นักวิชาการให้กำลังใจ สจล.โครงการพัฒนาริมฝั่งฯ เพื่อประชาชนส่วนใหญ่
อ.เอกชัย ชูติพงศ์ นักวิชาการอิสระ กรรมการกลางสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพรบ.ควบคุมอาคาร ให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (Chao Phraya for All ) ว่าเป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ โดยพัฒนาบนฐานมรดกวัฒนธรรม อนุรักษ์-สืบสาน-สร้างสรรค์ โดยบูรณาการทำงานระหว่างทีมประวัติศาสตร์ การสืบค้นข้อมูล แผนที่เก่าเพื่อดูว่าที่นี่เคยเป็นอะไรมาก่อน การมีส่วนร่วมของชุมชน ทีมสิ่งแวดล้อม พฤกษศาสตร์ สถาปัตยกรรม วิศวกรรม ชลศาสตร์ หลากหลายองค์กความรู้มาผสมผสานเป็นการออกแบบร่วมกัน รับฟังข้อคิดเห็น พร้อมไปกับแก้ปัญหาชุมชนและสาธารณูปโภคไปด้วย ตัวอย่างชุมชนที่ได้รับการอนุรักษ์ เช่น ชุมชนวัดเทวราชกุญชร ปากคลองผดุงกรุงเกษม, ชุมชนมิตตคาม 1 (ชาวน้ำแห่งสุดท้ายของเจ้าพระยา), ชุมชนสีคาม (บ้าน 100 ปี ชุมชนจีนที่มาค้าขายดั้งเดิมใกล้ท่าน้ำสามเสน ตั้งแต่สมัย ร.5), หมู่บ้านโปรตุเกสแห่งบางกอก วัดคอนเซ็ปชัญ ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 320 ปี คนส่วนใหญ่ให้กำลังใจ สจล.ทำงานได้ครบมิติและรอบด้านเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ โครงการใหญ่ย่อมมีคนเสียประโยชน์และเสียงค้านเป็นธรรมดา อย่างสมัยก่อน BTS ก็มีคนเดินขบวนค้านกัน มาวันนี้ทุกคนเห็นประโยชน์
ปัจจุบันประชากรในปริมณฑลเพิ่มจำนวนสูงมากจากการขยายตัวของเมือง ทั้งปทุม นนทบุรี สมุทรปราการ เมื่อคิดจะพักผ่อนก็จะไปพัทยา ชะอำ หัวหิน ใช้เวลาเดินทาง 3 – 5 ชม.จึงจะได้พักผ่อน หากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ฯ เสร็จ ประชาชนจะได้มาเที่ยวพักผ่อนได้สะดวกและบ่อยขึ้น Feeder system เชื่อมโครงข่ายตลอดแม่น้ำ14 กม.มีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากการพัฒนาแม่น้ำครั้งใหญ่นี้ หากจะให้เกิดการใช้ประโยชน์เต็มที่ต่อประชาชน และนักท่องเที่ยว ต้องทำให้โครงข่ายการเดินทางจากรอบนอกสู่ทางเดินริมน้ำได้สะดวกตลอดเส้นทาง จะมาเที่ยวแม่น้ำตรงไหนก็ได้ หน่วยงานภาครัฐต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งคนต้องร่วมมือกัน เช่น รฟม. กทม. ขสมก.ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพัฒนาโครงข่ายสนับสนุนขนส่งคน Feeder System เชื่อมต่อรถไฟฟ้าและทางเดิน เพื่อให้ประชาชนจากปริมณฑลซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากขึ้นและนักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงแม่น้ำและทางเดินได้สะดวกตลอดแม่น้ำฝั่งละ 7 กม.นี้ ไม่จำเป็นต้องเข้าเมืองอย่างเดียวจึงจะเข้าถึงแม่น้ำได้ นักท่องเที่ยวมาเยือน กทม.ปีละ เกือบ 20 ล้านคน นี่คือโอกาส กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำฯจะเป็นแหล่งดึงดูดให้คนไทยและนักท่องเที่ยวมาเรียนรู้ และสัมผัสความหลากหลายของมรดกวัฒนธรรมของชุมชนสองฝั่ง
