบปัญหาอันท้าทายเนื่องจากขาดสื่อการเรียนการสอน สื่อไอซีทีนับเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่ทำให้ศูนย์การเรียนในพื้นที่ห่างไกล ได้เข้าถึงสื่อทางการศึกษา โครงการส่งเสริมการรู้หนังสือผ่านสื่อพกพาสำหรับเด็กนอกระบบการศึกษา ได้นำเอาศักยภาพทางไอซีทีดังกล่าวมาใช้ โดยมอบวินโดวส์แท็บเล็ตจำนวน 400 เครื่อง ให้กับศูนย์การเรียนสำหรับเด็กต่างด้าว และศูนย์การเรียนชุมชน จำนวน 20 ศูนย์ในปีนี้ และจะเพิ่มจำนวนเป็น 60 ศูนย์ภายในปีหน้า นอกจากนี้ ยังมีการจัดอบรมเพื่อให้ครูและนักเรียนสามารถใช้สื่อไอซีทีให้เกิดประโยชน์สูงสุด
EMESC แอพฯ ของยูเนสโก:

Migrant, Stateless and Ethnic Minority Children (EMESC) เป็นแอพพลิเคชั่นแบบออฟไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสื่อที่ถูกบรรจุลงในแท็บเล็ตของโครงการฯ ซึ่งได้รวบรวมหนังสือและสื่อการเรียนการสอนมากกว่า 1,000 รายการ ทั้งในภาษาไทย เมียนมา และกะเหรี่ยง โดยแยกเป็นเวอร์ชั่นสำหรับครูและนักเรียน แอพฯ ทั้งสองเวอร์ชั่นนั้นมีเนื้อหาหลักสามประการ คือ หนังสือเรียนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการศึกษานอกระบบของประเทศไทยและประเทศเมียนมา หนังสืออ่านนอกเวลาเพื่อสร้างเสริมทักษะการอ่านในภาษาไทย เมียนมา และกะเหรี่ยง ซึ่งมีการแบ่งระดับตามความยากง่ายของหนังสือ รวมทั้งสื่อสืบค้นอื่นๆ เช่น พจนานุกรมทั้งสามภาษา

สำหรับแอพฯ เวอร์ชั่นครูนั้น มีการเพิ่มเติมเนื้อหาคู่มือครู แผนการสอน แนวทางข้อสอบ แบบฝึกหัด สื่อแอนิเมชั่นจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสื่ออื่นๆ

การจัดอบรมครูครั้งที่ 1:
การอบรมครูภายใต้โครงการฯ ครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 17-19 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยในพื้นที่อำเภอแม่สอดนั้นมีประชากรที่เป็นเด็กต่างด้าวมากกว่า 13,000 คน จากกว่า 400,000 คนทั่วประเทศ ครูชาวไทยและเมียนมาจำนวน 40 คน จากศูนย์การเรียนสำหรับเด็กต่างด้าว และศูนย์การเรียนชุมชน 20 แห่ง เข้าร่วมการอบรม พร้อมด้วยองค์กรภาคเอกชน สำนักงาน กศน. จ. ตาก จ. เชียงราย และ จ. ระนอง และเจ้าหน้าที่ภาครัฐในท้องถิ่นจำนวน 30 คน

ครูผู้เข้าอบรมได้รับวินโดวส์แท็บเล็ตซึ่งมี แอพฯ EMESC MS Office และแอพฯ เพื่อการศึกษาชั้นนำจาก Windows Store
ในวันแรกของการอบรมนั้น ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เป็นผู้นำการอบรมเกี่ยวกับการใช้แท็บเล็ต MS Office และแอพฯ ที่สำคัญสำหรับครูสอนเด็กต่างด้าว รวมทั้งการสร้างเครือข่ายครูผ่านทาง Yammer ผู้เชี่ยวชาญจากทรูได้ให้ความรู้เกี่ยวกับโทรทัศน์ทรูปลูกปัญญา ซึ่งมีช่องรายการทางการศึกษามากกว่า 80 ช่องเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้โดยใช้สื่อแบบพกพา ตลอดจนการใช้อินเทอร์เน็ตจากทรู
คณะวิทยากรยังได้สนับสนุนให้ครูสร้างห้องเรียนไอซีทีที่ศูนย์การเรียนของตน และร่วมมือกับศูนย์การเรียนในพื้นที่เพื่อถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับไปยังครูท่านอื่น

ผลตอบรับจากการอบรมครั้งที่ 1:
“ไม่เคยคิดว่าจะได้ใช้แท็บเล็ตมาก่อน แต่ตอนนี้รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ใช้ในห้องเรียนของเรา ซึ่งจะช่วยให้เด็กไม่เบื่อ เพราะไม่ต้องฟังแต่เสียงครูพูดตลอด แท็บเล็ตจะช่วยให้การเรียนการสอนหลากหลายขึ้น” – ครูนิตยา ศูนย์การเรียนนิวโซไซตี้ จ. ตาก
“หนังสือและสื่อการสอนในภาษากะเหรี่ยงหาได้ยากมาก แอพฯ EMESC น่าจะเป็นประโยชน์มากกับการสอนของผม” – ครูซอ โช บี ศูนย์การเรียนทูมีคี จ. ตาก

“ผมจะอัดการอ่านออกเสียงภาษาไทยไว้ จะช่วยประหยัดเวลาและพลังในการสอนของครูอย่างมาก” – ครูวินัย ศูนย์การเรียน BHSOH จ. ตาก
“สื่อแท็บเล็ตและทีวีช่วยทำให้เราทำอะไรได้เยอะภายในหนึ่งชั่วโมง เช่น เราอาจจะให้เด็กดูวิดีโอ แล้วถามคำถาม เอาแท็บเล็ตมาเชื่อมต่อกับทีวี เพื่อให้เด็กเรียนรู้วิธีการใช้โปรแกรม Fresh Paint ได้ (โปรแกรมวาดภาพของไมโครซอฟท์)” – ครูติ๋ม ศูนย์การเรียนซอยเจ็ด จ. ระนอง