ค้นพบ “มหัศจรรย์การอ่านฯ” 10 -11 ก.พ.นี้เติมอาหารสมองเด็กปฐมวัย ร่วมสร้างสังคมการอ่าน
ค้นพบ “มหัศจรรย์การอ่านฯ” 10 -11 ก.พ.นี้เติมอาหารสมองเด็กปฐมวัย ร่วมสร้างสังคมการอ่าน
งานวิจัยหลายชิ้นการันตีว่า การสร้างพฤติกรรม “การอ่าน” จนกลายเป็นวิถีและวัฒนธรรม ถือเป็นการวางรากฐานอย่างเหมาะสม และดีที่สุดต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัย (0-6 ปี) เพราะโครงสร้างต่างๆของสมองกำลังพัฒนาสูงสุดถึง 80 % อีกทั้งการอ่านไม่ได้ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านใดด้านหนึ่ง แต่เรียกได้ว่าส่งผลดีต่อเด็กในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ การสื่อสาร จิตใจ สติปัญญา แถมยังช่วยสร้างความสุข เสมือนโซ่ทองคล้องใจสานความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก บุคคลในครอบครัวได้เป็นอย่างดี
หน่วยงานที่เล็งเห็นความสำคัญเรื่อง “การสร้างวัฒนธรรมการอ่าน” ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย อย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ร่วมกับ แผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ.2560-2564:กรมส่งเสริมวัฒนธรรม พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน รวมทั้งหมด 27 แห่ง แก้ปัญหาวิกฤตพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็กปฐมวัย(0-6 ปี) ร่วมมือนำการอ่านเข้ามาช่วยในการแก้ปัญหาและยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ภายใต้งานมหกรรมการอ่านแห่งชาติ “มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัย” จะจัดขึ้นในวันที่ 10-11 ก.พ. 2561 เวลา 9.00-16.00 น. ณ แอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ มักกะสัน
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักงานสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า จากวิกฤตพัฒนาการของเด็กปฐมวัย(0-6 ปี) ที่สำรวจโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า พัฒนาการล่าช้าโดยรวมร้อยละ 30 และพัฒนาการทางด้านภาษาล่าช้าสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุดปี 2557 เฉลี่ยร้อยละ 38.2 ส่งผลเสียต่อการพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ อาทิ การสื่อสาร การพัฒนาด้านอารมณ์ สังคม ดังนั้น กิจกรรม มหกรรมการอ่านแห่งชาติ “มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัย” เป็นเวทีแห่งการเรียนรู้ที่จะช่วยพ่อแม่ ครู ได้คัดเลือกหนังสือเด็กให้ลูกๆ และนักเรียนได้อ่าน ขณะเดียวจะได้เห็นเทคนิคการอ่าน การส่งเสริมการอ่านมากมาย โดยเฉพาะการเล่านิทาน การอ่านในครอบครัว
นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กรรมการและเลขานุการร่วมคณะกรรมการบูรณาการการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ กล่าวว่าสำหรับร่างแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ.2560-2564 โดยร่างแผนแม่บทดังกล่าว จะเป็นการการส่งเสริมการอ่าน ให้คนไทยมีนิสัย มีวัฒนธรรมการอ่านแก่ประชาชนทุกช่วงวัน ซึ่งจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ขณะนี้ คนไทยอ่านหนังสือประมาณ 66 นาทีต่อวัน แต่ยังน้อยอยู่เมื่อเทียบกันประเทศอาเซียน โดยการจัดอันดับการอ่านของคนไทย อยู่ที่อันดับ 7 ของประเทศอาเซียน ฉะนั้น แผนดังกล่าว วางเป้าหมายภายใน 5 ปี หรือปี 2564คนไทยจะต้องใช้เวลาในการอ่านหนังสือที่มีคุณภาพมากขึ้นเฉลี่ย 90 นาที ต่อวัน รวมถึงมีการกำหนดยุทธศาสตร์สำคัญ 4 ประเด็น ในการผลักดัน เรื่องนี้ คือ 1.ปลูกสร้างพฤติกรรมรักการอ่าน 2.อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสื่อการอ่านของประชาชน 3. ยกระดับคุณภาพแหล่งเรียนรู้และสื่อ และ 4.สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมวัฒนธรรม
