ปฏิรูปคุณภาพคนและพลเมือง… “สื่อ”เป็นโรงเรียนของสังคม
ในงาน “สปช. รายงานประชาชน…เปลี่ยนประเทศไทยกับสปช.” จัดโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ สี่แยกราชประสงค์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศ สรุปผลงานและส่งมอบวาระการปฏิรูป 37 ประเด็น และ 6 วาระพัฒนา แก่รัฐบาลตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 นั้น คณะกรรมาธิการฯทั้ง 3 คณะ ได้แก่ คณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาฯ คณะกรรมาธิการปฏิรูปศิลปะ วัฒนธรรม และศาสนา และคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้มีความเห็นร่วมกันในการปฏิรูปทุกด้านที่กล่าวไปแล้วในรูปแบบองค์รวม ได้นำเสนอการบูรณาการแนวคิดการศึกษา วัฒนธรรม และศาสนาและสื่อ เป็นแนวคิดเพื่อสร้างพลเมืองที่มีความรู้ มีคุณภาพ มีคุณธรรม จริยธรรม มีจิตใจที่เอื้อเฟื้อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีศิลปะ ศาสนา วัฒนธรรมและเป็นเครื่องช่วยนำทางการดำเนินชีวิต โดยมีสื่อเป็นเครื่องมือช่วยสื่อสารและบูรณาการเนื้อหาสาระดังกล่าวไปสู่ประชาชน ให้สื่อได้ทำหน้าที่เป็นโรงเรียนของสังคม
รองศาสตราจารย์จุมพล รอดคำดี ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) กล่าวว่า ระบบการพัฒนาคนของสังคมในปัจจุบันนี้ ยังไม่สามารถ สร้างค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม เพื่อความเป็นพลเมืองที่ดี เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ตามความต้องการได้ เพราะการศึกษาเน้นหนักไปในด้านการสอน แบบท่องจำ ที่ติดอยู่กับระบบที่ตึงตัว เน้นหนักในการเรียนในห้องเรียน มากกว่าที่จะให้ผู้เรียนมีโอกาสเรียนรู้ทางตรงกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ หรือเรียนรู้กับของจริง เป็นการฝึกฝนเพื่อให้เกิดทักษะในวิชาชีพและทักษะการใช้ชีวิตอย่างชาญฉลาด นอกจากนี้ คนไทยยังขาดความเข้าใจในคุณค่าศิลปะ และศาสนาที่มีประโยชน์ต่อการเสริมสร้างความอ่อนโยนด้านจิตใจ และความสงบสุข อันที่จริงมนุษย์ต้องตระหนักรู้การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งไม่เพียงแต่การอยู่ร่วมกันกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น แต่ต้องอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างเป็นมิตรด้วย
ปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว การเรียนรู้ของมนุษย์เป็นไปอย่างกว้างขวางอย่างไม่มีเงื่อนไขในเรื่อง สถานที่และเวลา แต่ผู้ที่เข้าใจการใช้สื่ออย่างมีประสิทธิภาพ และรู้เท่าทันสื่อยังมีจำนวนน้อย วิธีคิดของเรายังมองแบบแยกส่วน ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างต่างทำ แทนที่จะผสานความคิดร่วมกัน รวมพลังให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างรวดเร็ว เราจำเป็นต้องมีการปฏิรูปคนไทย โดยวิธีการสร้างนักการสื่อสารที่มีความสามารถในการบูรณาการในทุกมิติ ทุกๆด้าน ทุกคนจะเป็นนักสื่อสารที่ดี ที่มีความสามารถในการ ฟัง ดู อ่านและวิเคราะห์ได้ รู้จักถ่ายทอดสารอย่างมีประสิทธิภาพด้วยความรับผิดชอบ มีศีลธรรม จริยธรรม เป็นเครื่องกำกับการทำงานและการดำเนินชีวิต และสามารถประสานทั้งความคิดและการปฏิบัติร่วมกับผู้อื่นได้การปฏิรูปเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมจึงจำเป็นต้องสร้างนักการสื่อสารขึ้นมาในทุกๆด้าน
