องค์การอนามัยโลกและองค์กรสุขภาพทั่วโลก เผยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ช่วงโควิด-19 ทำได้ แต่ต้องควบคุมให้ดี – ย้ำการป้องกันสำคัญที่สุด
มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เผยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรสุขภาพต่างๆ ทั่วโลก ยังไม่พบหลักฐานว่าแม่ที่ติดเชื้อโคโรนาไวรัสสามารถแพร่เชื้อไวรัสผ่านรกหรือน้ำนมสู่ลูกได้ โดยแม่ยังคงสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ทั้งในแม่ที่อยู่ในข่ายสงสัยและแม่ที่ติดเชื้อแล้ว แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการป้องกันอย่างเคร่งครัดในการสัมผัสหรือได้รับละอองฝอย (Droplet) คือ การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ และย้ำว่า Social Distancing เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ด้านมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยฝากไว้ 3 เตรียมสำหรับสตรีมีครรภ์ คือ เตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมคู่หู
พญ. ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในวันนี้ COVID-19 ได้แพร่ไปใน 202 ประเทศทั่วโลก (องค์การอนามัยโลก – 28 มีนาคม 2563) ด้วยจำนวนผู้ป่วยราว 512,701 ราย มีอัตราการเสียชีวิตล่าสุด ประมาณ 3-4 % แต่พบว่าอัตราการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตในหญิงมีครรภ์ ในทารกและเด็กเล็กอยู่ในระดับต่ำมาก เมื่อเทียบกับผู้สูงวัยและหรือผู้มีปัญหาสุขภาพอยู่แล้ว
ปัญหาการติดเชื้อ COVID 19 ยังเป็นโรคกลุ่มอุบัติใหม่ ที่เกิดขึ้นเพียง 4 เดือน ซึ่งเรายังมีความรู้เกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้น้อยมาก ยังต้องติดตามและศึกษาวิจัยต่อเนื่อง ข้อมูลเบื้องต้นจากการแพทย์ทั่วโลกจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลว่าการติดเชื้อในแม่จะว่าส่งผลอย่างไรกับทารกในระยะ 3 – 6 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ มีข้อมูลเฉพาะแม่ติดเชื้อและมีอาการในระยะ 3 เดือนสุดท้ายก่อนคลอด โดยรายงานจากประเทศจีนในช่วงแรกๆของการระบาด แม้แม่มีอาการมาก แต่ทารกไม่มีการติดเชื้อจากในครรภ์ ล่าสุด* มีรายงาน ทารกแรกเกิด 33 ราย ที่คลอดจากแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัส COVID 19 ในโรงพยาบาลเมื่องอูฮั่น มีทารก 3 คน พบมีเชื้อ COVID 19 ในตัวลูก แต่ไม่พบเชื้อใน น้ำคร่ำ เลือดจากสายสะดือ และในน้ำนมแม่ ทารกทั้ง 3 รายมีอาการไม่รุนแรง จากข้อมูลดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า การติดเชื้อในลูกน่าจะ
เป็นการติดเชื้อจากการปนเปื้อนสัมผัสเชื้อหลังเกิด ไม่ใช่จากการติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์ (Vertical Transmission) ดังนั้น การป้องกันหญิงตั้งครรภ์จากการสัมผัสเชื้อจึงมีความสำคัญอย่างมาก
