ดีป้า จัด “Digital Thailand Big Bang Regional 2018 : Chiang Mai”
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa:ดีป้า) เดินหน้าสร้างความตระหนักและขยายโอกาสในการเข้าถึงดิจิทัลอย่างเท่าเทียมกันให้กับประชาชนในภูมิภาค จัดงาน “Digital Big Bang Regional 2018” ครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิด Digital Transformation Thailand : โลกเปิด เราปรับ ประเทศเปลี่ยน” ที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 20-22 กรกฎาคม 2561 ณ เซ็นทรัลพลาซา แอร์พอร์ต เชียงใหม่ โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธาน
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีที่เยาวชน ประชาชน และทุกภาคส่วนในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงในภาคเหนือ ได้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้โลกดิจิทัลในมุมมองที่หลากหลาย เพื่อพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล โดยรูปแบบของงานจะเป็นการประชุม สัมมนา และ Workshop โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายวงการ มีกิจกรรมพิเศษ และนิทรรศการให้ความรู้และนำเสนอภาพรวมของการพัฒนาประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
ภายในงานมีการแสดงนวัตกรรมชั้นนำที่น่าตื่นตาตื่นใจ อาทิ VR จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี, การนำเสนอสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมด้านความฉลาดเชิงการคำนวณ วิศวกรรมชีวการแพทย์และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เช่น เครื่องตรวจจับการล้ม, เครื่องวัดหัวเอียงแบบ 360 องศา , หูฟังอัจฉริยะ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ รวมทั้งการแสดงแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีดิจิทัลจากทุกภาคส่วนที่จะรองรับไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่มีความน่าสนใจและเป็นเรื่องใกล้ตัว อาทิ ‘เชียงใหม่ ไอ เลิฟ ยู’ แพลตฟอร์มสมาร์ทซิตี้ท่องเที่ยว เป็นแพลตฟอร์มที่จะช่วยนักท่องเที่ยวในการค้นหาเส้นทางท่องเที่ยงด้วยตนเอง โดยตัวแพลตฟอร์มนี้ ก็จะบอกเส้นทาง วิธีการเดินทาง รวมไปถึงการแนะนำร้านค้า โรงแรม สถานที่สำคัญที่น่าสนใจต่างๆ ผ่านการปักหมุดจากผู้ประกอบการในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปปักหมุด สร้างเส้นทาง (Routing) ด้วยตัวเอง สามารถใส่ภาพ คลิปวิดีโอ หรือข้อความแนะนำ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนั้นๆ ได้ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วม และสัมผัสประสบการณ์ในการท่องเที่ยวเชียงใหม่ด้วยรูปแบบที่เหมาะกับชีวิตดิจิตอลอย่างแท้จริง, ระบบ Smart Agriculture เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้สำหรับทำนายการเพาะปลูกและการเกษตร หรือที่เรียกว่า Smart farming เริ่มตั้งแต่การสำรวจพื้นที่ต่างๆ โดยจะรู้ได้ทันทีว่าพื้นที่ไหนเหมาะสมจะปลูกอะไร สภาพตรงนี้เป็นเช่นไร จากนั้นการทำเกษตรก็จะมีการคำนวณสภาพดิน น้ำ การให้อาหาร สภาพอากาศ การควบคุมโรค ซึ่งข้อดีของการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ในการเกษตรคือช่วยในเรื่องของการคำนวณผลผลิตที่จะออกมาได้, ‘Agtech innovation forum’ อุปกรณ์จ่ายน้ำเพื่อการเกษตรแบบแม่นยำ เป็นระบบอุปกรณ์ตรวจวัดค่าปริมาณความชื้นในดินและระบบควบคุมการจ่ายน้ำแม่นยำอัตโนมัติ ผ่านแอพพลิเคชั่นในระบบแอนดรอยด์ที่สามารถแสดงค่าปริมาณความความชื้นในแปลงเพาะปลูก สถานะของการทำงานของวาล์วน้ำ/ปั่นน้ำและส่งข้อมูลสู่เครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ ซึ่งข้อดีของอุปกรณ์นี้คือราคาถูก ทำงานแม่นยำ เป็นอุปกรณ์ IoT ไร้สาย มีขนาดเล็กติดตั้งง่าย ทนต่อการใช้งานในพื้นที่กลางแจ้งในทุกสภาพภูมิประเทศ
นายสราวุฒิ ไชยชนะ หนึ่งในสมาชิกชมรม Chiang Mai Maker Club กล่าวถึงชิ้นงานที่เหมาะกับการพัฒนาทักษะความสามารถของน้องๆ เยาวชน อาทิ “บอร์ด KidBright Drone” บอร์ดสมองกลฝังตัวที่สามารถทำงานตามชุดคำสั่งผ่านโปรแกรม KidBright ซึ่งทางชมรมฯ ของเราได้รับมา จึงนำมาพัฒนาทำเป็นโดรน เพื่อให้เด็กๆ ที่มีความสนใจได้ทดลองทดสอบก่อน ซึ่งเด็กๆ สามารถหัดเขียนโปรแกรมได้เอง หรือสามารถพัฒนาแอบพลิเคชั่นและเทคโนโลยีด้วยตนเองในอนาคตได้ หรือ ‘หุ่น Balancing Robot’ ที่ทางชมรมฯ ทำขึ้น เพื่อให้น้องๆ ได้เรียนรู้หัดเขียนโปรแกรมเลี้ยงสมดุลของหุ่นยนต์ เคลื่อนที่ไปข้างหน้า, ถอยหลัง และเลี้ยวซ้าย-ขวา หลักการของมันคือจะช่วยในการทรงตัวตลอดเวลานะครับ พอเราทำตัวนี้เสร็จเราก็จะไปพัฒนาทำตัวที่ใหญ่ขึ้นได้ครับ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ และกระตุ้นความอยากรู้และเรียนในระดับต่อไป
นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมที่สร้างความสนุกสนาน สร้างสีสันให้กับงานนี้ด้วย นั่นคือการแสดงหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร ของเจ้าของร้านก๋วยจั๊บไฮเทค, การประกวด Cosplay Game ที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานอย่างมาก และการแข่งขันเกมส์ออนไลน์ ‘Aqua Republica International Serious Game Competition 2018’ สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ซึ่งผู้เล่นต้องใช้การวางแผนเชิงกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาแบบบูรณาการเพื่อควบคุม จัดการกับปัญหาวิกฤตการณ์ปัญหาน้ำของโลก นับเป็นการฝึกฝนทักษะในการคิดตัดสินใจและการวางแผนเชิงกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ สอดรับยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพคนด้วยดิจิทัล เช่นเดียวกับห้องเรียนออนไลน์ หรือ โครงการ Coding Thailand ที่ทาง depa กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยจุดประกายเด็กเข้าสู่โลกดิจิทัล
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่าหลังจากนี้ กระทรวง DE โดย depa จะเดินหน้าจัดงาน Digital Thailand Big Bang Regional 2018 ต่อในอีก 2 ภูมิภาค ในวันที่ 17-19 สิงหาคม 2561 ณ เซ็นทรัลพลาซา ระยอง จ.ระยอง และวันที่ 24-26 สิงหาคม 2561 ณ เซ็นทรัล เฟสติวัล หาดใหญ่ จ.สงขลา ก่อนจะไปปิดท้ายงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ ในงาน Digital Thailand Big Bang 2018 : Big Data ระหว่างวันที่ 19-23 กันยายนที่จะถึงนี้ที่ อิมแพค เมืองทองธานี