คณะกรรมาธิการทั้ง 3 คณะ ได้พิจารณาร่วมกัน โดยเห็นว่า สื่อสามารถใช้การคิดแบบองค์รวม บูรณาการเนื้อหาสาระด้านการศึกษา ด้านศิลปะ วัฒนธรรมและศาสนา ในทางสร้างสรรค์ ควบคุมเนื้อหาสาระไม่ให้เป็นอันตรายต่อประชาชน แต่กลับเป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่จะร่วมสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพได้ เช่นผลิตเนื้อหาที่มีสาระประโยชน์ เตือนใจให้ประชาชนมีทัศนคติการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มากกว่าการตัดสินปัญหาด้วยการใช้กำลัง ด้วยวิธีการรณรงค์ผ่านสื่อต่างๆ เป็นต้น การปฏิรูปแบ่งบุคลากรออกเป็น 5 กลุ่มคือ กลุ่มพลเมืองศึกษา กลุ่มการปกครอง กลุ่มสื่อ กลุ่มครอบครัว กลุ่มวัฒนธรรมและศาสนา ทั้งหมดนี้บุคลากรทุกกลุ่มต้องฝึกฝนการสื่อสารแบบองค์รวม การถ่ายทอดเนื้อหาสาระในแต่ละด้านอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น
เรื่องที่ 1 กลุ่มพลเมืองศึกษา คือการสร้างนักการศึกษา ครู ที่เข้าใจระบบการเรียนรู้ของมนุษย์ และมีความสามารถถ่ายทอดสารผ่านสื่อต่างๆในแบบองค์รวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ การกระจายการศึกษา ส่งเสริมการจัดการการศึกษากันเองในชุมชน กระตุ้นการเรียนรู้ในภาคปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี รู้จักคิด วิเคราะห์ และแก้ปัญหาได้
เรื่องที่ 2 กลุ่มการปกครอง คือการสร้างนักปกครองให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในชุมชน การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้มีทักษะการสื่อสารแบบองค์รวมอย่างดีโดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง
เรื่องที่ 3 กลุ่มสื่อ คือการสร้างนักการสื่อสารที่มีแนวคิดการสื่อสารเพื่อการพัฒนาสังคม และทำให้ตนเองได้รับการยอมรับ น่าเชิ่อถือ มีทักษะในการแสวงหาข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นระบบ ยึดมั่นในจรรยาวิชาชีพ ส่งเสริมเนื้อหาที่เสริมสร้างคุณธรรม ศีลธรรม เชื่อถือได้ ชี้นำการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างสร้างสรรค์
เรื่องที่ 4 กลุ่มครอบครัว คือการเสริมสร้างพลังการสร้างครอบครัวให้เป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง มีหลักจิตวิทยาในการสื่อสาร เพื่อการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง มีระเบียบวินัย อันเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว
เรื่องที่ 5 กลุ่มวัฒนธรรมและศาสนา คือการสร้างผู้ที่อยู่ในวงการนี้ให้มีทักษะการสื่อสารให้เห็นคุณค่าของการใช้ศิลปะเพื่อการดำรงชีวิต รู้จักรักษาวัฒนธรรมที่ดีงาม เปลี่ยนโลภาภิวัฒน์เป็นโลกาภิวัฒน์ ยึดศีลธรรมเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ชูวัฒนธรรมค่านิยมไทย พัฒนาบุคคลากรทางศาสนาให้เข้าใจปรัชญาของศาสนาและสื่อสารอย่างถูกต้อง
การปฏิรูปแบบองค์รวมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญอันหนึ่งคือการปฏิรูปการใช้สื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศให้เกิดประโยชน์ด้านการเสริมสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ และให้สื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นโรงเรียนของสังคม ที่สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่อีกต่อไป
___________________________