1

ความจริงใจของภาครัฐต่อกรณีแบนสารเคมีเกษตร

กรมวิชาการเกษตรจัดประชุมเพื่อรวบรวมข้อมูลประกอบการพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตรายระดมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการอย่างสร้างสรรค์ รับฟังเสียงเกษตรกรกรณีแบนสารพาราควอต ,คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสท ปัจจัยสำคัญภาคการเกษตร กำหนดกรอบการทำงานชัดเจนป้องกันความสับสน หลังเกิดข่าวกระพือแบนสาร 2 ชนิดดันต้นทุนเกษตรพุ่ง
ปัจจุบันไทยนำเข้าสารเคมีในปี 2559 ที่ผ่านมา 154,568 ตัน คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 20,000 ล้านบาท ในขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)ย้ำว่าปี 2559 ประเทศไทยมีพื้นที่ภาคเกษตรประมาณ 149 ล้านไร่ มีแรงงานอยู่ในภาคการเกษตรประมาณ 17 ล้านคน สามารถผลิตสินค้าเกษตรเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ และยังสามารถทำรายได้จากการส่งออกถึงปีละ 1.22 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ มีพื้นที่ทำการเกษตรอินทรีย์(ไม่ใช้สารเคมี)เพียง 3 แสนไร่ หรือคิดเป็น 0.17 เปอร์เซ็นต์ของพื้นทีทั้งหมดหรือ 148.7 ล้านไร่ที่มีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพราะ “ภาคการเกษตร” คืออู่ข้าวอู่น้ำ ปากท้องของชนชั้นการผลิตของประเทศไทย
แต่ทันทีที่นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงแถลงความคืบหน้าของการทำงานพร้อมระบุว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตร 2 ตัวคือพาราควอต กับ คลอร์ไพริฟอส โดยให้จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ไม่อนุญาตให้ใช้ ระหว่างนี้ไม่อนุญาตขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไม่ต่ออายุทะเบียน ให้ยุติการนำเข้าภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 และยุติการใช้สิ้นเชิง 1 ธันวาคม 2562 จากวันนั้น สร้างความสับสนให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก เป็นเหตุให้เกิดการกักตุนสินค้าและขายราคาเกินกว่าความเป็นจริงถึง 20%
เพื่อสร้างความชัดเจน นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร จึงได้เชิญประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสำคัญในแง่ความเป็นพิษต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมถึงรับฟังเสียงของเกษตรกรผู้ใช้สารโดยตรง โดยย้ำว่าเวทีดังกล่าวไม่ใช่ประชาพิจารณ์ แต่เป็นการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในการพิจารณาตามกระบวนการ การเฝ้าระวังวัตถุอันตรายต่อไป
บรรยากาศเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการอันเกี่ยวข้องกับความเป็นพิษต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่กรมกองต่างๆ ส่งตัวแทนเข้ามาให้ความรู้แบบสร้างสรรค์ ทั้งจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กรมควบคุมมูลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ท่ามกลางผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น อาทิ สมาพันธ์ชาวสวนยาง สมาพันธ์ชาวนา,ชาวไร่อ้อย ,ชาวไร่มัน ,ชาวสวนปาล์มน้ำมัน ,ชาวนาไทย รวมถึงเครือข่ายเตือนภัยสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช,มูลนิธิชีววิถี,มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนสมาคมผู้ประกอบการสารเคมี เข้าร่วมกว่า 80 ชีวิต ข้อมูลยังคงวนเวียนเรื่องความเป็นพิษต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมซึ่งทุกคนรู้อยู่แล้ว แต่คำถามคือความชัดเจนเรื่องการแบนหรือไม่สำหรับสารเคมีทั้งสองตัวจากแง่มุมของผู้ใช้
