1

โลกเปลี่ยน…เรียนรู้แบบบูรณาการ ห้องเรียนอิสลามแห่งศตวรรษที่ 21

ระบบการศึกษาไทยในยุคดิจิทัล ให้ความสำคัญกับ ‘กระบวนการเรียนรู้’ เท่าๆ กับ ‘หลักสูตร’ และสนใจ ‘กระบวนการคิด’ มากพอๆ กับ ‘ความรู้’ … แนวทางพัฒนาจึงถูกยกระดับให้เกิดความน่าสนใจ มีการใช้นวัตกรรมสมัยใหม่มาผสมผสาน

โครงการ Samsung Smart Learning Center หรือ “ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต” ถูกจุดประกายขึ้นเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เป้าหมายคือส่งเสริมและพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 แก่เด็กและเยาวชนไทยทั่วประเทศผ่านแนวคิด ‘ห้องเรียนแห่งอนาคต’ นำเทคโนโลยีมากระตุ้นแรงบันดาลใจ เปิดพื้นที่การค้นหาศักยภาพตนเองเพื่อก้าวสู่โลกอนาคต

โรงเรียนศาสนศึกษา อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เป็น 1 ใน 47 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ และประสบความสำเร็จในการสร้าง ‘ห้องเรียนแห่งอนาคต’ นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือภายใน 2 ปี ความพิเศษของโรงเรียนแห่งนี้คือการเป็นโรงเรียนสอนศาสนา ที่ต้องสอนทั้งหลักสูตรสามัญและหลักสูตรอิสลามศึกษาควบคู่กัน

“ที่ผ่านมาเด็กๆ ต้องเรียนหนักมากและเน้นการท่องจำ เขาจึงเบื่อหน่าย ไม่สนุก ไร้ชีวิตชีวา ไม่กล้าแสดงออก เวลาเจอคนแปลกหน้าก็ไม่กล้าพูด ครูจึงเริ่มหาข้อมูลและสมัครเข้าร่วมโครงการ Samsung Smart Learning Center เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ กระทั่งเด็กสนใจ ชอบมาโรงเรียนและมีทักษะเพิ่มขึ้น” นางสาวอัสมะ หะยีมอหะมะสอและ ผู้อำนวยการโรงเรียนศาสนศึกษา ระบุ

โรงเรียนศาสนศึกษา เป็นโรงเรียนเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จัดตั้งขึ้นในรูปแบบของมูลนิธิ คิดค่าเทอมแค่ 100 บาท เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึง ม.6 ปัจจุบันมีจำนวนนักเรียน 1,648 คน ทุกคนล้วนนับถือศาสนาอิสลาม

นางสาวอัสมะ เล่าว่า โรงเรียนจัดทำหลักสูตรใหม่ที่บูรณาการทั้งวิชาสามัญและวิชาอิสลามศึกษา ในห้องเรียนแห่งอนาคตเด็กๆ จะได้เรียนรู้แบบ Active Learning ครูเป็นโค้ชหรือผู้อำนวยกระบวนการเรียนรู้ ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีที่ทำให้เกิดความน่าสนใจ กระทั่งพัฒนาเป็น “ห้องเรียนบูรณาการอิสลามศตวรรษที่ 21” เริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2560

ในฐานะผู้บริหาร นางสาวอัสมะต้องแบกรับความกดดันจากความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ช่วงแรกมีผู้ปกครองบางส่วนไม่เห็นด้วย เพราะเกรงจะทำให้วิชาเรียนศาสนาน้อยลงหรือปฏิบัติตามหลักศาสนาไม่เต็มที่ แต่เธอก็อธิบายว่า การเรียนรู้รูปแบบใหม่สามารถเชื่อมโยงความรู้ทางวิชาการและหลักศาสนา ให้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเด็กๆ ได้

“หลักสูตรของเราจะบูรณาการวิชาอิสลามศึกษากับวิชาสามัญ เพื่อให้นักเรียนใช้เวลาท่องจำน้อยลง แต่ได้เวลาเรียนรู้และมีความสุขที่มาโรงเรียนเพิ่มขึ้น”

นอกจากบูรณาการวิชาต่างๆ เข้าด้วยกัน หัวใจสำคัญของ “ห้องเรียนบูรณาการอิสลามศตวรรษที่ 21” ยังเชื่อมโยงกับชุมชน โดยที่ผ่านมาปัญหาความไม่สงบ ทำให้ครูไม่เคยพาเด็กๆ ออกสู่โลกกว้าง แต่เมื่อเข้าโครงการ Samsung Smart Learning Center มีการปรับวิธีคิดและนำเด็กๆ ทำงานแบบกลุ่ม ลงพื้นที่ศึกษาเรื่องราวคนท้องถิ่น ปรากฎว่าได้รับการตอบรับจากชุมชนอย่างดี ขณะที่เด็กๆ ก็ตื่นเต้นที่ได้เรียนรู้จากคนจริงๆ แทนที่การเรียนจากหนังสือหรืออินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว

ครูสุนันต์ สะซีลอ หรือ “ครูฟี” ผู้สอนวิทยาศาสตร์ และครูที่ปรึกษาหลักประจำโครงการ Samsung Smart Learning Center ของโรงเรียนศาสนศึกษา กล่าวว่า ครูจะทำหน้าที่เป็นโค้ชดูแลให้เด็กอยู่ในประเด็นสาระการเรียนรู้ สามารถตั้งคำถาม นำเสนอความคิดเห็น ใช้เทคโนโลยีค้นคว้า แก้ปัญหา และระดมสมอง ทำงานเป็นทีม โดยมีวิชาอิสลามศึกษาสอดแทรกในทุกเนื้อหา เช่น วิธีบริหารเงินตามหลักศาสนาไม่คิดดอกเบี้ย ต้องทำอย่างไร เป็นต้น

