คว้าแชมป์ Best Innovation Awards 2017 ในงาน KMITL Engineering Project Day
หลากสีสันจากไอเดียสร้างสรรค์และเทคโนโลยีสู่อนาคตไทยแลนด์ 4.0 ในงาน “KMITL Engineering Project Day 2017” ตื่นตากับ 500 นวัตกรรมจากเมคเกอร์นักประดิษฐ์คนรุ่นใหม่ไฟแรง พร้อมเปิดเวทีประกวดสุดยอดนวัตกรรม Best Innovation Awards 2017 จัดโดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ณ หอประชุมเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) สจล.โดยมี ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล. และรศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี พร้อมเชิญผู้ประกอบการและนักธุรกิจอุตสาหกรรมพบปะเมคเกอร์ หนุนแจ้งเกิดสตาร์ทอัพ ป้อนไทยแลนด์ 4.0 รวมพลังประชารัฐสร้างการเปลี่ยนแปลง
ผลการประกวดสุดยอดนวัตกรรม Best Innovation Awards 2017 จากจำนวน 500 ผลงานของเหล่าเมคเกอร์นักศึกษา ซึ่งตอบโจทย์วิถีชีวิต สังคมและเศรษฐกิจยุคอนาคต…ไทยแลนด์ 4.0 นั้น ผู้เข้ารอบ 10 ทีม โดยนำเสนองานเวทีรายละ 15 นาที ประกอบด้วยนำเสนอผลงาน 7นาที และตอบคำถามคณะกรรมการ จากภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และองค์กรต่างๆ 5นาที ผลการตัดสิน มีดังนี้
รางวัลเหรียญทอง แชมป์ชนะเลิศ คือ GYRO GO เครื่องลดอาการมือสั่นของผู้ป่วยพาร์คินสัน ผลงานของ นายณชล แป้นคุ้มญาติ และ นายวสันต์ ปิ่นณรงค์ จากหลักสูตรวิศวกรรมชีวการแพทย์ สจล. กล่าวว่า “ผู้ป่วยโรคพาร์คินสันทั่วโลก มีจำนวนประมาณ 5 ล้านคน ปัจจุบันการรักษาโรคพาร์กินสันยังเป็นการรักษาผู้ป่วยเพื่อประคับประคองอาการ และยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เราได้พัฒนา GYRO GO ให้เป็นอุปกรณ์ลดแรงสั่นของมือซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและใช้ชีวิตตามปกติช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้น อุปกรณ์มี 2 ชิ้น คือ Control Unit ส่วนคาดเอว และไจโรมอเตอร์สำหรับคาดที่ข้อมือ เราใช้ศาสตร์ของกฏการอนุรักษ์โมเมนตั้มเชิงมุม (Angular Momentum) ซึ่งจะต่อต้านการเคลื่อนไหว การสั่นของมือผู้ป่วยมี 3 แกน คือ ซ้ายไปขวา, บน-ล่าง และหน้า-หลัง GYRO GO สามารถลดแรงสั่นของมือได้ดีในแกนซ้าย-ขวาแล้ว และสามารถส่งสัญญานการสั่นไปยังแพทย์ หรือโรงพยาบาลผ่านบลูทูธสำหรับเป็นข้อมูลในการวินิจฉัย ในการพัฒนาขั้นที่ 2 จะนำระบบ AI อัตโนมัติมาใช้ร่วมด้วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและลดการสั่น ในอีก 2 แกน
รางวัลเหรียญเงิน คือ SMART CLEANER WITH CO2 DRY ICE ระบบละอองน้ำแข็งแห้งทำความสะอาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลงานของ นายธนพัฒน์ ถาวรวัฒน์สกุล จากหลักสูตรวิศวกรรมเคมี สจล. เขากล่าวว่า “ปัจจุบันอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทำรายได้ให้ประเทศไทย คิดเป็น 20 % ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด การทำความสะอาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มักใช้น้ำยาสารเคมี (Solvent) ซึ่งมีสิ่งตกค้าง ผลงาน Smart Cleaner With CO2 Dry Ice นี้ช่วยยกระดับคุณภาพ ความรวดเร็วและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการทำความสะอาดผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ตอบโจทย์ยุค Industry 4.0 โดยเราได้พัฒนาระบบควบแน่นจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กลายเป็นสถานะของเหลว และจะเปลี่ยนเป็นอนุภาคขนาดเล็กมากเมื่อฉีดทำความสะอาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและมีความละเอียดอ่อนสูงได้อย่างหมดจด มีประสิทธิภาพ ประหยัดพลังงาน และต้นทุนต่ำ โดยไม่ทำให้เกิดความเสียหาย ไม่ทิ้งคราบหรือมลพิษของเสียใดๆ นับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มเสริมคุณภาพมาตรฐานในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย ให้ตอบรับกับดีมานด์ความต้องการของลูกค้าและตลาดการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
รางวัลเหรียญทองแดง มี 8 รางวัล ได้แก่ 1. SMART HELMET หมวกนิรภัยอัจฉริยะ 2. เครื่องแช่อิ่มผลไม้สุญญากาศ 3. Heart Mate & Emotional Monitor ระบบติดตามอารมณ์และเฝ้าระวังสัญญาณชีพ 4. บริการฝากเก็บของอัจฉริยะในศูนย์การค้า 5.. แอพพลิเคชั่นระบุตำแหน่งรถโดยสารประจำทาง 6. เครื่องแปรรูปข้าวเหนียวเป็นข้าวนึ่ง 7. เครื่องทำน้ำอุ่นจากเครืองปรับอากาศ 8. Sheet Pile คิดค้นมาตรฐานสำหรับไซต์ก่อสร้างในชั้นทรายแบบจำลอง
ส่วน ผลการประกวด KMITL Pitching เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ โดยมีเกณฑ์การให้คะแนน ดังนี้ ความคิดสร้างสรรค์ 30 %วิธีการนำเสนอผลงาน 30 % ความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ 30%ประโยชน์และคุณค่าต่อสังคม 10%และโครงการนี้มีเงินรางวัลรวม 100,000 บาท ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ ผลงาน I Get Dorm, รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ผลงาน HYDROTEC และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ผลงาน ตลาดออนไลน์ ขายผัก