โครงการคุณภาพ วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก สร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กไทย
มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในหญิงไทยที่รองจากมะเร็งเต้านม จากระบบเฝ้าระวังโรคมะเร็งของประเทศไทยพบว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ประมาณ 6,500 รายต่อปี และมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกประมาณ 2,000 รายต่อปี การฉีดวัคซีนเอชพีวีให้แก่เด็กหญิงไทยนับเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กที่เติบโตขึ้นไปในวันหน้าจะต้องมีความเสี่ยงในโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งจะมีผลกระทบทั้งต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้ป่วย รวมถึงเป็นภาระของครอบครัว ดังนั้นภาครัฐจึงมีนโยบายการสนับสนุนให้ประชาชนได้รับวัคซีนป้องกันโรค และนับเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการควบคุมโรคในประเทศไทย
โรคมะเร็งปากมดลูกไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์แต่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส human papillomavirus หรือเชื้อ HPV ชนิดที่ก่อมะเร็งแบบฝังแน่นซึ่งปัจจุบันเราพบว่ามีอย่างน้อยถึง 15 สายพันธุ์ ทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูก และกลายพันธุ์เปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด ในประเทศไทยเราพบสายพันธุ์ที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปากมดลูกมากที่สุดเช่นเดียวกับในภาพรวมของโลกคือ สายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ซึ่ง 2 สายพันธุ์นี้เกี่ยวเนื่องถึงประมาณร้อยละ 73.8 จากการศึกษาถึงประโยชน์และความคุ้มค่าของการใช้วัคซีน HPV ซึ่งมีหลายการศึกษาได้ยืนยันแล้วว่า การฉีดวัคซีน HPV ให้กับเด็กผู้หญิงในช่วงอายุ 10-12 ปี จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้อย่างสูงสุด
สำหรับภาครัฐบาลโดยหน่วยงานหลักอย่างกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ดำเนินโครงการขยายการให้บริการวัคซีนเอชพีวีในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค พ.ศ. 2560 แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ครอบคลุมทั่วประเทศ เป้าหมายเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้หญิงไทยและลดอัตราผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ในอนาคต ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้ฉีดให้กับนักเรียนหญิงชั้น ป.5 ซึ่งมีช่วงอายุ 10-12 ขวบทั่วประเทศจำนวน 4 แสนคนเป็นครั้งแรกในช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา
ด้านกรุงเทพมหานครก็เป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญในการให้บริการวัคซีนเอชพีวีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการมอบหมายให้ศูนย์บริการสาธารณสุขทุกแห่งให้บริการวัคซีนเอชพีวีแก่เด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน เป็นปีที่ 3 โดยมีอัตราความครอบคลุมการให้วัคซีนเอชพีวีอยู่ที่ร้อยละ 96 – 98 ซึ่งนโยบายการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคของภาครัฐได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้เกี่ยวข้องทั้งโรงเรียนและผู้ปกครอง ตลอดจนนักเรียนที่ได้รับการฉีดวัคซีนในโครงการ
