สมาคมวิศวกรเครื่องกลไทย- วิศวะมหิดล จัดงานประชุมวิศวกรรมเครื่องกลแห่งประเทศไทย
สมาคมวิศวกรเครื่องกลไทย – คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผนึกพลัง รับมือนิวนอร์มอล จัดงานประชุมวิชาการเครือข่ายวิศวกรรมเครื่องกลแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 34 (ME-NETT 2020) โดยมี ศ.ดร. ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช นายกสมาคมวิศวกรเครื่องกลไทย , รศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวะมหิดล , คุณภิรมย์ นิลทยา รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร่วมเป็นประธานพิธีเปิดงาน พร้อมด้วยรศ.ดร. ธนภัทร์ วานิชานนท์ ประธานคณะกรรมการจัดงาน และ ผศ.ดร.สราวุธ เวชกิจ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ร่วมพิธี ท่ามกลางบุคคลากรชั้นนำในวงการวิศวกรรมและเทคโนโลยีของไทย ณ วรวนา หัวหินโฮเต็ล ประจวบคีรีขันธ์
โดยมีวัตถุประสงค์ของการจัดงาน เพื่อเปิดเวทีระดมความคิดเห็นแนวโน้มของวิศวกรรมเครื่องกลยุคนิวนอร์มอล เสนอผลงานวิจัยและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี บูรณาการพหุศาสตร์ในนวัตกรรมเพื่อสร้างความยั่งยืน รวมถึงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย
ภายในงานมีการบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “การพึ่งพาเทคโนโลยีและศักยภาพภายในประเทศเพื่อการสร้างนวัตกรรม สู่อนาคตแห่งความยั่งยืน” โดย รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “เดินหน้าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน…ประจวบคีรีขันธ์โมเดล” โดย นายภิรมย์ นิลทยา รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมเปิดเวทีเสวนา หัวข้อ “ก้าวใหม่วิศวกรรมเครื่องกล…ในวิถีนิวนอร์มอล” (ME New Normal) โดย ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช นายกวิศวกรเครื่องกลไทย, ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, ผศ.ดร.ชลธิศ เอี่ยมวรวุฒิกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
ไฮไลท์ของงาน มีองค์ความรู้จากงานวิจัยด้านวิศวกรรมเครื่องกล รวม 9 สาขา และการสัมมนาในหลากหลายหัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่ หัวข้อเทคโนโลยีการออกแบบและการผลิตในยุคอุตสาหกรรม 4.0, การควบคุมทิศทางการไหลของอากาศในสถานพยาบาล, การเรียนการสอนในระบบออนไลน์, การใช้โปรแกรม CFD Simulation สำหรับเทคโนโลยี Additive Manufacturing, CAE Co-Simulation: Where Multiphysics Gets Real, คอร์สออนไลน์: ทางเลือกสำหรับการ Up-Skill และ Re-Skill, การวิเคราะห์สมบัติทางความร้อนกับงานด้านวิศวกรรม, ทุนกับทิศทางงานวิจัยทางวิศวกรรมเครื่องกลและการมีส่วนร่วมของชุมชน เป็นต้น