สำหรับ กรณีวิมานพระอินทร์ ไม่ได้ทำให้โครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยาสะดุดแต่อย่างใด จากการที่มีเพจหนึ่งได้แพร่ข่าวอ้างว่าร่างแบบพิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานคร หรือ อาคารวิมานพระอินทร์ ได้ลอกแบบ โดยครั้งแรกอ้างว่าลอกแบบคนไทย และอีกไม่กี่วันถัดมาได้เปลี่ยนมาเป็นคำอ้างว่าลอกแบบฝรั่งชาวอังกฤษ แต่มีข้อกังขาว่าแบบของฝรั่งก็ไปคล้ายกับของญี่ปุ่นที่สร้างในปี 2001 อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องดี ที่ สจล. เปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย แนวความคิด มีที่มาจากสถาปัตยกรรมเครื่องยอด เจดีย์ทรง “จอมแห” ที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยมาทุกยุคสมัย ส่วนของผนังภายนอกอาคารได้แรงบันดาลใจจากเกล็ดของพญานาคและลายไทย นั้น เป็นเพียงทำภาพเป็นตัวอย่างประกอบแผน มิได้เป็นการออกแบบรายละเอียดเพื่อการก่อสร้างแต่อย่างใด แต่เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย ทางสจล.ได้ถอนแบบแผนที่ 11 เฟสที่ 2 ออกจากรายงานที่จะนำส่งแก่ กทม. ทั้งนี้ต่อไปในอนาคตการพัฒนาพิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานคร อยู่ในการพิจารณาของ กทม. ในการกำหนดแนวทางและรายละเอียดการออกแบบต่อไป
ส่วนเรือง มหาวิทยาลัยรับงานโครงการภาครัฐได้หรือไม่ ขณะนี้มีการยื่นเรื่องไปยังคณะกรรมการกฤษฎิกาเพื่อรอการวินิจฉัย หากสภาวิชาชีพจะใช้กรณี สจล.เป็นบรรทัดฐานว่ามหาวิทยาลัยรับงานภาครัฐได้หรือไม่ ก็มีการตั้งคำถามว่า จะใช้มาตรฐานเดียวกันกับมหาวิทยาลัยอื่นๆที่รับงานภาครัฐมายาวนานด้วยหรือไม่ 90 กว่าปีที่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกในไทย จนปัจจุบันมีจำนวนมากมายหลายแห่ง บทบาทของมหาวิทยาลัย ไม่เพียงเปิดการเรียนการสอนเท่านั้น แต่ยังได้เป็นที่พึ่งของประชาชน และสังคม สนับสนุนงานภาครัฐในการพัฒนาประเทศไทยมาจนเจริญก้าวหน้ามาถึงทุกวันนี้ด้วย
ที่ผ่านมาแทบทุกกระทรวงมีการจ้างมหาวิทยาลัยของรัฐ เพราะเป็นแหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญหลายสาขามากที่สุด ความน่าเชื่อถือและเป็นกลางทางด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยรับงานภาครัฐได้ แม้ไม่มีใบอนุญาติจากสภาสถาปนิก และสภาวิศวกร ในทางปฎิบัติ หน่วยราชการทั่วประเทศ ถ้าจะจ้างเอกชนก็ทำ TOR ประกวดแบบ ยกเว้น มหาวิทยาลัยของรัฐมีสิทธิ์รับงานได้ตาม พรบ.ของสจล. และสามารถอิงตาม “ระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยพัสดุ ปี 2535“ ไม่ว่ากระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ออกแบบก่อสร้างอาคารมาทั่วประเทศ กรมอนามัยจะออกแบบโรงพยาบาลทั่วประเทศ กทม. ทหารยุทธโยธา กองพลาธิการตำรวจ ก็อิงระเบียบสำนักนายกนี้