1

การผสานที่ลงตัวของวิศวะและแฟชั่น ในธีมแคชชวล โซไซตี้ 4.0 ส่งทีมยังดีไซเนอร์จากรั้วแม่โดมคว้าชัยไปญี่ปุ่น

คณะผู้บริหารเครือสหพัฒน์ มอบรางวัลในโครงการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกาย “SAHA GROUP BANGKOK YOUNG DESIGNER AWARDS 2018” (สหกรุ๊ป แบงค็อก ยัง ดีไซเนอร์ อวอร์ด 2018) เปิดบันไดก้าวแรกในเส้นทางดีไซเนอร์มืออาชีพมาอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 17 โดยปีนี้ได้กำหนดคอนเซ็ปต์ “CASUAL SOCIETY 4.0 (แคชชวล โซไซตี้ 4.0) เมื่อสังคมขยับ ดีไซน์ต้องปรับให้ทัน” เป็นการออกแบบสร้างสรรค์ชุดในสไตล์ที่ดูล้ำสมัยเหมาะกับสังคมยุคดิจิทัลแต่ใส่ได้จริงให้กลายเป็นเทรนด์อนาคต ซึ่งเปิดรับสมัครนักศึกษาอายุ 18 – 25 ปี จับคู่ทีมละ 2 คน เข้ามาประกวดแข่งขันเพื่อชิงเงินรางวัลและบินลัดฟ้าสู่กรุงโตเกียวชมแฟชั่นโชว์สุดตระการตาของ Bunka Fashion Collage ที่ญี่ปุ่น และรับคอร์สเรียนจาก Bunka Fashion School ในไทย พร้อมรางวัลอื่นๆ รวมมูลค่ากว่า 550,000 บาท ที่สำคัญยังดีไซเนอร์ที่ผ่านโครงการฯ นี้ มีโอกาสได้ร่วมงานกับบริษัทในเครือสหพัฒน์อีกด้วย

สำหรับการแข่งขันได้ปีนี้ได้เดินทางมาถึง “รอบชิงชนะเลิศ” มีผู้เข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย เป็น นักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดโดยสามารถตอบโจทย์แนวคิดในปีนี้ และมีฝีมือเข้าตากรรมการมากที่สุด ซึ่งน้องๆ ทุกทีมได้จัดเตรียมผลงานกว่า 70 ชุดที่ได้รับทุนตัดเย็บชุดจริงในสไตล์ครีเอทีฟแวร์และเรดดี้ทูแวร์ ที่ทันสมัยแต่ใส่ได้จริง เพื่อจัดแสดงแฟชั่นโชว์ต่อหน้าบุคลากรระดับแนวหน้าที่ให้เกียรติมาเป็นคณะกรรมการตัดสิน ทั้งผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับการออกแบบและผู้บริหารด้านธุรกิจสิ่งทอ อาทิ สุวิทย์ วงศ์เจริญวุฒภร กัลยา ไวยานนท์ ตวงทิพย์ ณ นคร ธนฤทธิ์ แสงสิน ผ่านการแสดงแบบของเหล่าโมเดลทั้งชาย หญิง และเด็กเลือดใหม่ไฟแรง จีน่า-วิรายา ภัทรโชคชัย หลิน-มชณต สุวรรณมาศ มะปราง-จุติพร อรุณโชติ แนท-อนิพรณ์ เฉลิมบูรณะวงศ์ ฯลฯ ดำเนินรายการโดยพิธีกรคู่ ดีเจเก่ง-มนต์ชัย ชื่นประภารัตน์และปุ๊กกี้-ปวีณ์นุช แพ่งนคร ณ ไบเทค บางนา

สำหรับผลการประกวด เวทีสหกรุ๊ปฯ ได้นักศึกษาจาก ม. ธรรมศาสตร์ น.ส. อภิญญา ทรงพลยศ-น.ส. มณีรัตน์ ฉัตรชูไชยกุล คว้ารางวัลชนะเลิศยอดเยี่ยม รับเงินสด 100,000 บาท รวมถึงแพ็กเก็จท่องแดนอาทิตย์อุทัย พร้อมโล่รางวัลและใบประกาศ โดยแชมป์ยังดีไซเนอร์หมาดๆ ได้เปิดใจ “เริ่มแรกจากการที่มีวิทยากรเข้ามาบรรยายในมหาวิทยาลัยค่ะ เห็นว่างานนี้มีความน่าสนใจจะได้ฝึกฝนตัวเอง จึงชวนเพื่อนอีกคนเข้ามาร่วมทีม โจทย์ในงานจะต้องออกแบบคือ แคชชวล โซไซตี้ 4.0 เลยลองทำรีเสิร์ทชหาข้อมูลว่ามันเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง ก็ไปพบว่ามีหัวข้อที่เกี่ยวกับชนชั้นแรงงานในยุคปัจจุบัน เลยดึงขึ้นมาเป็นไกด์ก่อนเพื่อจะหาดีไซน์เพิ่ม และหยิบเอาธุรกิจของที่บ้านคือคุณพ่อขายเครื่องมือเกี่ยวกับงานด้านวิศวกร เข้ามาเป็นแนว และมาลองคิดหาว่าเนื้อผ้าไหนที่เหมาะสมกับงานประเภทนี้ ดีไซน์ออกมาหลายแบบค่ะ แพทเทิร์นมีทั้งแบบลำลองขาสั้น ชุดเอี๊ยม เสื้อโค้ทแบบใส่คลุม จากผ้าชาแนล ดัตเชส ซาติน ที่เนื้อผ้ามีความทนทานและไม่ได้เรียบจนเกินไป ลงดีเทลคัตติ้งให้มีความแข็งแรง แน่นหนาเป็นพิเศษ มีความทะมัดทะแมง คล่องตัวเพื่อการสวมใส่ในไซต์งานจริงได้ โทนสีเน้นให้ดูคลีนๆ เลือกใช้สีขาว เหลือง ดำ น้ำเงิน ที่สามารถสวมใส่ได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง เสริมบุคลิกแบบนายช่าง ดูมีความน่าเชื่อถือ เพิ่มดีฟังก์ชั่นกระเป๋าที่เก็บเครื่องมือต่างๆ ไว้ใกล้ตัวได้ และออกแบบลายพริ้นท์สำหรับตกแต่งเอง งานนี้มีความท้าทายตั้งแต่แรก เพราะการทำชุดแบบนี้แทบไม่ใช่สไตล์ของเราเลย และจากที่เรียนมาก็ไม่เคยได้ทำเสื้อผ้าแนวนี้มาก่อน ประสบการณ์นี้ถือว่าใหม่มากๆ ได้ฝึกแก้ไขสถานการณ์จากหน้างานจริงที่เราต้องแก้งานจนถึงก่อนขึ้นเวทีก็มี และได้แลกเปลี่ยนความคิด มุมมองกับเพื่อนใหม่ต่างสถาบัน ได้ความรู้เพิ่มเรื่องเมคอัพหน้า ผม ที่มีส่วนเสริมชุดของเรา ได้ลองทำงานจริงตัดเย็บจริงให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ดีใจมากค่ะ ในที่สุดความตั้งใจทั้งหมดก็ขึ้นไปโชว์บนแคทวอล์คในเวทีใหญ่ๆ แบบนี้และได้รางวัลใหญ่ที่สุดเป็นครั้งแรกในชีวิต”