วสท.-สมาคมลิฟท์ แถลง”ลิฟต์ในอาคารของไทย ได้มาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากลแล้วหรือ?”
“….มีข้อเข้าใจผิดเกี่ยวกับลิฟท์อยู่หลายเรื่อง เช่น ลิฟท์หยุดหรือลิฟท์ค้างเป็นเพราะลิฟท์คุณภาพไม่ดี แท้จริงแล้วสาเหตุที่ลิฟต์ค้างคือลิฟต์ทำงานไม่ครบวงจร ซึ่งเป็นระดับเซฟตี้ที่ลิฟต์ทุกยี่ห้อต้องมี ”
จากการขยายตัวของกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ต่างจังหวัด ทำให้เกิดอาคารสูง อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม และอาคารที่มีการใช้งานแบบต่าง ๆ ลิฟต์ในอาคารจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการสัญจรในชีวิตประจำวัน ในประเทศไทยมีลิฟต์ที่ใช้กันอยู่ในอาคารต่าง ๆ จำนวนมากมายมหาศาล และในแต่ละปีมีความต้องการใช้ลิฟต์ใหม่อีกประมาณกว่า 4,300 เครื่อง อย่างไรก็ตามประชาชนผู้ใช้ลิฟต์ และเจ้าของอาคารยังมีความรู้น้อยในข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง และวิธีการแก้ไขกรณีเกิดปัญหาเหตุฉุกเฉินจากลิฟต์โดยสารหรือจากอาคาร เช่น เพลิงไหม้ ไฟฟ้าดับ เป็นต้น ความเสี่ยงย่อมตามมาและอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมกับสมาคมลิฟต์แห่งประเทศไทย เห็นความสำคัญของความมั่นคงปลอดภัยแก่ประชาชน สังคม และเศรษฐกิจ ได้จัดงานแถลงข่าว “ลิฟต์ในอาคารของไทยได้มาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากลแล้วหรือ?” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตือนภัยใกล้ตัวจากลิฟต์โดยสารที่ใช้ในชีวิตประจำวันของประชาชน ภาพรวมและปริมาณของการใช้ลิฟต์โดยสารในประเทศไทย พร้อมเผยข้อแนะนำในการใช้ลิฟต์ให้ปลอดภัยสำหรับประชาชน การเตรียมรับมือ การบริหารจัดการเหตุฉุกเฉินจากอุบัติภัยจากลิฟต์โดยสาร
รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า “ในแต่ละวันลิฟต์จึงทำหน้าที่ขนส่งผู้โดยสารจำนวนหลายล้านคน เนื่องจากอาคารในปัจจุบันเกือบทุกอาคารมีลิฟต์โดยสารไว้ใช้งาน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งานอาคารและอยู่อาศัย หากเป็นอาคารสูง ลิฟต์ยิ่งเป็นสิ่งใหญ่ที่ขาดไม่ได้ ดังนั้นผู้คนทุกวันนี้จึงต้องโดยสารลิฟต์กันทุกวัน และวันละหลายครั้ง ถึงแม้ว่าลิฟต์จะได้รับการออกแบบด้านความปลอดภัยมาอย่างดีมาก แต่เราก็ยังคงได้ยินข่าวอุบัติเหตุที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตเกี่ยวข้องกับการใช้ลิฟต์เป็นระยะ ๆ ดังนั้นเจ้าของอาคารซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบตามกฎหมายในฐานะผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์จากอาคาร ซึ่งบางแห่งเจ้าของบริหารอาคารเอง บางแห่งเจ้าของอาจมอบหมายหน้าที่ให้ผู้อื่นทำหน้าที่เป็นผู้บริหารอาคารแทน ดังนั้นสามารถเรียกรวมได้ว่าผู้มีหน้าที่รับผิดชอบอาคารว่าเป็น “ผู้บริหารอาคาร” ซึ่งมีความรับผิดชอบในการทำให้อาคารเกิดความปลอดภัย ทั้งนี้ วสท. และสมาคมลิฟต์แห่งประเทศไทย ขอให้ทุกอาคารใส่ใจและให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการและบำรุงรักษาเพื่อความมั่นคงปลอดภัยในการบริการแก่ประชาชน สังคม และเศรษฐกิจ ลดความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุจากลิฟต์โดยสาร”
คุณสุพัตถ์ จารุศร อุปนายก 1 และประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมลิฟต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ประชาชนผู้ใช้ลิฟท์จำนวนมากยังมีข้อเข้าใจผิดเกี่ยวกับลิฟท์อยู่หลายเรื่อง เช่น ลิฟท์หยุด หรือ ลิฟท์ค้างเป็นเพราะลิฟท์คุณภาพไม่ดี แท้จริงแล้วสาเหตุที่ลิฟต์ค้าง คือลิฟต์ทำงานไม่ครบวงจร ซึ่งเป็นระดับเซฟตี้ที่ลิฟต์ทุกยี่ห้อต้องมี โดยถูกออกแบบให้หยุดทำงานเมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ หากเกิดลิฟต์ค้างช่างประจำอาคารมีความสำคัญที่สุดซึ่งได้ผ่านการฝึกอบรมให้มีความชำนาญอย่างสม่ำเสมอมาเปิดลิฟท์ด้วยกุญแจและช่วยเหลือผู้โดยสารลิฟท์ให้เดินออกมา ช่างลิฟท์ประจำอาคารต้องได้รับการฝึกอบรมทุกๆ 3 เดือน นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นที่หลายคนยังเข้าใจผิดว่าจะขาดอากาศหายใจหากติดอยู่ในลิฟท์ ความจริงแล้วมีอากาศพอสำหรับการมีชีวิต จากระบบระบายอากาศในลิฟต์ อาทิเช่น พัดลมระบายอากาศ ช่องว่างระหว่างธรณีประตูกับห้องโดยสาร
คุณบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า “สำหรับกฎหมายควบคุมอาคาร กำหนดให้อาคารสูงเกิน 23 เมตร จะต้องมีลิฟต์สำหรับการดับเพลิง รวมถึงหากอาคารที่มีพื้นที่มากกว่า 2,000 ตารางเมตร จะต้องมีการตรวจสอบความปลอดภัยของลิฟต์ทุกปี ถึงแม้ว่าลิฟต์จะเป็นเครื่องจักรกลในอาคารที่ทันสมัย เป็นสิ่งอำนวยความสะดวก และมีปลอดภัยมาก แต่ก็จำเป็นต้องมีใช้งาน และบำรุงรักษาอย่างถูกต้องด้วย สถิติการเกิดเหตุของลิฟต์ก็มักเกิดจากการใช้งาน และการจัดการที่ไม่ปลอดภัย ตัวอย่างเช่น การเคลื่อนย้ายลิฟต์ไปจอดที่ชั้นต่าง ๆ และการปิดลิฟต์ในช่วงเวลาหยุดงาน นอกจากนี้การไม่ใส่ใจต่ออายุการใช้งานของอุปกรณ์ลิฟต์ เช่น สลิง และไฟบอกชั้น ล้วนทำให้การใช้ลิฟต์ไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น”
ทั้งนี้ ข้อแนะนำเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ ไฟฟ้าขัดข้อง และการติดค้างภายในห้องลิฟต์
กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ เมื่อระบบควบคุมการทำงานของลิฟต์ ได้รับสัญญาณไฟไหม้ จะยกเลิกคำสั่งการทำงานทั้งหมด ระบบขับเคลื่อนลิฟต์โดยระบบไฟฟ้าสำรองจะเป็นชุดแบตเตอรี่ (ARD)และหรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง และหรือไฟฟ้าปกติจะสั่งการให้ลิฟต์เคลื่อนที่ไปยังชั้นล่าง หรือชั้นที่กำหนด ด้วยความเร็วที่ต่ำกว่าความเร็วปกติที่ลิฟต์วิ่ง เมื่อลิฟต์วิ่งถึงชั้นล่าง หรือชั้นที่กำหนดแล้วประตูลิฟต์จะเปิดออกโดยอัตโนมัติ เพื่อให้ผู้โดยสารออกได้โดยปลอดภัย และลิฟต์จะหยุดอยู่ที่ชั้นล่างหรือชั้นที่กำหนด จนกว่าอาคารจะกลับสู่สภาวะปกติ ลิฟต์จึงจะกลับทำงานใหม่ต่อเมื่อได้รับการปลดสัญญาณไฟไหม้แล้ว
กรณีเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้อง เมื่อไฟฟ้าปกติของอาคารดับ ระบบควบคุมการทำงานของลิฟต์ จะยกเลิกคำสั่งทั้งหมด ระบบขับเคลื่อนลิฟต์โดยระบบไฟฟ้าสำรองจะเป็นชุดแบตเตอรี่ (ARD)หรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง จะสั่งการให้ลิฟต์เคลื่อนที่ไปยังชั้นที่ใกล้ที่สุดด้วยความเร็วที่ต่ำกว่าความเร็วปกติที่ลิฟต์วิ่ง ซึ่งทิศทางที่ลิฟต์วิ่งจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักบรรทุกของลิฟต์ โดยลิฟต์จะวิ่งไปในทิศทางที่ใช้พลังงานในการขับเคลื่อนน้อยที่สุด เมื่อลิฟต์วิ่งไปตรงชั้น ประตูลิฟต์จะเปิดออกโดยอัตโนมัติ เพื่อให้ผู้โดยสารออกได้โดยปลอดภัย และลิฟต์จะหยุดอยู่ที่ชั้นนั้น ๆ จนกว่าไฟฟ้าของอาคารจะกลับสู่สภาวะปกติ ลิฟต์จึงจะกลับทำงานเองโดยอัตโนมัติตามเดิม
นอกจากนี้ระบบควบคุมการทำงานของลิฟต์จะทำการประจุไฟฟ้าให้แก่แบตเตอรี่ ให้มีไฟเต็มอยู่เสมอให้สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
8 ข้อปฏิบัติ กรณีเกิดเหตุลิฟต์ติดค้างระหว่างชั้น คือ
1. หลังจากได้รับสัญญาณลิฟต์เกิดขัดข้อง หรือติดค้างจากห้องลิฟต์ กล้องวงจรปิด หรือจากตู้แสดงผล 2. เจ้าหน้าที่จะต้องไปยังที่ชุดควบคุมการทำงานของลิฟต์ ที่ห้องเครื่องลิฟต์ หรือที่กำหนดไว้ 3. ไขกุญแจเปิดฝาครอบชุดควบคุมการทำงานของลิฟต์ 4. ปลด หรือตัดวงจรสวิทช์ตัดตอนไฟฟ้า5. ไขกุญแจเปิดประตูปล่องลิฟต์เพื่อดูชั้นที่ลิฟต์ติดค้าง 6. ใช้อุปกรณ์ขับลิฟต์ด้วยมือโยกจนลิฟต์มาจอดตรงชั้นจอด 7. ไปยังชั้นจอดลิฟต์ที่ติดค้าง แล้วใช้กุญแจเปิดประตูปล่องลิฟต์เพื่อช่วยผู้โดยสารออกจากลิฟต์ 8. กลับมาที่ชุดควบคุม ตรวจสอบการทำงานและปล่อยลิฟต์
10 ข้อปฏิบัติสำหรับประชาชนผู้ใช้งานลิฟต์ ดังภาพประกอบ