มรภ. บ้านสมเด็จเจ้าพระยา จับมือ ธนาคารออมสิน สร้างความเข้มแข็ง 7 ชุมชนด้วย “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น พลัส”
มรภ. บ้านสมเด็จเจ้าพระยา จับมือ ธนาคารออมสิน สร้างความเข้มแข็ง 7 ชุมชนด้วย “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น พลัส”
ผศ.ดร. ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เป็นประธานในพิธีปิดงาน ร่วมกับตัวแทนธนาคารออมสินภาคที่ 1 สำหรับโครงการกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นประจำปี 2562 “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น พลัส” โดยมีกิจกรรมแสดงผลงานและสินค้าที่ได้รับคำแนะนำและพัฒนาขึ้นด้วยความร่วมมือของคณาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โครงการความร่วมมือกับธนาคารออมสิน “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น พลัส” ในครั้งนี้ เป็นไปตามหลักนโยบายของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ที่น้อมนำพระราโชบายในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในการมีส่วนร่วมสร้างความมั่นคงของชาติ ตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นระยะ 20 ปี ด้วยการยกระดับคุณภาพการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นในท้องที่ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาท้องถิ่น ด้วยการร่วมมือกับธนาคารออมสิน จัดทำโครงการ “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น พลัส” ซึ่งเป็นกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นประจำปี 2562 ให้กับ 7 กลุ่มชุมชน อาทิ
1. กลุ่มอนุรักษ์บาตรไทยและภูมิปัญญาไทย (ชุมชนบ้านบาตร) เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
2. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า (ชุมชนวิสาหกิจบ้านพักองค์การทอผ้า) เขตดุสิต
3. กลุ่มชุมชนแหลมทองนิเวศน์ (ชุมชนบ้านแหลมทองนิเวศน์) เขตดอนเมือง
4. กลุ่มอาชีพชุมชนผ้าม่านประสานมิตร (ชุมชนประสานมิตร) เขตธนบุรี
5. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนประสานมิตร (กลุ่มชาใบหม่อน) (วิสาหกิจชุมชนประสานมิตร กลุ่มชาใบหม่อน) เขตธนบุรี
6. กลุ่มสบู่สมุนไพร (สภาองค์กรชุมชน เขตธนบุรี) เขตธนบุรี
7. กลุ่มกัลยาผ้ามัดย้อม (ชุมชนกลุ่มแม่บ้านวัดใหญ่ศรีสุพรรณ) เขตธนบุรี
โดยการจัดกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการบูรณาการภูมิปัญญาเข้ากับวิทยาการสมัยใหม่ โดยมีคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อสร้างกระบวนการในการเสริมสร้างและพัฒนาเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการประกอบการของกลุ่มชุมชนที่รวมตัวกันสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการให้มีศักยภาพ มีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นการเสริมความมั่นคงในอาชีพและรายได้ อีกทั้งมีกิจกรรมเสริมความรู้ทางด้านการทำบัญชีรายรับ-จ่าย อันจะส่งผลให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีวินัยทางการเงินและศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ในขณะเดียวกันนักศึกษาของมหาวิทยาลัย จะเกิดการเรียนรู้ เข้าใจในวิถีชีวิต เอกลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาไทยและทรัพยากรอันมีค่าเพื่อจะช่วยกันจรรโลงรักษาให้อยู่คู่สังคมไทยสืบต่อไป