กสร. ทบทวนปรับอัตราน้ำหนักยกของเด็กให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล มุ่งขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทบทวน ปรับปรุงอัตราน้ำหนักยกที่เหมาะสมสำหรับการทำงานของเด็กเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายในประเทศไทย
นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กรมได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายอย่างต่อเนื่องมาตลอด โดยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 182 ว่าด้วยการห้ามและดำเนินการโดยทันทีเพื่อขจัดการใช้แรงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย จึงมีการดำเนินการภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน การใช้เด็กทำงานยกของหนักด้วยแรงกายเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดเข้าข่ายเป็นการให้เด็กทำงานอันตราย ซึ่งถือเป็นการทำงานในรูปแบบที่เลวร้ายรูปแบบหนึ่งตามอนุสัญญาฉบับที่ 182 ดังกล่าว ทั้งนี้ประเทศไทยได้ออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราน้ำหนักที่นายจ้างให้ลูกจ้างเด็กทำงานยก แบก หาม หาบ ทูน ลาก หรือของหนักสำหรับเด็กอายุ 15 ปี แต่ไม่ถึง 18 ปี เพศหญิง ไม่เกิน 20 กิโลกรัม เพศชาย ไม่เกิน 25 กิโลกรัม ซึ่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศขอให้ประเทศไทยพิจารณาทบทวนปรับอัตราน้ำหนักยกของเด็กให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
อธิบดี กสร. กล่าวต่อว่า เพื่อทบทวนมาตรฐานและปรับปรุงข้อกฎหมายเกี่ยวกับน้ำหนักยกของเด็กทำงานให้เหมาะสม สอดคล้องกับมาตรฐานสากล กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จึงได้เชิญนายจ้าง ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ องค์กรภาคประชาสังคม และ NGOs ร่วม 200 คน มาแสดงความคิดเห็นในประเด็นอัตราน้ำหนักที่ไม่เป็นอันตรายสำหรับสภาพการทำงานของเด็กในประเทศไทย อันจะเป็นแนวทางในการปรับปรุง แก้ไขอัตราน้ำหนักยกของเด็กทำงานเพื่อนำไปสู่การขจัดปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายในประเทศไทยได้อย่างสัมฤทธิ์ผลต่อไป