1

รู้จักบันไดเลื่อนกันดีหรือยัง? วสท.วิเคราะห์เหตุร้ายจากบันไดเลื่อน

06.ส่วนประกอบของบันไดเลื่อน

ชมคลิป TNN24 รายการขยายข่าว ทิน โชคกมลกิจ เจาะลึกสนทนากับ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.)
คุณบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย เรื่อง วิเคราะห์เหตุอันตรายจากบันไดเลื่อน

ข่าวเหตุร้ายจากอุบัติเหตุบันไดเลื่อนในศูนย์การค้าประเทศจีน, ฮ่องกง ตามมาด้วยที่ห้างดังของไทยย่านวงศ์สว่างเกิดพลิก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้วิเคราะห์มาตรฐานการออกแบบยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่นปลอดภัย ซึ่งแตกต่างจากมาตรฐานอื่น ๆโดยไม่มีผนังกั้นเครื่องจักร ที่จะป้องกันสัมผัสตัวคนและช่างไม่ได้ยึดน๊อต ขณะที่บันไดเลื่อนในไทยส่วนใหญ่มีมาตรฐานการออกแบบและการผลิตที่ดีตามหลักสากล ชี้เหตุเกิดห้างย่านวงศ์สว่างไม่ร้ายแรงเกิดจากเหรียญลงไปขัดล้อทำให้พลิกตกราง วสท.เผย 4 ข้อเสนอแนะ ย้ำควรบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารอย่างมีประสิทธิภาพ ให้อาคารต่าง ๆ ต้องตรวจสอบบันไดเลื่อนโดยผู้เชี่ยวชาญทุกปี และเพิ่มโทษผู้ฝ่าฝืนเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการลดค่าใช้จ่ายหรือละเลยการบำรุงรักษาที่ขาดคุณภาพ
รองศาสตราจารย์ สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า จากสัปดาห์ก่อน เกิดเหตุร้ายในประเทศจีน เป็นอุบัติเหตุผู้หญิงถูกดูดในบันไดเลื่อนเสียชีวิตทันที ตามด้วยเหตุการณ์ในฮ่องกง ที่เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดได้รับอุบัติเหตุขณะทำงาน และเหตุการณ์บันไดเลื่อนที่ห้างดังย่านวงศ์สว่างพลิก และหยุดการทำงานกะทันหัน วสท. ซึ่งเป็นองค์กรหลักด้านวิศวกรรมของประเทศ จึงได้จัดแถลงข่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ปัญหา และสาเหตุของอุบัติเหตุจากบันไดเลื่อนที่เกิดขึ้นดังกล่าว และให้ข้อมูลแก่สาธารณชน เพื่อลดความตื่นตระหนก ปัจจุบันระบบขนส่งหลักในอาคารมี 2 แบบ คือ ลิฟต์ และบันไดเลื่อน ในการใช้งานบันไดเลื่อนในประเทศไทย มีประมาณ 40,000 คู่
นายบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท) กล่าวว่า บันไดเลื่อน และทางลาดเลื่อน เป็นเครื่องจักรกลที่ไม่มีความซับซ้อน มีวัตถุประสงค์ในการขนส่งผู้โดยสารที่ใช้ขั้นบันไดในการลำเลียงคนจำนวนมากด้วยความเร็วที่เหมาะสม และคงที่ ส่วนประกอบและการทำงานของบันไดเลื่อน มีอุปกรณ์หลักคือ โครงสร้างบันได มอเตอร์ และชุดทดรอบ จาน และโซ่ ขั้นบันไดเลื่อน ราวมือจับ ตู้ไฟฟ้าควบคุม และอุปกรณ์ความปลอดภัยต่าง ๆ
ขั้นบันไดของบันไดเลื่อนจะมีขนาดลูกตั้ง และลูกนอนใหญ่กว่าขั้นบันไดธรรมดาที่ใช้ในการขึ้นลงของอาคาร บันไดแต่ละขั้นจะมีล้อหมุนสองชุดติดที่ปลายขั้นบันได ล้อทั้งคู่ของบันไดจะเคลื่อนที่ไปตามรางบังคับ เพื่อให้ขั้นบันไดสามารถเลื่อนไปบนทางวิ่งของขั้นบันไดที่ออกแบบให้เป็นวงตามความยาว และมุมของบันได นอกจากนี้ เพื่อให้ขั้นบันไดเคลื่อนที่อย่างต่อเนื่อง ไม่หลุดออกจากกัน และไม่หลุดจากทางวิ่งของขั้นบันได ทุกขั้นบันไดจึงมีลักษณะเป็นซี่และร่อง เพื่อให้บันไดทุกขั้นขบกันอย่างต่อเนื่อง
ความสามารถของบันไดเลื่อน และทางลาดเลื่อนในการขนส่งผู้โดยสาร แปรตามความกว้างของขั้นบันได และความเร็วที่ปกติจะใช้ 30 เมตรต่อนาที (1.80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
ความปลอดภัยของบันไดเลื่อน และทางลาดเลื่อน ผู้ผลิตบันไดเลื่อนจะติดตั้งกลอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยไว้ที่จุดต่าง ๆ ของบันได ตัวอย่างเช่น ราวบันไดที่ทำด้วยยางเป็นองค์ประกอบ และจะต้องเคลื่อนที่ตลอดและภายใต้แรงตรึงที่ปรับไว้ จะเกิดการสึกหรอและหย่อน ซึ่งอาจไม่ปลอดภัยต่อการใช้งาน กลอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยจะหยุดการทำงานของบันได เช่นเดียวกับโซ่ขับบันได ก็จะตรึงด้านที่เฟืองขับและจะหย่อนด้านที่เฟืองไม่ขับ (หลักการเดียวกับโซ่ขับจักรยาน) กลอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยก็จะหยุดบันได้ด้วย นอกจากนี้ ยังมีกลอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย เพื่อป้องกันไม่ให้ขั้นบันไดได้รับแรงกระแทกจนบันไดชำรุด และการเคลื่อนที่ของบันไดเลื่อนที่ผิดปกติ

วิเคราะห์กรณีอุบัติเหตุจากบันไดเลื่อนที่ประเทศจีน

ข้อสังเกตจากคลิปวีดิโออุบัติเหตุในประเทศจีน
1. แผ่นปิดห้องเครื่องที่มี 3 แผ่น จะเห็นได้ว่าแผ่นปิดชิ้นที่ 2 (ตรงกลาง) ไม่ได้ ยึดน็อต ประกอบกับแผ่นอาจไม่เรียบสนิท ทำเมื่อวางแผ่นแล้วสามารถกระดก และหล่นลงไปในบ่อบันไดเลื่อนได้
2. แผ่นปิดชิ้นที่ 2 เมื่อเปิดออกแล้ว เป็นชุดขับขั้นบันได และมีช่องว่างระหว่างมอเตอร์ขับเพลากับจานเฟืองเหลือน้อยเกินไป
3. ที่ชุดขับเพลาไม่มีแผ่นผนังกั้นเพื่อป้องกันไม่ให้คน หรือเสื้อผ้าถูกส่วนของจานเฟืองหลัก
4. ก่อนเกิดอุบัติเหตุ ผู้ใช้บันไดเลื่อนพบแล้วแผ่นปิดชิ้นที่ 2 กระดกและไม่ปลอดภัย จึงได้ยืนเฝ้าระวัง และคอยเตือนให้ผู้หญิงกับเด็กเล็กที่ขึ้นมาทีหลัง และยังอยู่ที่บันไดเลื่อนระมัดระวัง แต่ทั้งสองคนไม่พยามยามจะหยุดบันไดเลื่อนที่ปุ่มฉุกเฉิน และผู้หญิงกับเด็กเล็กที่ขึ้นมาทีหลังก็ไม่ทราบว่าจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
5. ภายหลังเกิดเหตุ ช่างบำรุงรักษายอมรับว่าไม่ได้ทำการยึดน็อตที่แผ่นปิดชิ้นที่ 2
6. มาตรฐานการออกแบบบันไดเลื่อนของจีน เว้นระยะห่างระหว่างมอเตอร์ขับเพลากับจานเฟืองน้อยเกินไป ไม่มีอุปกรณ์หยุดบันไดเลื่อน เมื่อแผ่นปิดครอบห้องเครื่องถูกเปิดออก

ตัวอย่างบันไดเลื่อนที่ศูนย์การค้าแห่งหนึ่งในประเทศไทย เปิดใช้งานมากว่า 20 ปี มีมาตรฐานการออกแบบและความปลอดภัยคือ
• แผ่นปิดห้องเครื่องมี 3 ชิ้นเหมือนบันไดเลื่อนทั่วไป
• น็อตถูกยึดแน่นทุกจุด
• เมื่อทำการเปิดแผ่นปิดชิ้นที่สองออก มีกลไกเป็นบานพับ และล็อคให้แผ่นปิดค้างด้วยวิธีกล ทำให้โอกาสจะเกิดเหตุการณ์แผ่นปิดหลุดลงไปที่บ่อบันไดเลื่อนเป็นไปไม่ได้ จึงไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์หยุดบันไดเลื่อนเมื่อแผ่นปิดถูกเปิดออก
• มีช่องว่างเตรียมไว้อย่างเพียงพอสำหรับการบำรุงรักษา
• มีแผ่นกั้นชุดขับบันไดเลื่อน ป้องกันมิให้เครื่องจักรสัมผัสร่างกายคน
• ไม่มีกุญแจเปิด ปิดบันไดเลื่อนให้ทำงานหรือหยุดทำงาน
• มีข้อแนะนำการใช้บันไดเลื่อน
• มีการบำรุงรักษาเดือนละหนึ่งครั้ง

