แมว กับ โรคหัวใจ ตอนที่ 1
แมว สัตว์เลี้ยงคู่ใจที่มีความน่ารัก ขี้เล่น มีความเป็นตัวของตัวเองสูง แต่ก็ขีอ้อนในบางครั้ง ด้วยน่าตา และอุปนิสัยที่ยากจะคาดเดา ทำให้หลายๆ คนหลงรักในสัตว์เลี้ยงชนิดนี้มากขึ้น ปัจจุบันไม่ใช่แค่แมวไทยเท่านั้น แต่แมวสายพันธุ์น่ารักๆ มากมาย ที่พบเห็นกันมากขึ้น ทั้ง Persia, American shorthair หรือ Sphinx ที่หลายๆ คนเรียกว่าแมวไม่มีขนก็พอจะเห็นบ้างในบ้านเรา
การเลี้ยงดูแมว ก็คงไม่แตกต่างจากสัตว์เลี้ยงทั่วไป หรือจะให้ดี แมวก็เป็นสิ่งมีชิวิต เหมือนๆ กับคน ที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด พูดก็ไม่ได้ คงอ้อนได้อย่างเดียว แล้วก็ให้เราเดาว่าอยากได้อะไร ถูกบ้างผิดบ้าง แต่เราก็คงอยากจะให้สิ่งที่ดีที่สุดกับแมวเรา สัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รัก ที่เป็นเหมือนเพื่อน หรือลูกของเราก็ว่าได้
การดูแลอย่างใกล้ชิดที่ผู้เลี้ยงทุกคนคงทราบดีและทำอย่างต่อเนื่อง คือการทำวัคซีนประจำปี และการถ่ายพยาธิทุก 3 เดือน เป็นสิ่งจำเป็นที่เป็นเกราะป้องกันอันตรายให้กับเพื่อนสี่ขาของเรา นอกจากนี้การตรวจสุขภาพประจำปีก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ความผิดปกติบางอย่างไม่สามารถจะสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า และแมวก็คงไม่สามารถบอกเราได้ ดังนั้น การตรวจสุขภาพ “ที่มีความเหมาะสมตามช่วงอายุ” ย่อมทำให้เรารู้ทันโรคที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนที่จะแสดงอาการ
ความผิดปกติของแมวโดยส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นโรคใดๆก็ตาม มักจะสังเกตได้ยาก เนื่องจากแมวมักจะไม่แสดงอาการชัดเจน หรือมีความไม่เฉพาะเจาะจง คือ มีการซึม เบื่ออาหาร เล่นน้อยลง ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าผิดปกติที่ระบบไหน แต่เมื่อแสดงอาการของโรคแล้ว มักมีความรุนแรงมากจนถึงขั้นมีโอกาสเสียชีวิตได้
สำหรับโรคหัวใจในแมวสามารถเจอได้เช่นเดียวกับสุนัขหรือสัตว์ชนิดอื่นๆ แต่การตรวจพบเป็นไปได้ค่อนข้างยาก และอาการไม่มีความเฉพาะเจาะจงอย่างเช่นในสุนัข โดยโรคหัวใจสามารถจำแนกเป็น 2 กลุ่ม คือ ชนิดที่เป็นแต่กำเนิด พบได้แต่แต่ค่อนข้างน้อย เป็นความผิดปกติตั้งแต่การเจริญระหว่างการตั้งท้องของสัตว์ โดยพบว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ลูกสัตว์มักจะเจริญเติบโตช้า ตัวเล็กกว่าปกติ พบเพียงไม่กี่เปอร์เซนต์ แต่พบได้ เช่น ภาวะลิ้นหัวใจรั่วตั้งแต่กำเนิด ภาวะผนังกั้นห้องหัวใจเจริญผิดปกติ ส่วนอีกประเภทมักพบในช่วงที่แมวโตเต็มที่แล้ว เช่น ภาวะลิ้นหัวใจรั่ว แต่ที่มักพบได้บ่อย คือ ความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งเป็นความผิดปกติของหัวใจที่โครงสร้างของกล้ามเนื้อหัวใจมีการหนาตัวมากขึ้น ทำให้ช่องว่างในหัวใจที่ใช้ในการบรรจุเลือดมีพื้นที่น้อยลง และยังส่งผลถึงความสามารถในการบีบตัวของหัวใจด้วย ระหว่างที่โรคเริ่มมีพัฒนาการ แมวมักจะไม่แสดงอาการใดๆ แต่เมื่อใดก็ตามที่หัวใจที่ทำงานได้ไม่เต็มที่ ส่งผลต่อส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เมื่อนั้นเองที่แมวจะแสดงอาการอย่างเฉียบพลัน และอาการจะทรุดหนักจนถึงขั้นมีโอกาสเสียชีวิตได้
อาการของแมวที่มีโอกาสจะมีปัญหาเรื่องโรคหัวใจนั้น สังเกตได้ค่อนข้างยาก แมวบางตัวไม่แสดงอาการใดๆ แม้ว่าจะมีความผิดปกติของหัวใจอย่างรุนแรง แต่บางตัวมีปัญหาเพียงเล็กน้อยก็ส่งผลทำให้มีอาการเช่น ซึม ไม่มีแรง ทานได้น้อย เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่า ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อใด และความรุนแรงของโรคมากแค่ไหน
1. ซึม
2. อ่อนแรง
3. ลิ้นม่วง
4. เป็นลม
5. อัมพาตขาหลัง
ความผิดปกติที่พอจะสังเกตได้ที่บ้าน หากแมวมีความผิดปกติ 2-3 ข้อ จากที่กล่าวมาข้างต้น ควรตรวจสุขภาพอย่างละเอียด และโรคหัวใจก็เป็นหนึ่งในโรคที่ต้องเฝ้าระวัง
นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่สามารถโน้มนำให้แมวของเรามีโอกาสเกิดความผิดปกติของหัวใจที่โครงสร้างของกล้ามเนื้อหัวใจมีการหนาตัวมากขึ้น เช่น ภาวะโลหิตจาง โรคไทรอยด์เป็นพิษ และภาวะความดันโลหิตสูง เป็นต้น
จากที่กล่าวมาข้างต้น มีหลายปัจจัยที่ทำให้แมวของเรามีความเสี่ยงที่จะเข้าข่ายภาวะโรคหัวใจ การเฝ้าระวังก่อนปัญหาจะบานปลายย่อมดีที่สุด ดังนั้นการตรวจสุขภาพหัวใจในช่วงเวลาที่เหมาะสม จะทำให้เรารู้เท่าทันโรค และเตรียมรับมือเมื่อปัญหานั้นเกิดขึ้น อายุที่แนะนำให้เริ่มมีการตรวจสุขภาพหัวใจสำหรับแมวปกติ คือช่วงที่โตเต็มวัยหรืออายุประมาณ 5 ปี แต่หากว่าแมวมีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด ก็สามารถตรวจเช็คได้ก่อน ซึ่งแนะนำให้ขอรับคำปรึกษาหรือตรวจร่างกายกับสัตวแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป
แล้วการวินิจฉัยทำอย่างไร..??
ต้องเตรียมตัวอย่างไร…??
สามารถติดตามได้จากบทความในตอนถัดไปครับ
โดย…หมอน๊อต ทีมสัตวแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ
Tel : 02-7126301-4 Fax : 02-7125273
FB : โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