นายสุกรรณ สังข์วรรณะ เกษตรกรดีเด่นจังหวัดสุพรรณบุรี ปราชญ์ชาวบ้าน และเป็นประธานศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้พร้อมคำถาม และคำชี้แจงในฐานะเกษตรกรผู้ใช้สารเคมีโดยตรงว่า จากข่าวการแบนสารพาราควอตและคลอริไพริฟอสนั้น ขณะนี้เกษตรกรมีความห่วงกังวลถึงการบริหารจัดการวัชพืชในไร่น่าของเกษตรกรในอนาคตว่าจะทำอย่างไรต่อไป หรือเกษตรกรต้องหันไปใช้วิธีถอนหญ้าด้วยมือหรืออุปกรณ์กำจัดวัชพืชแบบดั้งเดิม ซึ่งหากเป็นรูปแบบดังกล่าวเขาได้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า หากต้องการจะถอนหญ้าในแปลงขนาด 1 ไร่ใน 1 วัน แรงงาน 1 คนสามารถถอนหญ้าได้ 16 ตร.ม./ชม. ถ้าต้องถอน 1 ไร่ต้องใช้แรงงาน 14 คน มีต้นทุนค่าแรงอยู่ที่ เฉลี่ย 300 บาท ดังนั้นหากต้องการถอนหญ้าในแปลงจะมีต้นทุนอยู่ที่ 4,200 บาท ต่อไร่ ในขณะที่ใช้สารเคมีจะมีต้นทุนอยู่ที่ 100 บาทต่อไร่ เกษตรกรใช้สารดังกล่าวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น วันนี้หากพูดว่าจะสั่งแบนสารดังกล่าว ในความเป็นจริงกรมฯ ได้สั่งแบนแล้วหลายตัว แต่ปรากฏว่าสารดังกล่าวเกษตรกรก็ยังสามารถหาซื้อได้จากหลังร้าน
โดยเขายังได้นำเสนอทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีไม่ถูกต้องว่า วันนี้รูปแบบการใช้สารเคมีของภาคการเกษตรเปลี่ยนไป คนใช้จริงสัมผัสกับสารโดยตรงกลายเป็นผู้มีอาชีพรับจ้างฉีดพ่นหากกรมฯ สามารถจัดหลักสูตรอบรมสอนการฉีดพ่นการใช้สารอย่างถูกต้อง พร้อมออกใบรับรองให้สามารถทำงานรับจ้างฉีดพ่นได้อย่างถูกกฎหมาย ปัญหาความเป็นพิษจากการสัมผัสจะลดลงไป ในขณะที่การขึ้นทะเบียนเกษตรกรจะช่วยคัดกรองการซื้อสารเคมีจากร้านค้าที่ได้รับการรับรองจากกรมฯ จะช่วยให้ปัญหาการรับพิษ หรือเฝ้าระวังการนำไปใช้ไม่ถูกประเภทลดลงไปได้
ทางด้านนายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับกรณีความสับสนที่เกิดขึ้นว่า หน่วยงานทางวิชาการของภาคการเกษตรออกมาพูดถึงตัวเลขสากลที่รับได้ในค่ามาตรฐานให้สังคมคลายกังวล ต้องมีการนำเสนอข้อมูลในด้านมหภาคทางเศรษฐกิจมีเหตุผลอย่างไรในการนำเข้าสารเคมีดังกล่าวเข้ามาใช้
เขาได้ยกตัวอย่างภาคการผลิตอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ที่มีพื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศราว 10 ล้านไร่ มีตัวเลขผลผลิตต่อปีประมาณ 100 ล้านตัน มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ แสนล้านบาท ไทยส่งออกน้ำตาลและผลผลิตน้ำตาลในรูปแบบอื่นปัจจุบันสูงเป็นอันดับ 4 ของโลกรองจาก บราซิล อินเดีย และจีน แต่ในภูมิภาคอาเซียนไทยส่งออกคิดเป็นปริมาณ 50% ของการบริโภค ในขณะที่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย กำลังมุ่งไปที่พลังงานทดแทน ผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติก ไทยเป็นผู้นำของภูมิภาคอาเซียน จำเป็นที่พืชไร่อย่างอ้อยยังต้องพึ่งพาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในพื้นที่ไร่อ้อยขนาดใหญ่ และในกระบวนการปลูกอ้อยเองใช้สารเคมีสำหรับศัตรูพืชและวัชพืชอยู่ที่ ประมาณ 500 บาทต่อไร่ ในขณะที่ต้นทุนรวมอยู่ที่ 9,000 บาทต่อไร่ ถือว่ายังน้อยหากเทียบกับต้นทุนการผลิตทั้งหมด
หลังจบการประชุมวันนั้น เกษตรกรใจชื้นขึ้นที่ภาครัฐเข้ามา “ฟัง” ความจริงจากผู้ใช้ถึงความจำเป็นและภาระที่เกษตรกรเผชิญหน้าอยู่ ทว่าสิ่งที่เกษตรกรอยากให้ความจริงนี้สะท้อนเป็นความจริงใจของภาครัฐที่จะช่วยเหลือเกษตรกร 17 ล้านครัวเรือน ที่เป็นทั้งผู้ผลิต และฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจขนาด 1.22 ล้าน ต่อปีหรือไม่ อันนี้ต้องจับตากันต่อไป
++++++++++++++++++++++++++++++++++++