เทคนิคใหม่ของการผ่าตัดสมองด้วยวิธีจุลศัลยกรรมโดยใช้สารเรืองแสง
เทคนิคใหม่ของการผ่าตัดสมองด้วยวิธีจุลศัลยกรรม
โดยใช้สารเรืองแสง
สมองถือเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกายที่มีความซับซ้อน และต้องอาศัยความระมัดระวังมากที่สุด แต่ในบางครั้งแม้ว่าจะมีการระมัดระวังมากเพียงใดสมองก็อาจจะถูกกระทบกระเทือนจากโรคภัย หรืออุบัติเหตุ จนมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดสมอง แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้น การผ่าตัดสมองจึงไม่ใช่เรื่องที่ดูน่ากลัวมากอีกต่อไป เนื่องจากปัจจุบันมีการผ่าตัดสมองด้วยวิธีจุลศัลยกรรมเป็นการผ่าตัดแบบมีผลต่อเนื้อเยื่อข้างเคียงน้อย (minimally invasive neurosurgery) โดยการใช้กล้องผ่าตัดที่มีกำลังขยายสูง (microscope) ให้ภาพที่มีความละเอียดสูงแบบ 3 มิติ จะช่วยขยายให้แพทย์สามารถมองเห็นส่วนต่างๆ ได้ชัดเจน โดยเฉพาะความผิดปกติที่อยู่ในสมองส่วนที่อยู่ลึก ทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำ ปลอดภัย และได้ผลการรักษาดีกว่าการผ่าตัดโดยอาศัยตาเปล่า
น.อ.นพ.กลินท์ พนมมาศ หัวหน้าหน่วยศัลยกรรมประสาท กองศัลยกรรม รพ.ภูมิพล กล่าวถึงสาเหตุที่สนใจทางเกี่ยวกับการผ่าตัดสมองด้วยวิธีจุลศัลยกรรมว่า การผ่าตัดสมองด้วยวิธีจุลศัลยกรรมช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัดให้กับคนไข้ เนื่องจากเทคโนโลยีทางด้านจุลศัลยกรรมในปัจจุบันมีความก้าวหน้าพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ โดยนอกเหนือจากการใช้กล้องผ่าตัดที่มีกำลังขยายสูงแล้ว การผ่าตัดวิธีจุลศัลยกรรมยังมีเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์อื่นที่มีประสิทธิภาพร่วมในการช่วยให้การผ่าตัดสำเร็จได้ด้วยดี เช่น การใช้สารเรืองแสง (fluorescent dye) เพื่อช่วยให้แพทย์เห็นตำแหน่งของเนื้องอกและเส้นเลือดได้ชัดเจน ทำให้มีการผ่าตัดมีความแม่นยำ เกิดผลกระทบต่อเนื้อเยื่อต่างๆ บริเวณที่ผ่าตัดและบริเวณข้างเคียงน้อย ลดความบอบช้ำของเนื้อเยื่อ มีความปลอดภัย ทำให้เกิดข้อแทรกซ้อนน้อยลง ช่วยลดความเจ็บปวดของแผลหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว ใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลน้อยลง
“ข้อดีของการผ่าตัดสมองด้วยวิธีจุลศัลยกรรม จึงช่วยให้การผ่าตัดเร็วขึ้น มีความปลอดภัย มีความสำเร็จในการผ่าตัดเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การตัดต่อตัดหลอดเลือดสมอง ปัจจุบันเราใช้วิธีฉีดสารเรืองแสงเข้าไปในระหว่างผ่าตัดก็จะสามารถมองเห็นได้เลยว่าการผ่าตัดสำเร็จหรือไม่ หรือมีปัญหาเกิดตรงจุดไหนเพื่อที่จะได้แก้ไขทันท่วงที ซึ่งต่างจากการผ่าตัดในสมัยก่อนที่ต้องรอให้การผ่าตัดเสร็จจึงค่อยพาคนไข้ไปเอกซเรย์เพื่อดูผลของการผ่าตัด โดยสารเรืองแสงนี้มีการนำมาใช้ในการผ่าตัดตา เลนส์แก้วตา ผ่าตัดจอประสาทตานานแล้ว จึงมีความปลอดภัยแทบจะไม่มีรายงานเกี่ยวกับการแพ้และไม่มีผลข้างเคียงกับคนไข้ เนื่องจากสามารถย่อยสลายออกมากับปัสสาวะได้ภายในในเวลา 1 ชั่วโมง อีกทั้งยังมีราคาถูกและสามารถเบิกจ่ายได้”
น.อ.นพ.กลินท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ในประเทศไทยมีศัลยแพทย์ด้านประสาทประมาณ 500 ท่าน แต่ไม่ใช่ว่าทุกท่านจะมีความเชียวชาญทางด้านการผ่าตัดจุลศัลยกรรม เนื่องจากการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ต้องใช้ทักษะการฝึกฝน และมีประสบการณ์ในการผ่าตัดค่อนข้างสูง ที่สำคัญมือต้องนิ่งและมีความอดทนจึงจะสามารถผ่าตัดจุลศัลยกรรมได้ รวมถึงต้องอยู่ในโรงพยาบาลที่มีเครื่องมืออุปกรณ์พร้อมในการผ่าตัดจุลศัลยกรรม ซึ่งโรงพยาบาลภูมิพลถือได้ว่าเป็นโรงพยาบาลแรกที่มีการนำสารเรืองแสงมาช่วยในการผ่าตัดสมองด้วยวิธีจุลศัลยกรรม
สำหรับโรคที่ต้องรับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดสมองด้วยวิธีจุลศัลยกรรมนั้น น.อ.นพ.กลินท์ กล่าวว่า โรคที่ใช้รักษา หลัก ๆ คือโรคหลอดเลือดสมอง มะเร็งสมอง หรือการผ่าตัดเนื้องอกสมอง ที่จำเป็นต้องผ่าตัดในส่วนลึกของสมองซึ่งบางครั้งอาจถูกจำกัดด้วยสายตาของแพทย์ผู้ผ่าตัดทำให้เราต้องนำจุลศัลยกรรมเข้ามาช่วยในการผ่าตัด โดยสถานการณ์ของโรคเหล่านี้ในปัจจุบัน จากที่พบในโรงพยาบาลภูมิพลที่ส่งต่อมาในแผนกศัลยกรรมประสาทมีประมาณกว่า 30% ที่เป็นโรคเนื้องอกสมอง และประมาณ 1 ใน 3 ที่พบว่าเป็นมะเร็งสมอง ส่วนโรคหลอดเลือดสมองเราพบได้เรื่อย ๆ แทบทุกสัปดาห์ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้เราตรวจพบคนไข้ได้เร็วขึ้น อีกทั้งคนในปัจจุบันมีการศึกษาที่ดีขึ้น จึงมีการดูแลห่วงใยสุขภาพกันมากขึ้น