แม่ลูกอ่อนที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ยังสามารถให้นมแม่ได้หรือไม่ พญ. ศิริพร กล่าวว่า “ทางมูลนิธิศูนย์นมแม่ได้ติดตามข้อมูลทางวิชาการและผลการศึกษาทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด โดย ณ ปัจจุบัน กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขให้คำแนะนำกับแม่ ทั้งที่อยู่ในข่ายสงสัยและที่ติดเชื้อแล้ว ทั้งที่ไม่มีอาการและมีอาการ ที่ยังคงให้ลูกกินนมแม่ได้ โดยต้องปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการแพร่กระจายทางละอองฝอย(Droplet Precaution) อย่างเคร่งครัด ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของ องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ สหรัฐอเมริกา (CDC) และสมาคมผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่างๆ ซึ่งยังเน้นว่า การเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันให้แม่สามารถให้นมแม่ลูกได้ ด้วยความสำคัญของคุณค่าน้ำนมแม่ ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกในระยะที่ลูกยังอ่อนเยาว์ การเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกในระยะที่สมองกำลังจะเติบโตอย่างรวดเร็ว และผลดีต่างๆต่อสุขภาพกาย ใจ ของแม่และลูก จึงยังควรช่วยให้แม่สามารถให้นมแม่ได้ แต่ทุกแห่งก็ย้ำว่าต้องทำตามข้อปฏิบัติเพื่อการป้องกันที่จำเป็นทั้งหมด และควรอยู่ภายใต้ดุลพินิจของแพทย์ผู้ดูแลหรือผู้เชี่ยวชาญด้วย”
ศ.คลินิก พญ. ศิราภรณ์ สวัสดิวร เลขาธิการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ข้อมูล ณ วันนี้ทั้งโลกยังยืนยัน ไม่ปรากฎว่ามีการถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกได้ การให้นมแม่ต้องให้พร้อมการป้องกันการติดเชื้อจากการสัมผัส การติดเชื้อของลูกจากการสัมผัสลูกก็อาการไม่รุนแรง และการติดเชื้อในแม่จะมีผลต่อทารกในครรภ์ในระยะ 3-6 เดือนในท้องหรือไม่เพราะทารกกลุ่มนี้ยังไม่คลอด เราคงไม่อยากให้ แม่และลูกต้องอยู่ในสถานการณ์การติดเชื้อ ที่ก็ไม่ง่ายนักในการป้องกันให้ได้ผล เพราะเช่นนี้ จึงขอให้สังคมให้ความสำคัญ ในการช่วยกัน ป้องกันไม่ให้แม่ติดเชื้อตั้งแต่ต้น โดย แม่ตั้งครรภ์ในทุกระยะ ควรหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการรับเชื้อให้มากที่สุด
กลุ่มสตรีมีครรภ์โดยทั่วไป
* เตรียมตัว
1. เมื่ออยู่ในบ้าน
1.1 ฝึกการใช้ อุปกรณ์ของใช้ ส่วนตัว เช่น แก้วน้ำ จานชาม ช้อน
1.2 ฝึกซ้อม ถ้าจะไอจาม มีผ้าเช็ดหน้า หรือกระดาษทิสชู ปิดปากทันที หรือใช้ด้านในข้อศอกพับกัน
1.2 ทานอาหารที่มีประโยชน์สำหรับสตรีมีครรภ์และการสร้างภูมิคุ้มกัน ปรุงสุกร้อนและใช้ช้อนกลาง
ให้ความสำคัญการได้รับผักผลไม้สดสะอาด ปลอดสารพิษ และได้รับน้ำสะอาดอย่าง
เพียงพอ รวมทั้งวิตามิน ยาบำรุงครรภ์ที่ได้รับจากการฝากครรภ์
1.3 นอนหลับพักผ่อน ออกกำลังกายตามความเหมาะสมของอายุครรภ์
1.4 ฝึกใช้ online ในการสืบค้นหาข้อมูล สถานการณ์ ความรู้เรื่องนมแม่ การเลี้ยงดูลูก จากแหล่งที่เชื่อถือได้ โดยความตระหนักไม่ตระหนกกลัว
1.5 เตรียมวิธีติดต่อ แหล่งปรึกษาการให้นมแม่ทั้งในระยะท้องและหลังคลอด เช่น คลินิกนมแม่ ทั่วประเทศ ศูนย์บริการการดูแลทารกและเด็กเล็กที่เชื่อถือได้ ไม่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์แฝง
2.เมื่อจำเป็นต้องออกนอกบ้าน เช่น ไปทำงาน หรือไปพบสูตินารีแพทย์ตามนัด
2.1 หลีกเลี่ยงพื้นที่คนแออัด ไม่เดินทางไปที่มีแหล่งโรค
2.2 ถ้าต้องไปในพื้นที่คนแออัด เช่นใน โรงพยาบาล ในลิฟท์ ตลาด ให้สวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือถ้ามีการสัมผัสพื้นผิวสาธารณะทั่วไป
2.3 ถ้าจะใส่หน้ากาก ใช้หน้ากากผ้า หรือ หน้ากากอนามัยก็ได้ ตั้งใจไม่ใช้มือแตะจับ หน้ากาก (การใช้แผ่นพลาสติกใสครอบห่าง แบบหมวกกันแดด จะช่วยลดการเผลอเอามือจับหน้ากาก)
