Thailand Campaign ภายใต้ชื่อ “มหกรรมอย่าให้ใครว่าไทย” โดย 6 ภาคีจับมือเครือข่ายกว่า 85 องค์กร สร้างพฤติกรรมไร้หนี้
ปัจจุบันวิกฤตปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประเทศไทยในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ประกอบกับสื่อก็เป็นปัจจัยหนึ่งของปัญหาการสร้างค่านิยมที่ผิดหลายรูปแบบ รวมถึงกระแสวัตถุนิยม จริยธรรมและคุณธรรมของคนไทยเสื่อมลง ซึ่งการบรรเทาปัญหาที่เป็นอยู่คือเริ่มที่คนเป็นหลัก แต่แนวโน้มของปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและยั่งยืนของประเทศชาติ
โครงการ Thailand Campaign ภายใต้ชื่อ “มหกรรมอย่าให้ใครว่าไทย” โดย เครือข่ายอนาคตไทย ได้แก่ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สภาหอการค้าไทย และมูลนิธิมั่นพัฒนา ร่วมกับภาคีเครือข่ายกว่า 85 องค์กร ได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงร่วมมือกันจัดงานดังกล่าวขึ้น มีจุดมุ่งหมายกระตุ้นให้คนในชาติปรับเปลี่ยนทัศนคติ ลดเลิกพฤติกรรมที่ไม่ดี ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่จะทำให้ประเทศพัฒนาต่อไป โดยมุ่งส่งเสริมทัศนคติและพฤติกรรมเชิงบวก ใน 4 มิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมโดยใช้กลยุทธ์ “หนามยอกเอาหนามบ่ง” ภายใต้ 4 แกนหลัก คือ อย่าให้ใครว่าไทยฟุ้งเฟ้อ อย่าให้ใครว่าไทยขี้โกง อย่าให้ใครว่าไทยไร้สติ และอย่าให้ใครว่าไทยมักง่าย โดยมีการจัดงานเปิดตัว Thailand Campaign ภายใต้ชื่อ “มหกรรมอย่าให้ใครว่าไทย” เพื่อให้ประชาชนได้เกิดการเรียนรู้ ตระหนักและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
การจัดงาน Thailand Campaign ภายใต้ชื่อ “มหกรรมอย่าให้ใครว่าไทย” ในครั้งนี้เป็นช่วงสร้างพฤติกรรมไร้หนี้ มีสโลแกนว่า “มีวินัยกับความเพียร ไร้หนี้ มีปัญญา” เพื่อสร้างการรับรู้และเรียนรู้เรื่อง “ความไม่ฟุ้งเฟ้อ” ว่าการจะใช้เงินต้องคิดก่อนใช้ เช่น กู้เงินเพื่อสิ่งจำเป็นได้แต่ไม่ควรเป็นหนี้เกินตัว หรือใครที่มีรายได้แล้วต้องรู้จักออม เหมือนเป็นการกระตุ้นการรับรู้ว่าการใช้เงินให้คุ้มค่าแต่พอดีนั้นสามารถทำได้
นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาด้านการเงินที่เกิดจากการสร้างหนี้จนเกินตัว รวมถึงการส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวกในมิติสังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม โดยภายในงานจะประกอบด้วยการเสวนาและกิจกรรมต่างๆ มุ่งเน้นการเผยแพร่ค่านิยมไม่ฟุ้งเฟ้อและอื่นๆ ตลอดจนการนำเสนอแนวคิดในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงการประชาสัมพันธ์ CSR ของภาคีที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักของแคมเปญและการดำเนินงานของเครือข่ายอนาคตไทย
การรณรงค์จะประสบความสำเร็จสูงมากหากเราช่วยกันรวมพลัง ซึ่งจะจัดงานทั้งหมด 6 ครั้ง เริ่มที่กรุงเทพมหานครเป็นที่แรก และจังหวัดสุราษฏร์ธานี จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชลบุรีและจังหวัดนครปฐมตามลำดับ โดยการจัดงานเป็นรูปแบบ “งานวัด Expo” ตลาดนัดแบบไทยๆ สามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้มากที่สุดเพราะจับต้องได้ กิจกรรมหลักคือเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักศึกษา ครู บุคคลทั่วไป และแหล่งชุมชน สำหรับการเสวนา เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นความตระหนักต่อวิกฤตและกระตุ้นพลังบวกของผู้เข้าร่วมกิจกรรม นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการ และรถแห่ LED เพื่อประชาสัมพันธ์ด้วย
สำหรับกิจกรรมบนเวทีมีการเล่นเกมส์แจกของรางวัล การแสดงไทยแลนด์ก็อตทาแลนต์ และ Show อย่าให้ใครว่าไทย (Flash mob) โดยมีภาคีเครือค่ายทั้งภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรภาคเอกชน และองค์กรสื่อมวลชนเข้าร่วมรณรงค์กว่า 85 องค์กร อาทิ การประปานครหลวง สำนักป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) สถานีวิทยุจราจรเพื่อสังคม FM 99.5 MHz ฯลฯ
สุดท้ายนี้ เรายังคงเดินหน้าสะท้อนปัญหาสังคมไทย จัดกิจกรรมเชิงรุกร่วมกับทุกภาคีเครือข่าย ซึ่งการระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเข้าถึงประชาชนมากที่สุดเพื่อให้เกิดการปฏิบัติได้จริง และสามารถขับเคลื่อนปรับเปลี่ยนสังคมไทยให้แข็งแรงยั่งยืนตลอดไป