การอ่านตั้งแต่เยาว์วัย เป็นรากฐานสำคัญของการแสวงหาความรู้และสร้างเสริมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ตลอดชีวิต รวมถึงสร้างเสริมสุขภาพในทุกๆ มิติ พญ.ชมพูนุท โตโพธิ์ไทย แพทย์ชำนาญการ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาล ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย ทั้งหมดมาทำงานบูรณาการร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ในการกำหนดทิศทางในการพัฒนาเด็กปฐมวัย การวางเป้าหมายอย่างชัดเจน ซึ่งการอ่าน ถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการช่วยพัฒนาเด็กได้ จึงมีการส่งเสริมการอ่าน มีการคัดเลือกดีๆ หนังสือแนะนำแก่เด็ก เช่น การคัดสรรนิทาน ช่วยเน้นพัฒนาเด็ก 4 ด้าน ได้แก่ ด้านสติปัญญา ด้านสุขภาพ ด้านจิตใจวัฒนธรรม คุณธรรม และด้านทักษะความสามารถต่างๆ เพื่อให้เด็กก้าวสู่การพัฒนาประเทศไทย 4.0
ปิดท้ายด้วยคุณแม่แอม นางชลธิชา อัศวาณิชย์ พิธีกรและคุณแม่อดีตนางงานผู้เลี้ยงลูกวัย 3 ขวบ ด้วยหนังสือ กล่าวว่า ยุคนี้สื่อต่างๆ เข้าถึงเด็กได้ง่ายมาก ทำให้ทุกอย่างรอบๆ ตัวเด็ก หมุนเร็วไปหมด แม่ไม่อยากให้ลูกต้องเร่งรีบตามทุกสิ่ง และมองหาวิธีที่จะทำให้ลูกอยู่กับเรานานที่สุด มีความสามารถในการอยู่กับตัวเองได้ พบว่า อ่านหนังสือช่วยลูกได้ จึงใช้หลักในการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ และจากการทำงานด้านพิธีกร ผู้ประกาศ ทำให้เข้าใจว่าทักษะความเข้าใจ การเรียนรู้ต่อยอดล้วนเกิดจากพื้นฐานมาจากการอ่าน หากมีวิธีอ่านที่ดีจะก่อให้เกิดการวิเคราะห์สังเคราะห์อย่างเหมาะสม หนังสือที่ให้ลูกดูหรืออ่านให้ลูกฟัง เช่น หนังสือภาพที่มีรูปภาพใหญ่ๆ สีสันสดใส เป็นสิ่งที่เรียกความสนใจจากลูกได้เป็นอย่างดี และการอ่านไม่จำเป็นต้องเป็นการอ่านจากหนังสือเพียงอย่าง อาจจะอ่านจากข้อความต่างๆ แต่ต้องเป็นการอ่านตัวหนังสือ ให้เด็กจดจำตัวอักษร ตัวหนังสือได้ หนังสือเป็นสิ่งสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างเราและลูกได้อย่างมาก ได้นอนอ่านหนังสือกับลูกหรือกอดลูกไว้ ขณะอ่านหนังสือทำให้ลูกได้รับความอบอุ่นจากเรา
อย่างไรก็ตาม คุณสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. และ คุณวรรณพร เพชรประดับ ประธานศูนย์ประสานงานอ่านยกกำลังสุข SMART Reading ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ภายในงานมีโซนจัดแสดงงานที่น่าสนใจ ประกอบด้วย โซนเวทีมหัศจรรย์การอ่าน พบคนดลใจร่วมสร้างมหัศจรรย์แห่งการอ่าน โซนนวัตกรรมชุมชนอ่านยกกำลังสุข โดยเครือข่ายศูนย์ประสานงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านในชุมชนท้องถิ่น พบนวัตกรรม “บ้านอ่านยกกำลังสุข” และโมเดล บ้านสร้างสุขด้วยการอ่านจาก 15 พื้นที่ต้นแบบนำร่องทุกภูมิภาค รวมถึง มีโซน Reading in Wonderland : ดินแดนมหัศจรรย์ด้วยนิทานหลากจินตนาการ ผ่านประตูวิเศษ แห่งดินแดนโลกหนังสือ โซนตลาดนัดนักอ่านสำนักพิมพ์ โซนสานพลังองค์กรร่วมสร้างวัฒนธรรมการอ่าน จัดกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ นิทรรศการและกิจกรรมหนังสือดีเพื่อพัฒนาการEF การขับเคลื่อนจังหวัดแห่งการอ่าน กิจกรรมบ้าน นักเขียน หนังสือเด็ก กิจกรรมหนังสือออกแบบได้ ระดมจิตอาสามาร่วมอ่านหนังสือเสียงให้กับน้องๆ ผู้พิการทางสายตา ฯลฯ อยากรู้จักว่าหนังสือนิทานดีๆ กิจกรรมต่างๆ สนุกสนานอย่างไร อย่าลืมเข้าร่วมงานมหกรรมการอ่านแห่งชาติ : “มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัย” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 9.00 น.- 16.00 น. ณ แอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ มักกะสัน