ด้าน นางพรทิพย์ ลิมอักษร ผู้อำนวยการโรงเรียนวิชูทิศ กรุงเทพมหานคร หนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ กล่าวว่า การฉีดวัคซีนเอชพีวีมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ทำให้ผู้ปกครองหลายๆ ครอบครัวไม่สามารถนำบุตรหลานไปรับบริการฉีดวัคซีนได้ แต่ปัจจุบันนี้ โครงการให้บริการวัคซีนเอชพีวีฟรีแก่นักเรียนหญิงชั้น ป.5 ได้มอบโอกาสให้เด็กหญิงทุกคนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ฟรี โรงเรียนจึงให้การสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มที่ เพื่อป้องกันพวกเขาจากโรคมะเร็งปากมดลูก เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต
นายสนั่น ประสพมิตร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าสนุก จังหวัดพังงา หนึ่งในตัวแทนโรงเรียนในภูมิภาคที่เข้าร่วมโครงการฯ กล่าวว่า โดยปกติโรงเรียนจะได้รับจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลางในการพัฒนาโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนจะแบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งเป็นงบสำหรับการดูแลสุขภาพนักเรียน โดยได้มีการบรรจุโครงการลงในแผนปฏิบัติการประจำปี ซึ่งแม้ว่านักเรียนจะมีสุขภาพดี แต่ในช่วงฤดูกาลจะต้องดูแลเป็นพิเศษในด้านการเจ็บป่วย เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โดยโรงเรียนจะมีคุณครูรับผิดชอบโดยตรงและมีเจ้าหน้าที่อนามัยมาช่วยเหลือตลอดปีการศึกษา สำหรับการให้บริการวัคซีนเอชพีวีแก่นักเรียนในครั้งนี้นับเป็นเรื่องใหม่ในชุมชนที่โรงเรียนต้องสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้ปกครองและนักเรียน เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพของนักเรียนที่จะเติบโตและเป็นอนาคตของประเทศ เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ภาครัฐให้ความดูแลและช่วยเหลือแก่นักเรียนในภูมิภาคเพื่อป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกที่เป็นโรคร้ายแรง
ด้านหน่วยงานภาครัฐที่เข้าไปให้ความรู้โครงการฯ นางนวลศรี ด่านสกุลรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านโคกไคร จังหวัดพังงา กล่าวว่า โรคมะเร็งปากมดลูกเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของโรคที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง วัคซีนเอชพีวีจึงมีความสำคัญและผู้หญิงไทยควรได้รับการฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม วัคซีนนี้มีราคาค่อนข้างสูง กระทรวงสาธารณสุขซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของโรคและตระหนักถึงสุขภาพของผู้หญิงไทย จึงได้จัดทำโครงการนี้เพื่อแก้ไขปัญหาและลดอัตราการเจ็บป่วย เพราะโรคนี้ต้องใช้ระยะเวลารักษาค่อนข้างนานจึงมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง หากผู้หญิงไทยได้รับวัคซีนป้องกัน ก็จะสามารถนำงบประมาณไปใช้พัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ ได้
นางสุวัฒนา ประสานเนตร อาสาสมัครโรงพยาบาลคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า ตนเองรู้สึกดีใจมากที่รัฐบาลมีนโยบายให้บริการฉีดวัคซีนเอชพีวีฟรีให้กับเด็กหญิงทั่วประเทศ หากเป็นเมื่อก่อน การไปฉีดวัคซีนนี้ที่โรงพยาบาลเอกชนจะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ซึ่งคนที่มีรายได้น้อยก็จะมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนนี้น้อย สำหรับการทำหน้าที่ของตัวเองในฐานะอาสาสมัครของโรงพยาบาล ก็จะนำความรู้และข่าวสารที่ได้รับไปแจ้งให้กับผู้ปกครองในชุมชนทราบ โดยเฉพาะเมื่อเวลาที่โรงพยาบาลมีโครงการฉีดวัคซีนเอชพีวีฟรีแก่เด็กผู้หญิง เพราะโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นภัยที่ร้ายแรงมากสำหรับผู้หญิงทุกคน
