1

ร่วมใจพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ประชุมผู้นำชุมชนเตรียมลงพื้นที่สำรวจเขตบางซื่อ

F3-IMG_6032-Medium

โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หรือ Chaopraya The River For All โดย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล. ) ที่ปรึกษาการสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บท นำโดยรศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน ผู้จัดการโครงการ ดร. กมล เกียรติเรืองกมลา รองผู้จัดการด้านสถาปัตยกรรม และคณะทำงานได้ เริ่มต้นลงพื้นที่เพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ในโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงนำร่อง 14 กิโลเมตร ณ สำนักงานเขตบางซื่อ จัดประชุมหารือกับผู้นำชุมชนและทีมงานเขตบางซื่อเกี่ยวกับการทำความเข้าใจ ข้อมูลโครงการ ขั้นตอนการดำเนินงาน การเตรียมลงชุมชนสำรวจพื้นที่และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

ในบรรยากาศร่วมแรงร่วมใจกัน ชุมชนริมฝั่งเขตบางซื่อประกอบด้วยผู้นำชุมชนราชทรัพย์ ชุมชนวัดบางโพ ชุมชนเชิงสะพานพิบูลฝั่งซ้าย และชุมชนวัดสร้อยทอง เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีลักษณะเป็นทางเดิน-ปั่นจักรยานเลียบแม่น้ำ ซึ่งเชื่อมต่อพื้นที่สีเขียว นันทนาการ วัฒนธรรม และระบบขนส่งสาธารณะรถ เรือ ราง โครงการไม่ใช่ถนนให้รถวิ่งอย่างที่เข้าใจผิดกันแต่ก่อน ชุมชนพร้อมให้ความร่วมมือในการลงสำรวจพื้นที่และรับฟังความคิดเห็นในชุมชน

รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อมอบพื้นที่สาธารณะแก่ประชาชนและให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงแม่น้ำได้สะดวกและปลอดภัย ฟื้นฟูแม่น้ำ และพัฒนาภูมิทัศน์สวยงามในแต่ละพื้นที่แตกต่างไปตามอัตลักษณ์ของชุมชนและศูนย์รวมกิจกรรมแต่ละพื้นที่ สร้างสรรค์เป็นพื้นที่เอกลักษณ์ของประเทศ โดยมีหลักการแนวคิดเป็นทางเดิน-ปั่น เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ นันทนาการ สุขภาพ การท่องเที่ยว วัฒนธรรมและการเดินทางเข้าถึงที่สะดวกและปลอดภัย นับเป็นโครงการเพื่อประชาชนคนไทยโดยแท้ เป็นโอกาสอันดีในการพัฒนาชุมชนริมฝั่งแม่น้ำ และพัฒนาเมืองให้น่าอยู่อย่างยั่งยืนด้วย

โครงการเพื่อประชาชนครั้งนี้กระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร จัดทำแผนแม่บทพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทางยาวรวม 57 กม. จากสะพานพระราม 7 ถึงสุดเขตกรุงเทพมหานคร โดยมีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่ปรึกษาการสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และโครงการนำร่องระยะทางสองฝั่ง รวม 14 กิโลเมตรโดยทำการศึกษา สำรวจและออกแบบรายละเอียด ช่วงแรกจากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ระยะเวลาดำเนินการ 7 เดือน เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการฟื้นฟูพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่อื่นๆต่อไปในอนาคต