เสนอแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ในการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมถึงสัตว์
เสนอแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ในการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมถึงสัตว์
วันที่ 17 มีนาคม 2563 ที่ห้องประชุมหมายเลข 411 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล ได้ยื่นจดหมายและเสนอความคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และ แนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยมี นายวิเชียร ชวลิต เป็นประธานในที่ประชุม และมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วลัยพร รัตนเศรษ และศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น
ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล กล่าวว่า เนื่องจากทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องสัตว์ เกี่ยวกับการคุ้มครองดูแลสัตว์ไม่ให้ถูกทารุณกรรมทั้งสัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า สัตว์เศรษฐกิจและสัตว์ทดลอง รวมทั้งการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้เกิดความเหมาะสม ตามรายชนิด ประเภทของสัตว์นั้น โดยมีความพยายามในการเสนอคำประกาศหรือปฏิญญาว่าด้วยสิทธิหรือสวัสดิภาพสัตว์ในระดับสากลอยู่หลายครั้ง เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิสัตว์ (Universal Declaration of Animal Rights) จากกลุ่มนักการทูต นักวิทยาศาสตร์ นักสังคม เป็นต้น ได้ร่วมกันประกาศ ที่ UNESCO ประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยประสงค์ให้ปฏิญญาดังกล่าวเป็นหลักใช้บังคับทั่วไปในระดับสากลและนานาชาติในด้านจริยธรรมของมนุษย์ที่มีต่อสัตว์ ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมปฏิญญาดังกล่าว โดยสมัชชาสิทธิสัตว์นานาชาติ (the international League of Animal Rights) โดยสาระสำคัญ เพื่อการรับรองว่า “สัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ มนุษย์ จึงไม่ควรกำจัดหรือกระทำการทารุณกรรมต่อสัตว์ นอกจากนี้มนุษย์ยังมีหน้าที่ต้องดูแลจัดสวัสดิภาพสัตว์ โดยถือว่าสัตว์มีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองปกป้องจากมนุษย์ โดยสัตว์จะต้องไม่ถูกกระทำให้เจ็บป่วยหรือทารุณกรรมหากจะมีการฆ่าสัตว์ ก็จะต้องใช้วิธีที่เกิดผลฉับพลันโดยไม่ทำให้สัตว์เครียด” เป็นต้น
ถึงแม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญต่อสัตว์มาอย่างช้านาน แต่ในแง่กฎหมายนั้นมีแต่การบัญญัติกฎหมายลำดับรองต่าง ๆ ได้แก่ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง หรือประกาศเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องหลากหลายฉบับเท่านั้น แม้แต่มีกฎหมายกลางระดับพระราชบัญญัติ ซึ่งมีความหลากหลายของกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ก็ยังคงมีผลอยู่เหมือนเดิม เพราะยังมิได้ถูกยกเลิกและยังคงใช้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนั้น ๆ เช่นกฎหมายที่เกี่ยวกับช้างนั้น มีอย่างน้อยที่เกี่ยวข้องกว่า 18 ฉบับ และมีหลายหน่วยงานหลายกระทรวงที่รับผิดชอบ จนไม่สามารถบังคับใช้หรือปฏิบัติตามกฎหมายนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะกฎหมายบางฉบับเกิดความล้าสมัยหรือขัดกันแต่ก็ไม่สามารถยกเลิกได้
อีกทั้งเมื่อมีการพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทุกฉบับก ลับไม่พบว่ามีมาตราใด ที่มีการบัญญัติรับรองคุ้มครองสัตว์และดูแลสัตว์ไว้โดยตรงเฉพาะแม้แต่มาตราเดียว แม้ในปัจจุบันรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จะกล่าวถึงเรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ที่ดิน ทรัพยากร น้ำและพลังงาน ไว้แต่ก็มิได้กล่าวถึงการรับรองคุ้มครองดูแลครอบคลุมไปถึงสัตว์ด้วย
ดังนั้นวันนี้จึงจะขอเสนอความคิดเห็นให้ที่ประชุมช่วยพิจารณาหลักการ เรื่อง “การรับรองและคุ้มครองสัตว์ไม่ให้ถูกทารุณกรรมโดยไม่มีเหตุอันสมควรและมีการจัดสวัสดิภาพสัตว์อย่างเหมาะสม ครอบคลุมรวมถึงสัตว์ป่า ที่ย่อมมีสิทธิที่จะอยู่ในธรรมชาติ ทั้งในผืนน้ำ บนดินและอากาศรวมทั้งมีสิทธิในการสืบเผ่าพันธุ์ของตน สัตว์เลี้ยงมีสิทธิได้รับการเลี้ยงดูอย่างสมบูรณ์ตามธรรมชาติและมีการจัดสวัสดิภาพอย่างเหมาะสม สัตว์เลี้ยงเชิงพานิชย์จะต้องได้รับการเลี้ยงดู ขนส่ง และฆ่าปราศจากการทารุณกรรม สำหรับสัตว์ทดลองนั้น ควรมีการลดจำนวนสัตว์ที่มาทดลอง การปรับเปลี่ยนกระบวนการทำการทดลองสัตว์ให้ดีขึ้น ด้วยการทดแทนการทดลองในสัตว์ด้วยวิธีการอื่น ที่ปราศจาการการทารุณกรรม” ไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองดูแลสัตว์ ในการบริการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดีของไทยสืบต่อไป