ในด้านตัวแทนผู้ปกครองนักเรียนที่ได้รับการฉีดวัคซีนเอชพีวีในโครงการฯ นางสาวนาตยา ยมโดย กล่าวว่า ตนเองมีความเชื่อมั่นในกระทรวงสาธารณสุขและมั่นใจว่าวัคซีนเอชพีวีมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก จึงสนับสนุนโครงการให้บริการวัคซีนเอชพีวีแก่นักเรียนนี้ เนื่องจากโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่อันตรายสำหรับผู้หญิงและอาจทำให้เสียชีวิตได้ และหากประชาชนต้องไปฉีดวัคซีนเองก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง จึงขอขอบคุณโครงการดีๆ เช่นนี้
นางสาววิยดา ใจหล้า อายุ 30 ปี อาชีพพนักงานขายสินค้า มารดาเด็กฝาแฝด เด็กหญิงวธิดา-วนิดา ไชยวงค์ เปิดเผยว่า “สำหรับโรคมะเร็งปากมดลูก เรารู้ว่าเป็นโรคที่อันตรายมาก เนื่องจากมีญาติที่เสียชีวิตจากโรคนี้หลายคน พอได้รับข้อมูลข่าวสารจากทางโรงเรียนจะมีการฉีดวัคซีนเอชพีวี เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้กับเด็กนักเรียนภายในโรงเรียนซึ่งรวมถึงลูกสาวฝาแฝดด้วย ก็รู้สึกดีใจ เพราะเป็นการป้องกันและช่วยลดค่าใช้จ่าย ถ้าเราไปฉีดเองก็น่าจะแพง อยากให้ลูกได้รับการป้องกัน เพราะเดี๋ยวนี้โรคใหม่ ๆเกิดขึ้นเยอะ ถ้าเราป้องกันได้ก็ไม่ต้องเป็นห่วงอะไร และก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ขอบคุณหน่วยงานภาครัฐที่เห็นความสำคัญกับการฉีดวัคซีนในครั้งนี้ให้กับเด็ก ๆ ในอนาคตโรคนี้คงลดน้อยลง และไม่เกิดขึ้นกับคนในครอบครัวเรา”
ด้านตัวแทนนักเรียนที่ได้รับวัคซีนเอชพีวี เด็กหญิงศรสวรรค์ ยมโดย และเด็กหญิงปนัดดา ประสารการ นักเรียนชั้น ป. 5 โรงเรียนบ้านท่าสนุก จังหวัดพังงา ซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกในปี 2560 เล่าให้ฟังว่า ได้รับทราบว่าโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่ร้ายแรงและอาจทำให้เสียชีวิตได้ เมื่อโรงเรียนให้แบบฟอร์มเพื่อแจ้งให้ผู้ปกครองทราบ ผู้ปกครองได้อนุญาตให้ฉีดเพื่อช่วยป้องกันโรค แม้ตอนแรกจะกลัวเจ็บ แต่เมื่อฉีดแล้วก็ปกติดี ไม่เจ็บเท่าไร หากมีรุ่นน้องมาสอบถามก็จะแนะนำว่าควรฉีดเพื่อช่วยป้องกันและสร้างภูมิต้านทาน
เด็กหญิงปภาวรินทร์ ดวงดารา นักเรียนชั้น ป.5 โรงเรียนวิชูทิศ กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้สิทธ์ในการฉีดวัคซีนเอชพีวีเช่นกัน เล่าว่า “หนูรู้สึกดีใจและโชคดีมากที่มีการจัดโครงการให้บริการฉีดวัคซีนฟรีให้หนูและเพื่อนๆ ที่โรงเรียน หนูบอกคุณแม่ว่าอยากฉีด เพราะหนูไม่อยากโตขึ้นแล้วเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกแล้วเสียชีวิต หนูคิดว่าเราควรจะป้องกันไว้ก่อน เพราะถ้าไม่ป้องกัน เราก็มีโอกาสจะเป็นได้ในอนาคต”
การฉีดวัคซีนเอชพีวีให้แก่เด็กหญิงไทยนับเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กที่จะเติบโตขึ้นไปในวันหน้าจะต้องมีความเสี่ยงในโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งจะมีผลกระทบทั้งต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้ป่วย รวมถึงเป็นภาระของครอบครัว ตลอดจนภาครัฐต้องให้การช่วยเหลือ นโยบายการสนับสนุนให้ประชาชนได้รับวัคซีนป้องกันโรคของภาครัฐจึงเป็นแนวทางและเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการป้องกันควบคุมโรคในประเทศไทย