บทความพิเศษ เรื่อง “น้ำท่วมอีสาน” เคราะห์ซ้ำกรรมซัด หรือโอกาสรอดของประเทศไทย
“แม้แต่ร้านส้มตำไก่ย่าง แม่ค้ายังนั่งตบยุงกันอยู่เลยตอนนี้” นี่คือคำตอบและบรรยากาศของพ่อค้าแม่ค้าส้มตำไก่ย่างย่านบางเขน แถววัดพระศรีมหาธาตุ เนื่องด้วยไม่มีลูกค้าเข้ามาอุดหนุนเหมือนเมื่อก่อน จากที่เคยขายได้วันละ 4,000 – 5,000 บาท แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 1,000 – 2,000 บาท ซึ่งถือว่าลูกค้าหายไปมากพอสมควร เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเศรษฐกิจที่บีบรัดเข้ามาทุกขณะ จากกำลังซื้อที่ลดน้อยลงของรายได้ที่เข้ามายากขึ้นในทุกวัน ทำให้พฤติกรรมการใช้เงินของต้องจำกัด หรือใช้เท่าที่จำเป็นจริงๆ นี่ขนาดส้มตำไก่ย่างซึ่งเป็นอาหารที่ราคาย่อมเยาหากินได้ง่ายทั่วไปยังอยู่ในสภาพนี้ นับประสาอะไรกับผู้คนชนชั้นรากหญ้าหาเช้ากินค่ำทั่วไป จะลำบากยากแค้นขนาดไหน ลองนึกภาพตามเอาเอง
จากสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ยังเกิดพายุฝนตกซ้ำเติมทั่วทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคอีสานในจังหวัดสกลนคร ที่ถูกกระแสน้ำจากฝายชะลอน้ำพังทลายลงมาท่วมเมืองทั้งเมืองให้อยู่ใต้บาดาลเพียงไม่กี่อึดใจ และสาเหตุการเกิดน้ำท่วมก็ยังถกเถียงกันไม่เลิกอยู่ในขณะนี้ ว่าเกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่หรือจากภัยธรรมชาติ แต่ที่แน่ๆ คือ ผลจากน้ำท่วมภาคอีสานในคราวนี้ก็ทำให้ชาวบ้านได้รับความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน ตลาดขายของที่เสียหายทั้งทีวีตู้เย็น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องยนต์กลไกต่างๆ สินค้าปุ๋ยยา หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะเรือกสวนไร่นาที่ทำให้เกษตรกรสูญเสียทั้งผลผลิตและรายได้ ฉุดให้จีดีพีของประเทศตกต่ำลงไปพอสมควร
ในอดีตยุควิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 นั้นส่วนใหญ่จะเป็นเศรษฐกิจระดับบน ระดับกลางที่ล้ม และบางส่วนก็ล้มบนฟูก แต่เศรษฐกิจฐานล่างโดยเฉพาะภาคการเกษตรไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ในวิกฤติครั้งนั้นก็ถือว่าแรงงานวัยหนุ่มสาวที่ถูกเลิกจ้างหรือถูกจับฉลากให้ออก ยังสามารถกลับบ้านไปทำนาทำไร่ เก็บผักตัดหญ้า พอประทังชีวิตไปได้ บางมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์บางท่านยังชื่นชมด้วยซ้ำว่า ชนชั้นรากหญ้าอาชีพเกษตรกรที่มีฐานอันแข็งแกร่งนอกเมืองออกไปนั้น เป็นผู้ค้ำยันประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ดีขึ้นมาอย่างภาคภูมิและแข็งแกร่งด้วยซ้ำ ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันโดยสิ้นเชิงที่เกษตรกรฐานรากในปัจจุบันกลับอ่อนแอล้มตามๆ กันไปกับทุกภาคส่วน จากหนี้นอกระบบ จากการกู้ยืมเงินจากหน่วยงานหรือกองทุนต่างๆ ที่ให้กู้แต่กึ่งถูกบังคับให้ซื้อปุ๋ยยาฆ่าแมลงที่นำมาบริการหลังอนุมัติกู้ไปในทันที และอ่อนแอจากรายได้ที่ลดน้อยถอยลงกับราคาผลผลิตตกต่ำที่ได้พูดไปก่อนหน้า ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากของเกษตรกรที่ไม่มีรายได้จากที่อื่นใดมาสนับสนุนเลย
หรือวิกฤติครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่รัฐบาลจะยื่นมือมาช่วยให้พี่น้องเกษตรกรรอดพ้น ก่อนที่จะไปไทยแลนด์ 4.0 ควรให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนของเกษตรกร เพื่อให้แข่งขันด้านราคากับนานาประเทศได้ ควรส่งเสริมการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการผลิตดูแลบำรุงรักษา และแก้ปัญหาโรคแมลงแบบปลอดภัยไร้สารพิษ เพราะการใช้ปัจจัยการผลิตจากวัสดุที่หาได้ง่ายๆ ใกล้ตัวจากพืชสมุนไพร จุลินทรีย์ต่างๆ ในท้องถิ่นจะช่วยลดต้นทุนให้ต่ำกว่าการใช้สารเคมีปุ๋ยยาที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และแก้ปัญหาราคาผลผลิตภาคการเกษตรที่ตกต่ำ ไม่ว่าจะเป็น ข้าว อ้อย ปาล์ม ยางพารา มะละกอ มะนาว ฯลฯ
รวมถึงให้ความสำคัญในเรื่องการตลาด ส่งเสริมและเจรจาให้ห้างโมเดิร์นเทรดทั้งหลาย เพื่อซื้อผลผลิตของเกษตรกรตามฤดูกาล กระจายไปตามสาขาทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก ส่งเสริมการแปรรูปเพิ่มมูลค่าและยืดอายุการเก็บรักษาผลผลิตให้ได้ยาวนานและได้มาตรฐานสากล โดยอาศัยงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มักจะเก็บไว้แต่บนหิ้ง หรือไม่ก็ตกไปอยู่ในมือบริษัทที่ร่ำรวยใหญ่โตแต่เพียงกลุ่มเดียว ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ต่างๆ เข้าไม่ถึง ช่วยบริหารกลไกราคา อย่าปล่อยให้ตกต่ำ เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะประชาชนค่อนประเทศที่เป็นเกษตรกรขาดรายได้มาจุนเจือ ทำให้กำลังซื้อลดน้อยลงไปตามๆ กัน ทั้งผู้บริโภค พ่อค้า แม่ค้า และโยงไปถึงเศรษฐกิจระดับบนของประเทศ ส่งผลให้ในระดับมหภาคขับเคลื่อนไปได้ยาก
สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยหรือต้องการคำปรึกษา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 02 986 1680-2
สนับสนุนบทความโดยนายมนตรี บุญจรัส
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด (ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ)