เทรนด์ท่องเที่ยวเปลี่ยน แนะธุรกิจปางช้างปรับโฉมเน้นเป็นมิตรต่อช้าง
กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนานาชาติ ชี้แนวโน้มนักท่องเที่ยวเปลี่ยน สนใจศึกษาธรรมชาติช้างมากกว่าเสพความบันเทิงจากช้าง แนะธุรกิจปางช้างปรับรูปแบบใหม่ ยุติทัวร์ขี่ช้าง เน้นเป็นมิตรต่อช้างพร้อมยันอาชีพควานช้างไม่ตกงาน ยังทำหน้าที่ดูแลช้างตามธรรมชาติ แทนขี่ช้าง จัดการแสดงช้าง
กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนานาชาติ (Providing Demand Working Group, PDWG) เปิดเวทีเสวนา ธุรกิจปางช้างรูปแบบใหม่ในอนาคต เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจปางช้างในประเทศไทยได้เห็นรูปแบบธุรกิจเกี่ยวกับช้างอย่างยั่งยืน รวมถึงตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวในการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวช้างแบบใหม่
นายพอนตัส สเวนเซ่น (Pontus Svensson) ผู้แทนจาก TUI Group กลุ่มเครือข่ายธุรกิจท่องเที่ยวชั้นนำของโลก กล่าวว่า กลุ่มบริษัท TUI เป็นบริษัทที่ให้บริการการท่องเที่ยว ดูแลนักท่องเที่ยวชาวยุโรป โดยมีการนำท่องเที่ยวมาประเทศไทย ปีละกว่า 2 แสนคน อดีตมีการจัดกิจกรรมนักท่องเที่ยวขี่ช้าง ชมการแสดงของช้าง ซึ่งธุรกิจปางช้างเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมใช้บริการจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่ทางบริษัทฯ เล็งเห็นความสำคัญในการดูแลสวัสดิภาพของสัตว์ โดยเฉพาะช้าง ในปี 2555 บริษัทฯ จึงได้หยุดการขายการท่องเที่ยวในการขี่ช้าง ชมแสดงช้าง และในปี 2558-2560 กลุ่มบริษัทท่องเที่ยวในยุโรป ได้ดำเนินการในเรื่องนี้ เพื่อเป็นการรณรงค์และปกป้องสัตว์
“นักท่องเที่ยวที่มายังประเทศไทย ส่วนใหญ่ให้ความสนใจในการเยี่ยมชมช้างเหมือนเดิม แต่ไม่ใช่เพียงขี่ช้าง หรือชมการแสดงความสามารถพิเศษของช้างเพื่อความบันเทิง แต่พวกเขาสนใจท่องเที่ยวดูช้างตามธรรมชาติ โดยไม่รบกวนพฤติกรรมธรรมชาติของช้าง ซึ่งกลุ่มบริษัท TUI ได้พยายามส่งเสริมให้ประสบการณ์ท่องเที่ยวช้างแนวใหม่ที่นึกถึงสวัสดิการของช้างและสัตว์เป็นหลัก ดังนั้น อยากฝากผู้ประกอบการ ธุรกิจปางช้าง จัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวไปสัมผัสประสบการณ์ชีวิตช้างในธรรมชาติ เห็นการดูแลช้างที่ดี ไม่ใช่เพียงตอบสนองสันทนาการของคน” นายพอนตัส กล่าว
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจออนไลน์ความต้องการของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ประมาณ 12,000 คน ตั้งแต่ปี 2557-2560 พบว่า กระแสการท่องเที่ยวช้างเปลี่ยนไปจากเดิม โดยในปี 2557 นักท่องเที่ยวยอมรับและสนใจการขี่ช้าง การแสดงช้างจำนวนมาก แต่ใน ปี 2560 นักท่องเที่ยวสนใจการสัมผัสประสบการณ์ชีวิตช้างในธรรมชาติแทน และธุรกิจปางช้าง ยังเป็นธุรกิจที่ได้รับความสนใจอย่างมาก และมีการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ธุรกิจปางช้างรูปแบบใหม่ของเมืองไทยต้องตอบสนองเรื่องสวัสดิภาพของช้างให้เติบโตมากขึ้นมากกว่าหาความบันเทิงจากช้าง
นายแจ๊ค ไฮย์วู๊ด (Jack Highwood) ผู้แทนจาก Elephant Valley Thailand จ.เชียงราย กล่าวว่า มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่จะมาเยี่ยมชมช้างในประเทศไทย โดยการมาของพวกเขาเพื่อชมช้างตามธรรมชาติ การใช้ชีวิตตามสภาพแวดล้อมในป่า รูปแบบการตลาดเปลี่ยนไปแล้ว กลุ่มนักท่องเที่ยวก็เปลี่ยนไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไม่ได้เพียงมีการดูแลคุณภาพชีวิตช้างให้ดีขึ้น แต่ยังเป็นการให้ควานช้างไม่เครียด และพวกเขาไม่ต้องกังวลว่าช้างจะเครียดหากต้องพาไปให้นักท่องเที่ยวขี่ โดยควานช้างจะรับผิดชอบต่อการจัดการช้างในวันต่อวัน และปล่อยให้หากินตามธรรมชาติ
“เรามีพื้นที่อยู่จำนวน 64 ไร่ ที่จะปล่อยให้ช้างได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติของพวกเขา โดยจะมีควานช้างคอยดูแลไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร สุขภาพ ความปลอดภัย ความเป็นอยู่ของช้าง แต่ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงชีวิตประจำวันของช้าง สิ่งที่นักท่องเที่ยวได้รับคือ การพาชมช้างอย่างปลอดภัย สังเกตการใช้ชีวิตพฤติกรรมของช้าง จะมีการให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับการดูแลช้าง และไม่มีปฎิสัมพันระหว่างคนกับช้างอย่างใกล้ชิด เพื่อความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อช้าง” นายแจ๊ค กล่าว
ทั้งนี้ ธุรกิจปางช้างรูปแบบใหม่เน้นการท่องเที่ยวโดยเรียนรู้วิถีชีวิตของช้างตามธรรมชาติ ช้างได้รับการดูแลอย่างดี ย่อมส่งผลต่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่รองรับได้ทุกฤดูกาลท่องเที่ยว และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อช้างอย่างแท้จริง รวมถึงเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่สร้างความยั่งยืนในระยะยาวให้แก่ธุรกิจปางช้างและกลุ่มอุตสาหกรรมนี้