1

PwC แนะบริษัทเอกชนกล้าเสี่ยง รุกลงทุนดิจิทัล หลัง ‘เมกะเทรนด์’ ชี้ชะตาธุรกิจโลก

Resized_Sira-Intarakumthornchai_CEO-of-PwC-Thailand

กรุงเทพฯ, 30 มีนาคม 2558 – PwC เผยซีอีโอบริษัทเอกชนทั่วโลกเห็นตรงกันว่าเมกะเทรนด์โดยเฉพาะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ชี้ชะตาธุรกิจในอนาคต ชี้บริษัทเอกชนเริ่มตื่นตัวและกล้าที่จะลงทุนเทคโนโลยีดิจิตอลเพิ่มขึ้นเพื่อผลตอบแทนทางธุรกิจที่ดีกว่า เช่น การทำงานบนอุปกรณ์ไร้สาย โปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป แนะบริษัทเอกชนไทยมองหาดิจิตอล ทาเลนต์และก้าวออกจาก Comfort Zone เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจที่เหนือคู่แข่ง
นาย ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจ Private Companies: Anything but business as usual ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากการสำรวจ Global CEO Survey ครั้งที่ 18 ที่ทำการสำรวจซีอีโอบริษัทเอกชนกว่า 700 บริษัทว่า ซีอีโอบริษัทเอกชน (Private companies) เริ่มตระหนักว่า เมกะเทรนด์ ที่เป็นกระแสร่วมซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งประเทศ เศรษฐกิจ และสังคม ประกอบไปด้วย 5 แนวโน้มหลัก ได้แก่ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรศาสตร์ การเปลี่ยนขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก การขยายตัวของชุมชนเมือง และการขาดแคลนทรัพยากรและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ เป็นปัจจัยที่ท้าทายของธุรกิจในอนาคต
“ทุกวันนี้ธุรกิจดำเนินอยู่บนโลกที่ไร้พรมแดน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศหนึ่งส่งผลกระทบไปยังหลายประเทศทั่วทุกมุมโลกอย่างรวดเร็ว และเมกะเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกจะกลายเป็นแรงผลักดันให้การดำเนินธุรกิจในอนาคตเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต นี่ถือเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสสำหรับผู้นำที่มองต่างจากคนอื่น” นายศิระ กล่าว
ทั้งนี้ จากผลสำรวจพบว่า ซีอีโอเกือบ 60% ระบุว่า วันนี้ธุรกิจของพวกเขากำลังเผชิญกับความเสี่ยงหรือภัยที่คุกคามการเติบโตของรายได้ทั้งจากการแข่งขันและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปมากกว่าเมื่อ 3 ปีก่อน แต่ซีอีโอจำนวนใกล้เคียงกันก็เชื่อว่า ธุรกิจของพวกเขามีโอกาสมากกว่าในอดีตเช่นกัน โดยปัจจัย 3 อันดับแรกที่ซีอีโอทั่วโลกกังวลมากที่สุด ได้แก่ กฎระเบียบที่เข้มงวดมากเกินไป โดยเฉพาะจากภาครัฐ ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อยู่เหนือการควบคุม ประเด็นถัดมาที่ซีอีโอกังวลไม่แพ้กัน คือ การขาดแคลนบุคลากรหรือแรงงานที่มีทักษะ ภาระหนี้และการขาดดุลการคลัง รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมือง
“เราเริ่มเห็นสัญญาณบวกจากซีอีโอบริษัทเอกชนส่วนใหญ่ที่เห็นตรงกันว่า หากยังทำธุรกิจในรูปแบบเดิมๆ ใช้โครงสร้างองค์กรแบบเดิม หรือมองข้ามการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่สำคัญๆ รวมทั้งมีการบริหารจัดการบุคลากรแบบผิดๆ ก็จะทำให้ธุรกิจไม่สามารถเดินไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ หรือเสียเปรียบคู่แข่งที่มีความพร้อมมากกว่าได้” นายศิระ กล่าว
อย่างไรก็ดี นายศิระ กล่าวว่า ยังมีผู้บริหารบริษัทเอกชนอีกมากที่ต้องเร่งปรับยุทธศาสตร์ สร้างนวัตกรรมใหม่ และเตรียมพร้อมองค์กรให้มีมาตรการที่มีความเหมาะสม สามารถรับมือต่อปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงทุกขณะ นอกจากนี้ หากบริษัทเอกชนรู้จักผันตัวเองมาเป็นผู้ประกอบการที่มีความยืดหยุ่น โดยมีการทบทวนความเสี่ยง และกำหนดกลยุทธ์ในบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านั้นอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันและการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว ทำให้พวกเขาสามารถรับมือกับความเสี่ยงในอนาคตได้ดีขึ้น
ถนนทุกสายมุ่งสู่ดิจิตอล
ขณะเดียวกัน ผลสำรวจยังพบว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้าบริษัทเอกชนกว่าครึ่ง (54%) มีแนวโน้มที่จะต้องแข่งขันกับผู้เล่นต่างอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยซีอีโอบริษัทเอกชน 1 ใน 3 (31%) ระบุว่า พวกเขาเริ่มรุกเข้าไปในอุตสาหกรรมใหม่แล้วในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งในปีนี้ ซีอีโอบริษัทเอกชนเริ่มตื่นตัวและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งปรับโครงสร้างการทำงานให้เข้ากับเทคโนโลยีดิจิตอลที่มีความหลากหลายมากขึ้น
“วันนี้เราปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า ดิจิตอลเข้ามามีบทบาทในทุกสังคมทั่วโลก และซีอีโอทั่วโลกต่างก็ยอมรับในประเด็นนี้และเริ่มมองไปข้างหน้าว่า จะนำดิจิตอลมาประยุกต์ใช้เป็นในธุรกิจหลักอย่างไร และต้องทำมันให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”
ธุรกิจครอบครัว (Family firms) ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างของบริษัทเอกชนที่ขยายธุรกิจไปยังอุตสาหกรรมอื่นได้คล่องตัวมากกว่าบริษัทเอกชนรายอื่น โดยผลสำรวจพบว่า ธุรกิจครอบครัวถึง 38% มีการขยายธุรกิจไปยังอุตสาหกรรมใหม่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือธุรกิจที่เจ้าของกิจการบริหารจัดการด้วยตนเองอื่นๆ โดยมีสัดส่วนเพียง 25%
ทั้งนี้ โครงสร้างของบริษัทเอกชนโดยทั่วไป ยังแตกต่างจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเจ้าของกิจการมีอิสระในการบริหารจัดการธุรกิจด้วยตนเอง ไม่มีผู้ถือหุ้นในตลาดและไม่ต้องรายงานทางการเงิน ทำให้สามารถมีอำนาจการตัดสินใจในการลงทุนระยะยาวที่อาจจะใช้เวลาสร้างผลตอบแทนนานกว่าปกติ นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของกิจการที่มีต่อบริษัท อีกทั้งความเป็นเจ้าของก็อาจช่วยสร้างรักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลูกค้า พนักงาน และซัพพลายเออร์ได้ดีกว่า