กรณีอุบัติเหตุจากบันไดเลื่อนที่ห้างย่านถนนวงศ์สว่าง กรุงเทพฯ
ข้อสังเกตจากข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ และรูปจากสื่อ
1. ขั้นบันไดเลื่อนเกิดการเคลื่อนที่ออกจากรางบังคับ แล้วดันให้ขั้นบันไดอื่น ๆ หลุดจากรางไปด้วย และแผ่นปิดข้างบันไดเลื่อนชำรุดเสียหาย
2. บันไดเลื่อนหยุดทำงานด้วยอุปกรณ์ความปลอดภัยของบันได
3. พบเหรียญหลายอันที่บ่อบันไดเลื่อน สันนิษฐานว่าเป็นเหตุให้ล้อขั้นบันไดหลุดจากราง และเกิดความเสียหายตามมา
4. ช่องว่างระหว่างบันไดมากกว่าปกติ ทำให้สิ่งแปลกปลอมหล่นลงที่ช่องได้ง่าย
ข้อแนะนำ
• ให้แก้ไข และซ่อมแซมส่วนที่ชำรุด
• ให้วิศวกรตรวจสอบและรับรองก่อนการใช้งาน

นายประสิทธิ์ เหมวราพรชัย กรรมการอำนวยการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวถึงในด้านผู้ใช้บันไดเลื่อนต้องปฏิบัติตามกฎแห่งความปลอดภัย เช่น ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงขึ้นบันไดเลื่อนเอง เจ้าของควรอุ้มไว้, ในกรณีมีเด็กเล็กควรให้อยู่ด้านหน้าของผู้ใหญ่, หลีกเลี่ยงการขนสัมภาระขนาดใหญ่ และมีน้ำหนักมากทางบันไดเลื่อน, ห้ามใช้เท้าแหย่บริเวณช่องข้างบันไดเลื่อน และห้ามปีนป่าย หรือยื่นส่วนของร่างกายออกนอกแนวบันไดเลื่อน

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ มี 4 ข้อเสนอแนะเพื่อประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของบันไดเลื่อน ดังนี้
1. ในการพิจารณาจัดซื้อบันไดเลื่อน ควรพิจารณาจากมาตรฐานสากลและความปลอดภัยโดยปรึกษาวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ
2. ผู้ดูแลรักษาอุปกรณ์ควรดูแลอุปกรณ์ให้ตรงตามคู่มือการใช้งานซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแต่ละรุ่น โดยจะให้ตรวจสอบ
ทุก 1 เดือน, 3 เดือน, 6 เดือน หรือทุก ๆ 1 ปี เช่นทุก 3 เดือน ต้องตรวจสอบ กระแสไฟ น้ำมันหล่อลื่น ปรับความตึงที่หย่อนของโซ่ การตรวจสอบสิ่งที่แปลกปลอมที่ตกลงไปในบันไดเลื่อนควรตรวจสอบทุกเดือน และการตรวจสอบประจำปีจะตรวจสอบในเรื่องการสึกหรอของอุปกรณ์ เช่น ความหลวมของสปริง, ความตึงของโซ่ และกระแสไฟ เป็นต้น หากมีการสึกหรอก็ควรต้องเปลี่ยน
3. ประชาชนผู้ใช้บันไดเลื่อนใช้อย่างถูกต้องตามหลักความปลอดภัย และควรให้ความรู้แก่ประชาชน เกี่ยวกับการใช้ปุ่มฉุกเฉินเพื่อหยุดบันไดเลื่อนขณะเกิดเหตุ
4. บังคับใช้กฏหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มโทษให้ผู้ร่วมรับผิดชอบต่อชีวิตและทรัพย์สินที่เสียหาย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการลดค่าใช้จ่ายและความละเลยต่อการบำรุงรักษาอย่างมีคุณภาพตามหลักสากล

————————-
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
PR AGENCY : บ.เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (BrainAsia Communication)
Tel. : ประภาพรรณ 081-899-3599 พันธ์นิฉาย 086-341-6567 E-mail: brainasiapr@hotmail.com