สถาบันวัคซีนแห่งชาติฯ ชี้!! ความจำเป็นของการออกกฎหมายว่าด้วยการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
ดร.นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ(องค์การมหาชน) (สวช.) กล่าวว่า วัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคถือเป็นมาตรการทางด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพและความคุ้มทุนสูงสุดในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออันตรายที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยเครื่องมือดังกล่าวเป็นที่ยอมรับและใช้กันอย่างกว้างขวางทั่วโลก ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ให้คำแนะนำและวางแนวทางในการดำเนิน “โครงการขยายการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค” (Expanded Program on Immunization; EPI) ให้ประเทศต่างๆ นำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดอัตราป่วย อัตราตาย และความพิการที่เกิดจากโรคติดต่อป้องกันได้ด้วยวัคซีน
ประเทศไทยในฐานะหนึ่งในประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO Member States) ได้เริ่มดำเนิน“โครงการขยายการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่จัดหาและกระจายวัคซีน และต่อมาหลังปี พ.ศ. 2553 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวแทน โดยโครงการดังกล่าวถือเป็นบริการสาธารณะที่รัฐจัดบริการฟรีให้แก่ประชากรกลุ่มเป้าหมายโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ระยะแรกเริ่มให้บริการด้วยวัคซีนเพียง 4 ชนิด ป้องกันได้ 6 โรค ได้แก่ วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยักและไอกรน (DTP) วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ (OPV) ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก (TT) ในหญิงมีครรภ์ ปัจจุบันมีวัคซีนที่บรรจุและใช้ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 12 ชนิด ป้องกันได้ 11 โรค ได้แก่ วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี (HB) วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยักและไอกรน (DTP, DTP-HB, dT) วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ (OPV และ/หรือ IPV) วัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมันและคางทูม (MMR, MR) วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจ อี (live attenuated หรือ chimeric JE) และวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก (HPV)
ดร.นพ.จรุง กล่าวต่อไปว่าที่ผ่านมาการจัดบริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทยเป็นเพียงการจัดบริการภายใต้สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยในการรับบริการสาธารณสุข การป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ไม่มีกฎหมายหรือระเบียบรองรับเป็นการเฉพาะ ซึ่งแตกต่างจากหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน เช่น บรูไนดารุสซาลาม ที่มีการออกกฎหมายว่าด้วยการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดบริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ โดยกฎหมายดังกล่าวถูกบรรจุเป็นหมวดหนึ่งภายใต้พระราชบัญญัติโรคติดเชื้อฉบับปรับปรุง พ.ศ.2553 ในขณะที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว การออกกฎหมายว่าด้วยการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ และคาดว่าจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในเร็ววันนี้
ที่สำคัญพบว่าปัจจุบันหลายประเทศในแถบลาตินอเมริกาและแคริบเบียนได้มีการออกกฎหมายว่าด้วยการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคขึ้นใน 2 ลักษณะ ได้แก่ 1) กฏหมายเดี่ยวที่ออกเป็นการเฉพาะ (Vaccination Laws หรือ Immunization Act และ 2) กฏหมายลูก เช่น ระเบียบ ประกาศ ฯลฯ ภายใต้กฏหมายหลัก (Vaccination Legislation) ซึ่งส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. การปกป้องแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเพื่อความยั่งยืนในอนาคต เช่น ปกป้องงบประมาณที่ใช้จัดซื้อวัคซีน กำหนดให้บริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเป็นบริการแบบบังคับ ประกาศให้บริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเป็นบริการสาธารณะและกำหนดตารางการสร้างเสริมภูมิคุมกันโรคที่ชัดเจน 2.การปกป้องสิทธิส่วนบุคคลในการเข้าถึงบริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค 3.การประกาศให้บริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเป็นบริการสาธารณะและเป็นความรับผิดชอบของรัฐในการจัดบริการให้กับประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นต้น ส่งผลให้ประเทศเหล่านั้นมีระบบการให้บริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่เข้มแข็งและยั่งยืน ทั้งในแง่ของการบริหารจัดการแผนงาน และงบประมาณที่ใช้ในการจัดซื้อวัคซีน ซึ่งองค์การอนามัยโลกประจำภาคพื้นอเมริกา (Pan American Health Organization; PAHO) ได้ร่วมมือกับรัฐสภาลาตินอเมริการ่างต้นแบบกฎหมายว่าด้วยการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและแบ่งปันให้กับหน่วยงานที่ทำหน้าที่ออกกฎหมายของแต่ละประเทศภายในภูมิภาคนำไปดำเนินการต่อ ซึ่งนำไปสู่การออกกฎหมายว่าด้วยการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคระดับประเทศจำนวนหลายฉบับ ส่งผลให้โครงการขยายการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันได้รับการบรรจุเป็นวาระด้านสาธารณสุขที่สำคัญทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค
ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวสอดคล้องกับมติที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly; WHA) ครั้งที่ 65 ปี 2555 มีมติเห็นชอบข้อเสนอเรื่องการออกกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และนโยบายเพื่อสนับสนุนโครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการวัคซีนโลก (Global Vaccine Action Plan; GVAP 2553-2563) และได้ร้องขอให้รัฐบาลของประเทศสมาชิกในฐานะผู้จัดและให้บริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค จัดทำและออกกฎหมายเพื่อสนับสนุนโครงการสร้างเสริมภูมิคุมกันโรค และสนับสนุนความมั่นคงด้านอุปทาน ได้แก่ วัคซีนที่มีคุณภาพ ผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย และจัดหางบประมาณในการจัดซื้อวัคซีนให้เพียงพอ เพื่อความยั่งยืนของแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค รวมถึงการติดตามและประเมินผล
ดร.นพ.จรุง กล่าวย้ำว่ากฎหมายว่าด้วยการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานตามโครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทย เนื่องจากโรคติดต่อป้องกันด้วยวัคซีน (Vaccine Preventable Diseases; VPDs) ยังคงเป็นสาเหตุหลักของการป่วยและเสียชีวิต ประกอบกับการนำวัคซีนใหม่เข้ามาใช้ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคมีความล่าช้าและส่งผลกระทบต่องบประมาณค่อนข้างสูง ปัญหาการขาดแคลนวัคซีนในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ความแตกต่างระหว่างช่องว่างความครอบคลุม (Coverage gaps) ของการได้รับวัคซีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองและชนบท ประชากรที่มีรายได้สูงและรายได้ต่ำ รวมถึงการดำเนินงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในอนาคตคาดว่าจะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น สาเหตุอาจเกิดจากกลุ่มที่ลังเลหรือขาดความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน รวมถึงความเชื่อทางด้านศาสนา เป็นต้น
ดังนั้น การมีกฏหมายดังกล่าวจะช่วยเพิ่มอัตราความครอบคลุมของการได้รับวัคซีน (Vaccination coverage rate) เพิ่มความมั่นคงด้านวัคซีนในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคทั้งในแง่ของงบประมาณที่ใช้จัดซื้อและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงสร้างความเข้าใจ ความสำคัญ และประโยชน์ของการได้วัคซีน เพื่อการป้องกันโรคทั้งในระดับบุคคลและชุมชน เสมือนเป็นสิทธิและหน้าที่ของบุคคล สถาบันวัคซีนแห่งชาติฯ ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงและการพึ่งตนเองด้านวัคซีนของประเทศ อยู่ระหว่างทำการศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดทำกฎหมายว่าด้วยการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคสำหรับประเทศไทย โดยมีกิจกรรมครอบคลุมการทบทวนเอกสารด้านระเบียบข้อบังคับ ประกาศกระทรวง กฎหมาย พระราชกฤษฎีกา พระราชบัญญัติ และรัฐธรรมนูญ เอกสารกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการสัมภาษณ์ผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสุขภาพ และการเก็บข้อมูลจากผู้ปฏิบัติงานด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป
“ซึ่งในบริบทของประเทศไทยเบื้องต้นมีความเป็นไปได้ที่จะออกเป็นกฏหมายใหม่หรือออกเป็นกฏหมายลูก ภายใต้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พุทธศักราช 2558 ที่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติประกาศกำหนด “การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค” เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ทั้งนี้การนำกฎหมายดังกล่าวมาใช้จะต้องคำนึงประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนจะได้รับและประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและการบรรลุเป้าหมายหลัก คือการปกป้องประชาชนให้ปลอดภัยจากโรคติดต่ออันตรายที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ประเทศมีความมั่นคงด้านวัคซีน สอดคล้องกับสถานการณ์ทางด้านสุขภาพที่มีความซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบาดของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ รวมถึงบริบททางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป”ดร.นพ.จรุง กล่าวปิดท้าย