ปัจจุบัน ครูฟีและครูของโรงเรียนศาสนศึกษาที่เคยเข้าร่วมการอบรมของโครงการ ได้สร้างทีมครูรุ่นใหม่ที่พร้อมปรับเปลี่ยนวิธีการการสอน เพื่อให้เด็กๆ ได้รับความรู้ พัฒนาทักษะ และมีความสุขในการเรียน

ครูฟี กล่าวว่า ความเคยชินเดิมๆ คือครูต้องถือไม้เรียวทุกเช้า แต่วันนี้เปลี่ยนแนวคิดใหม่ว่า ถ้าครูมีคอนเทนต์ที่ดี มีกระบวนการสอนที่เชื่อมโยง จะดึงดูดให้เด็กหันมาสนใจเรียนรู้ กลยุทธ์หนึ่งที่ใช้คือการนั่งเรียนแบบโต๊ะกลม ทำให้เด็กและครูสามารถสื่อสารกันได้อย่างใกล้ชิด

“เด็กๆ อยากมาเรียนหนังสือ บางคนขอเพิ่มอีก 1 วันต่อสัปดาห์ วันไหนขาดเรียนเขาจะเสียใจมาก เฟซบุ๊กมาเล่าให้ครูฟัง เมื่อก่อนเวลาฝนตกหนัก ห้องเรียน 30 คน จะเหลือแค่คนสองคน แต่ทุกวันนี้มาถึง 27 คน เราเห็นพัฒนาการความสำเร็จตรงนี้”

ด้าน ครูซาฮีดา มะเสาะห์ ผู้สอนวิชาภาษาไทย เล่าว่า เหนื่อยแค่ไหนครูทุกคนก็พร้อมจะทำเพื่อเด็กๆ ตัวอย่างที่เห็นคือ ด.ช.อับดุลซาลาม ที่เห็นพ่อแม่เสียชีวิตจากเหตุก่อการร้ายต่อหน้าต่อตาจนกลายเป็นโรคซึมเศร้า ไม่สื่อสารกับใครและปกติจะซ่อนตัวอยู่ใต้โต๊ะ เมื่อมาอยู่โรงเรียนศาสนศึกษา ครูใช้เวลาพัฒนาการเรียนรู้ร่วมกัน จนตอนนี้ ด.ช.อับุดลซาลาม มีความสุขที่ได้มาเรียนร่วมกับเพื่อนๆ กล้าออกมาแสดงละครหรือร่วมกิจกรรม จนเราต้องเชิญครูประถมมาดูให้เห็นกับตา ว่าอับดุลซาลามเปลี่ยนไปเป็นคนละคน

“ครูเองก็มีลูกแต่เราก็ต้องเสียสละเวลาส่วนตัว เพราะเห็นแล้วว่าการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ทำให้เด็กๆ มีแรงบันดาลใจและจะทำให้พวกเขาเป็นคนดีในสังคมได้”

นายทรงพล ขวัญชื่น ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชน จังหวัดปัตตานี สนับสนุนว่า แนวทางที่โครงการ Samsung Smart Learning Center นำมาใช้ ทำให้เด็กๆ กล้าแสดงออกและตั้งคำถามแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครู ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการกำลังนำแนวทาง Active Learning มาพัฒนาเช่นกัน คิดว่าเด็กมีความพร้อม แต่ขึ้นกับผู้ใหญ่จะกล้าเปลี่ยนแค่ไหน

รศ.ดร.อิบรอฮีม ณรงค์รักษาเขต รองผู้อำนวยการฝ่ายบัณฑิตและวิจัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ผู้นับถือศาสนาอิสลามจะเรียนปอเนาะตั้งแต่เด็ก เป็นชีวิตที่ศึกษาหนักมาก และไม่มีโอกาสใช้เวลาส่วนตัว สิ่งสำคัญคือเราจะทำอย่างไรให้เด็กเรียนน้อยลงภายใต้โมเดลที่เหมาะสม ซึ่งแนวทาง “ห้องเรียนบูรณาการอิสลามศตวรรษที่ 21” น่าสนใจและควรนำไปทำความเข้าใจกับครูหรือผู้บริหารโรงเรียนสอนศาสนาต่อไปด้วย

ด้านผู้ริเริ่มและขับเคลื่อน คุณวาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการโครงการ Samsung Smart Learning Center เปิดเผยว่า ความสำเร็จของห้องเรียนแห่งอนาคต ไม่ได้เกิดจากเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ครูผู้ทำหน้าที่โค้ชให้เด็กๆ มีความสำคัญมาก รวมทั้งกระบวนการสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ต่อยอดขึ้นหลังจากนั้นด้วย

“โครงการ Samsung Smart Learning Center จะขยายเครือข่ายโรงเรียนที่ร่วมโครงการจาก 47 แห่ง เป็น 50 แห่งในปีนี้ และเราพร้อมสนับสนุนให้ทุกโรงเรียนในโครงการ ต่อยอดแนวคิดห้องเรียนอนาคตเพื่อพัฒนาเป็นหลักสูตร เหมือนที่โรงเรียนศาสนศึกษาได้ทำจนประสบความสำเร็จ”

หากแรงบันดาลใจสำคัญกว่าความรู้จริงๆ โครงการ Samsung Smart Learning Center ก็ถือเป็นแรงผลักดันให้เด็กไทยทั่วประเทศ ทุกๆ ศาสนา สามารถเข้าถึงการเรียนรู้อย่างไร้พรมแดน…นี่คือทักษะที่จะพาเด็กไทยก้าวไปสู่อาชีพท้าทายและโลกที่ล้ำหน้าด้วยนวัตกรรมอย่างแท้จริง