กรมทรัพยากรน้ำให้ความรู้ประชาชนรู้ทันระวังภัยน้ำท่วมดินถล่ม
ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูฝนในบางพื้นที่มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องทำให้มีปริมาณน้ำฝนสะสมมาก ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน-ดินถล่มได้ ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาทจึงควรจะมีการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เคยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลัน-ดินถล่มมาก่อน
กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความรู้กับประชาชนในการทำความเข้าใจถึงความหมายของการเกิดภัยพิบัติน้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม ดังนี้ น้ำป่าไหลหลาก คือ การที่เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้น้ำฝนสะสมมีปริมาณมากจนพื้นดินและต้นไม้ดูดซับน้ำไว้ไม่ไหวจึงไหลบ่าลงสู่ที่ราบต่ำ ดินถล่ม คือ การที่ฝนตกหนักบริเวณที่ลาดชันมากและดินอุ้มน้ำไว้จนอิ่มตัวแล้วจนกระทั่งทำให้ดินเกิดการพังทลายลงมา ปัจจัยที่มีผลต่อความรุนแรงของการเกิดดินถล่ม ได้แก่ ปริมาณฝน ความลาดชันของภูเขา ความสมบูรณ์ของป่าไม้ ลักษณะทางธรณีวิทยา และการใช้ประโยชน์ที่ดิน
ดังนั้นหากเกิดฝนตกติดต่อกันเป็นระยะเวลานานก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลัน-ดินถล่มได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยได้ เพราะฉะนั้นประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยจะต้องไม่ประมาทและมีความตื่นตัวอยู่เสมอ โดยจะต้องตระหนักว่าภัยพิบัติสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้มีการจัดทำโครงการติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้าน้ำท่วมฉับพลัน – ดินถล่ม (Early Warning) สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยในการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน-ดินถล่ม ในพื้นที่ลาดชันและพื้นที่ราบเชิงเขา ซึ่งได้ดำเนินการติดตั้งไปแล้วกระจายอยู่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังได้หาแนวทางในการให้ข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนเพื่อที่จะใช้ในการติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่เสี่ยงภัยทั่วประเทศได้อีกด้วย ทั้งนี้โดยประชาชนสามารถเข้าไปในเว็บไซต์ของกรมทรัพยากรน้ำที่www.dwr.go.thเพื่อติดตามข้อมูลปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา ระดับน้ำในลำน้ำ และการแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลัน – ดินถล่ม ของสถานีเตือนภัยที่กรมทรัพยากรน้ำได้ติดตั้งไว้ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยทั่วประเทศ
“เข้าถึงเป้าหมาย คลี่คลายปัญหา เรื่องน้ำต้องมา เพื่อประชาอุ่นใจ”
กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
โทร. ๐ ๒๒๗๑ ๖๐๐๐