สุวิทย์ ชู มศว. เป็น “ตักศิลา” สร้างครู ดึงร่วมมือ ราชภัฏผลิตครูตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21
สุวิทย์ ชู มศว. เป็น “ตักศิลา” สร้างครู ดึงร่วมมือ ราชภัฏผลิตครูตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21
………………………………….
เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กับมหาวิทยาลัยวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (มศว.) พร้อมบรรยายพิเศษถึงบทบาทของมหาวิทยาต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ โดย ดร.สุวิทย์ กล่าวภายหลังมอบนโยบายว่า กว่า 70 ปีที่ผ่านมา มศว. ได้พัฒนาและหยั่งรากลึกมากในด้านการสร้างครู สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ต่อมาก็มีการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และด้านสุขภาพ การแพทย์ อีกทั้งยังมีเรื่องการสร้างนวัตกรรมต่างๆ ที่มีคุณค่าหรือ Value Creation ผ่านการการคิดอย่างสร้างสรรค์ ยกตัวอย่างผลงานเชิงประจักษ์ เช่น การออกแบบจิวเวอรี่ และการทอผ้าไหมไทย ผ้าม่อฮ่อม เป็นต้นซึ่งในภาพใหญ่ถือว่ามีความสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และยังตอบรับ อว. ในเรื่องการสร้างคน สร้างองค์ความรู้และสร้างนวัตกรรมอีกด้วย
มศว. เป็นมหาวิทยาลัยที่สามารถผสมผสานศิลปะและวิทยาศาสตร์ได้อย่างสมดุล และ มศว. มี 2 เรื่องที่สามารถหยิบยกขึ้นมาเป็นต้นแบบได้ คือ การค้นหาตัวเอง ทำให้มหาวิทยาลัยมีจุดเน้น จุดเด่นเฉพาะตัว และตอบโจทย์ประเทศได้
นายสุวิทย์ กล่าวต่อว่า มศว. เปรียบเสมือนตักศิลาในการสร้างครู มีการสร้างองค์ความรู้เรื่องของครูมามากมาย ตนจึงอยากฝากให้ทำหน้าที่นี้ต่อไป เพื่อสร้างครู สร้างครูของครู สร้างครูในศตวรรษที่ 21 ผ่านการทำวิจัยเชิงระบบในเรื่องของการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งสอดรับกับนโยบายของ อว. ที่นอกจากจะมุ่งพัฒนาคนแล้ว เรายังต้องการสร้างครูที่มีคุณภาพให้กับเด็กด้วย ที่สำคัญหากเราสามารถกำหนดนโยบายการศึกษาและกระบวนการการเรียนรู้ในอนาคตได้ ไม่ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินอยู่อย่างสมเหตุสมผล ซึ่งตนก็ได้ฝากให้ มศว. ไปขับเคลื่อน นอกจากนี้ตนยังเชื่อมั่นและมีความตั้งใจที่จะให้ มศว. เป็นต้นแบบในการผลิตครูให้กับกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) เนื่องจากภารกิจหลัก มรภ.ข้อหนึ่ง คือ เรื่องการผลิตครู และหาก มรภ.ทั้ง 38 แห่ง สามารถผลิตครูให้ตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21 ได้อย่างสมบูรณ์ และมีมาตรฐาน คุณภาพที่ดีพอ ตนเชื่อว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน โดยกลุ่ม มรภ.จะต้องเป็นเสาหลักของพื้นที่ ตอบโจทย์คนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งถือเป็นการการกระจายโอกาส อำนาจ และความมั่งคั่ง ที่ต้องเริ่มต้นจากการกระจายองค์ความรู้ แต่ต้องยอมรับว่าขณะนี้ภารกิจของ มรภ.ค่อนข้างที่จะกระจาย ดังนั้น มรภ.จะต้องผนึกกำลังกัน และหนึ่งในตักศิลาอยู่ที่ มศว. ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานจะต้องทำความร่วมมือกัน ทั้งเรื่องการสร้างคน การวิจัย และพัฒนานวัตกรรมการเรียนและการศึกษา สร้างความร่วมมือกันในลักษณะหุ้นส่วน ถ้ามีการบูรณาการกันก็จะเกิดพลังขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้ สามารถผลิตกำลังคนที่จะสามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดยเร็วๆ นี้ ตนจะไปเยี่ยมกลุ่ม มรภ. พร้อมกับนายสมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดี มศว. เพื่อที่จะมานั่งหารือร่วมกัน และยังกล่าวต่อว่า
“ตนได้รับทราบมาว่า คณะศึกษาศาสตร์ มศว. กำลังทำแผนบูรณาการพัฒนาต้นแบบครูของไทยด้วยงานวิจัย ซึ่งตนมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เป็นการลงทุนเพื่ออนาคต (Investment for the future) และได้ขอให้คณะศึกษาศาสตร์ ทำการวิจัยในเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ เพราะเรื่องของครูคือเรื่องที่ยิ่งใหญ่ของการสร้างคน การเป็นครู ต้องสร้างทั้งความเป็นครูและความเป็นคน มีจิตสาธารณะ มีความรู้เชิงระบบของการศึกษาและการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่ลึกและกว้างพอ เพื่อสร้างปัญญาให้เกิดขึ้น และได้ขอให้ มศว. ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยอาจศึกษาจากโมเดลการวิจัยเชิงระบบของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กระทรวงสาธารณสุข ที่สำคัญ โรงเรียนสาธิต มศว. ยังเป็นเสมือนสนามทดลอง ทดสอบลองของใหม่ๆ เป็นรูปแบบของการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง ทำให้เด็กกล้าที่จะล้มเหลว และทำลายตนเองก่อนที่คนอื่นจะทำลายเรา ซึ่งถือเป็นโมเดลทางการศึกษาที่น่าสนใจและนำไปปรับใช้กับโรงเรียนอื่นๆ ต่อไปได้” รมว.อว.กล่าวในที่สุด