ซีอีโอบริษัทเอกชนเชื่อว่า การลงทุนในเทคโนโลยีดิจิตอล (Digital Technology) ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรของพวกเขาได้เป็นอย่างมาก โดยเชื่อว่า ดิจิตอลจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยกลยุทธ์ที่ซีอีโอทั่วโลกจะนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับธุรกิจมากที่สุด ได้แก่ เทคโนโลยีบนมือถือและการทำงานบนอุปกรณ์ไร้สาย เทคโนโลยีในการค้นหาและวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง และเทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ (Cyber Security)
มองหาดิจิตอลทาเลนต์ และออกจากคอมฟอร์ทโซน
นอกจากการลงทุนด้านดิจิตอลแล้ว นายศิระ กล่าวต่อว่า การมองหาบุคลากรที่มีความสามารถ รวมทั้งมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ยังถือเป็นอีกกุญแจสำคัญของการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในอนาคต การนำกลยุทธ์การบริหารความหลากหลายขององค์กร (Diversity and Inclusiveness) มาใช้กับบุคลากรจะเป็นประโยชน์แก่บริษัทในระยะยาว และหากองค์กรสามารถมีกำลังพลที่มี Know How หรือมีวัฒนธรรมองค์กร และโปรแกรมการพัฒนาบุคลากรที่ส่งเสริมการนำเทคโนโยลีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับองค์กรได้ ก็จะช่วยสร้างระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ความพึงพอใจและประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าได้ในที่สุด
ทั้งนี้ ผลสำรวจระบุว่า ซีอีโอบริษัทเอกชนถึง 52% มีแผนจะรับบุคลากรเพิ่มขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า แต่ซีอีโอส่วนใหญ่ยังกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะสูง
“ต่อไปองค์กรจะเริ่มมองหาบุคลากรที่มีทั้งความสามารถเฉพาะทางและมีทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิตอลร่วมอยู่ด้วย เพราะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้สูงขึ้นได้”
นายศิระกล่าวทิ้งท้ายว่า บริษัทเอกชนที่จะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้ ต้องกล้าที่จะก้าวออกมาจาก Comfort Zone หรือ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงแนวคิดแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ แนวทางการตลาด และรูปแบบการบริหารงาน ซึ่งผู้ประกอบการที่กล้าจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง จะสามารถบริหารจัดการความเสี่ยง ลดภัยคุกคามต่อการดำเนินธุรกิจ และเข้าถึงไอเดียในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆได้เร็วกว่า ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจที่เหนือคู่แข่ง
“สำหรับบริษัทเอกชนของไทยเองก็ต้องตื่นตัวในการลงทุนและสรรหาบุคลากรเพื่อรองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยิ่งรัฐบาลเร่งผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น และการเปิดเออีซีในปลายปีนี้ จะทำให้การแข่งขันในตลาดเพิ่มมากขึ้น ผู้ที่มีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีจะได้เปรียบทั้งคู่แข่งภายในและภายนอกประเทศ”
“ธุรกิจที่ต้องการเติบโตและประสบความสำเร็จในยุคเศรษฐกิจดิจิตอล ผู้นำองค์กรจะต้องมีวิสัยทัศน์แบบ 360 องศา มองเห็นปัจจุบัน และหาโอกาสในอนาคตเพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้ได้เต็มที่ ในการสร้างฐานลูกค้าใหม่ ช่องทางการตลาดใหม่ และการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่”