2.4 พยายามเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 2 เมตร
2.5 เตรียมที่ทิ้ง ผ้าเช็ดหน้า กระดาษทิสชู หน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย ให้ถูกสุขลักษณะ
*เตรียมใจ
ในช่วงเวลา ช่วยชาติ หยุดอยู่บ้าน หยุดเชื้อ
1. สังเกตุอาการร่างกายที่บ่งบอกถึงความเครียด เช่น โรคกระเพาะ ลำไส้แปรปรวน
2. ลงมือทำงานอดิเรกหรือกิจกรรมผ่อนคลาย
3 ติดต่อเพื่อน พี่น้อง หรือที่ปรึกษาสุขภาพ สม่ำเสมอ ใช้ online
*เตรียมคู่หู
1. เตรียมหาผู้ช่วยเลี้ยงดูทารก ที่พร้อมในการช่วยดูแลลูก เผื่อกรณีฉุกเฉินติดเชื้อ
2. ชวนสามีร่วมเรียนรู้ หรืออบรมความรู้นมแม่สำหรับลูกจากแหล่งที่เชื่อถือได้ โดยอาจเป็น
line กลุ่ม การศึกษา online ผ่าน application ต่างๆทั้งไทยและต่างประเทศ ในไทยเช่น 9 ย่างเพื่อสร้าง
ลูก ขององค์การยูนิเซฟ คลินิกนมแม่ทั่วประเทศสามารถให้คำแนะนำได้
3. ติดต่อคุณแม่บัดดี้นมแม่เพื่อร่วมทีมให้นมแม่
พญ. ศิราภรณ์ กล่าวเสริมว่า “กรณีที่แม่ติดเชื้อไวรัสและมีอาการไม่มาก หรืออยู่ในระยะเฝ้าระวัง และต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะให้นมแม่จากเต้า หรือการบีบน้ำนมให้ลูก คงต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางครอบครัว ดุลพินิจของแพทย์และการตัดสินใจร่วมกันของแม่ โดยทางองค์กรอนามัยโลก ไม่ได้ส่งเสริมการแยกแม่ลูกออกจากกันโดยเด็ดขาด ถ้าจำเป็นก็ต้องแยก หรือถ้าทำไม่ได้ก็ให้อยู่ห่างกันอย่างน้อย 2 เมตร แต่เน้นย้ำว่าแม่ต้องรู้จักวิธีการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อที่ถูกต้องและทำอย่างเข้มงวด คือ ก่อนจะให้นมลูก ต้องล้างมือและสวมหน้ากากอนามัยป้องกันเชื้อจากแม่ไปสู่ลูก ไม่เอามือไปจับหน้ากากหรือใบหน้า จัดการทำความสะอาดผิวสัมผัสใด ๆ ให้บ่อยครั้ง ควรพกผ้าเช็ดหน้า หรือกระดาษทิชชูพร้อมปิดปากเสมอถ้าจะจาม มีระบบการทิ้ง การทำลายเชื้อให้มีความคล่องตัว ถ้าต้องการแยกลูก ให้แม่บีบนมให้ผู้ช่วยดูแลนำนมป้อนลูก จนพ้นระยะเฝ้าระวังหรือหายเป็นปกติ”
กรณีแม่ติดเชื้อและมีอาการมาก จำเป็นต้องแยกแม่และลูก ถ้าแม่ยังสามารถบีบน้ำนม ให้ได้ ก็ควรให้บีบน้ำนมหรือการใช้เครื่องปั๊มนมช่วยบีบน้ำนมและให้ผู้ดูแลเด็กป้อนให้ลูก โดยปฏิบัติตามวิธีป้องกันการติดเชื้อแบบเดียวกัน นอกจากลูกจะได้รับนมแม่ ยังช่วยให้แม่ยังคงสภาพในการให้นมแม่กับลูกได้เมื่อหายแล้ว อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์พยาบาลผู้ดูแลเพื่อเรียนรู้วิธีการปฏิบัติและป้องกันที่ถูกต้องและตัดสินใจร่วมกับแพทย์ในการเลือกแนวทางการให้นมบุตรที่เหมาะสม และแม่ควรหมั่นติดตามสถานการณ์เพื่อทำความเข้าใจในการป้องกันและรักษาโรค เพราะโรคนี้มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลอยู่ตลอดเวลา
มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ยินดีให้คำปรึกษา แม่ที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์หรือระยะให้นมบุตร ที่สงสัยหรือมีความกังวลใจในเรื่องการป้องกันโรค การให้นมบุตร และการเลี้ยงดูลูกในระหว่างการติดเชื้อ สามารถติดต่อรับคำแนะนำหรือปรึกษา ผ่านทางเว็บไซต์ www.thaibf.com เฟซบุ๊ค: มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย (@Thaibf) หรือ โทร. โทร.02-354-8404, 094-998-0009, 095-001-8333